‘นิด้า’ เปิดศูนย์วิจัยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ NIDA Smart Compact City Center (NIDA S2C°) ณ บริเวณชั้น M อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เพื่อเป็นศูนย์ในการขับเคลื่อน “NIDA Smart City” ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับองค์กร ชุมชนและประเทศ โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านแนวคิด 8 ด้าน
วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2565) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้มีพิธีเปิดศูนย์วิจัยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ NIDA Smart Compact City Center (NIDA S2C°) เพื่อขับเคลื่อน “NIDA Smart City” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิด และได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.วิสาขา ภู่จินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และประธานกรรมการขับเคลื่อนและพัฒนาศูนย์วิจัยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ กล่าวต้อนรับ
ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ จันทร์สุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ NIDA S2C° ได้กล่าวความเป็นมาและรายงานผลงานของศูนย์ในช่วงที่ผ่านมา ว่า NIDA S2C° เริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วง 3-4 ปีที่แล้ว ที่นิด้าได้ขับเคลื่อนการทำ NIDA Smart City จนกระทั่งได้รับรางวัลจากกระทรวงพลังงาน จึงทำให้ NIDA S2C° ยังคงดำเนินการพัฒนาระบบการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์ NIDA S2C° ได้นำแนวคิดเมืองอัจฉริยะมาปรับใช้ภายในสถาบันทั้งหมด 8 มิติ ได้แก่
1. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) การพัฒนาระบบต่าง ๆ เพื่อลดความต้องการพลังงานและการใช้พลังงานสูงสุดรวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
2. การสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งภายในและเชื่อมโยงกับภายนอกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรถขนส่งสาธารณะ เรือโดยสารและรถไฟฟ้าในอนาคต
3. ชุมชนอัจฉริยะ (Smart Community) เป็นการพัฒนาสังคมในอนาคตที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
4. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เป็นการพัฒนาสภาพแวดล้อมโดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
5. อาคารอัจฉริยะ (Smart Building) เป็นการปรับปรุงอาคารตามมาตรฐานอาคารเขียวของ TREES ในระดับ Platinum และการปรับปรุงอาคารให้เป็นอาคารที่มีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building)
6. การบริหารจัดการเมืองแบบอัจฉริยะ (Smart Governance) เป็นการพัฒนาระบบการบริหารจัดการและสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
7. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)
8. นวัตกรรมอัจฉริยะ (Smart Innovation)
โดยการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ผศ.ดร.สราวุธ จันทร์สุวรรณ ผอ.ศูนย์ NIDA S2C° ได้เล่าว่า ได้มีการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ไปแล้ว อาทิ
Smart Energy หรือพลังงานอัจฉริยะ ได้มีการดำเนินการติดตั้ง LED เพื่อลดการใช้พลังงาน บริเวณภายในห้องเรียนและห้องทำงานส่วนของสำนักงานต่าง ๆ ภายในสถาบัน มีการดำเนินการติดตั้ง Solar Cell ณ อาคารราชพฤกษ์ และอาคารมาลัย หุวะนันท์ โดยคาดว่าในอนาคตจะสามารถติดตั้ง Solar Cell ได้ครบทุกอาคารของสถาบัน นอกจากนี้ยังได้มีการติดตั้ง Wind Turbine (กังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า) ขนาดเล็ก บริเวณอาคารมาลัย หุวะนันทน์ เป็นต้น
Smart Mobility นิด้าได้ร่วมกับบริษัท พลังงานมหานคร จำกัด จัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายใต้ชื่อ EV Any Where จำนวน 4 ช่องบริการ บริเวณด้านหน้าอาคารนวมินทราธิราช โครงการติดตั้งระบบ Smart Parking System ตรวจสอบที่จอดรถ เพื่อความปลอดภัยภายในสถาบัน
Smart Building ได้มีการติดตั้งระบบ Face Recognition ระบบ Visitor Management System เพื่อตรวจสอบบุคคลว่ามีสถานะเป็นบุคลากร เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาของสถาบัน หรือมีบุคคลภายนอกแฝงเข้ามาหรือไม่ โครงการ Building Sensor ตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และค่าฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น
สำหรับศูนย์วิจัยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ NIDA Smart Compact City Center (NIDA S2C°) เป็นหน่วยงานภายในสังกัดสำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 3 ศูนย์วิจัยที่มีความเป็นเลิศเฉพาะทาง (NIDA Research Excellence Units) มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ผลิตผลงานวิจัย และขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ มุ่งเน้นการทำวิจัยพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ มีการบูรณาการเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรของเมือง ประยุกต์ใช้ศาสตร์ด้านวิทยาการข้อมูล เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในระดับองค์กร ชุมชน ประเทศชาติ
นอกจากนี้ NIDA S2C° ยังเป็นศูนย์การทดสอบเทคโนโลยีและแนวความคิดการพัฒนาเมือง ก่อนนำไปสู่การปฏิบัติและขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองจริงต่อไป นับเป็นต้นแบบการบริหารจัดการสถาบันการศึกษาอย่างชาญฉลาดหรือ Smart Campus และสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ดูงาน สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ของนักพัฒนาเมืองและชุมชน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นไปตามปรัชญาของสถาบัน Wisdom for Sustainable Development