ปณิธาน วิสัยทัศน์ และพันธกิจ

ปณิธาน วิสัยทัศน์ และพันธกิจ

ที่ประชุมสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในการประชุมสภาสถาบัน ครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบัน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ดังนี้

ปรัชญา

“สร้างปัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
“WISDOM for Sustainable Development”

การสร้าง “ปัญญา”

เป็นเวลากว่า 15 ปีกับปรัชญา WISDOM for Change สร้างปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง สู่ WISDOM for Sustainable Development สร้างปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้มีการเปลี่ยนแปลงปรัชญาครั้งสำคัญ เป็นการ “เปลี่ยน” เพื่อให้เห็นถึงบทบาทของ “นิด้า” ในการเป็นสถาบันที่สรรสร้างปัญญาของสังคมและสร้างผู้นำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่ระดับสากล ด้วย 3 สร้าง 1. “สร้าง” ปัญญาของสังคม แก้และพัฒนาสังคม 2. “สร้าง” ผู้นำสำหรับศตวรรษที่ 21 สู่ผู้นำระดับโลก และ 3. “สร้าง” ประโยชน์ให้กับสังคม

ปณิธาน

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ถือกำเนิดจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) สถาบันจึงน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระราชทานแก่บัณฑิตทั้งหลายในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งแรกของสถาบัน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2513 มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติภารกิจ โดยนำความรู้และคุณธรรม มาสร้างปัญญา สร้างจิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อสังคม ประเทศชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อยกระดับให้เป็นสถาบันการศึกษาของประเทศ ที่มีศักยภาพพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ข้อความตามพระบรมราโชวาท ซึ่งสถาบันน้อมนำมาใช้เป็นปณิธานของสถาบัน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

…ท่านทั้งหลายที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ เป็นผู้ที่เชื่อได้ว่า มีความรู้ความสามารถสูง จึงเป็นที่หวังของคนไทยทั้งชาติ รวมทั้งของข้าพเจ้าด้วย ที่จะได้อาศัยความรู้ความคิด สติปัญญา และความสามารถ ในอันที่จะนำพาประเทศชาติให้ก้าวไปสู่ความมั่นคง และสมบูรณ์พูนสุข ขอให้ท่านรับหน้าที่อันมีเกียรตินี้ด้วยความมั่นใจ ตั้งใจและบริสุทธิ์ใจ แล้วร่วมกันปฏิบัติหน้าที่น้อยใหญ่ให้ลุล่วงไป ด้วยความขยันหมั่นเพียรและด้วยความสุจริต เที่ยงตรง ทั้งต่อตนเองและต่อประชาชน…

พันธกิจ

เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ของสถาบัน จึงกำหนดพันธกิจที่ต้องดำเนินการไว้ ดังต่อไปนี้

  1. สร้างผู้นำที่มีปัญญาคู่คุณธรรมเพื่อพัฒนาประเทศ
  2. สร้างองค์ความรู้ ศึกษาวิจัย ด้านการบริหารการพัฒนา
  3. สร้างงานบริการวิชาการที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศ
  4. สร้างเสริมค่านิยมและจิตสำนึกมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ บนพื้นฐานความเข้มแข็งของศิลปวัฒนธรรมไทย
  5. สร้างเสริมการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล โดยให้คุณค่ากับการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของบุคลากร
  6. สร้างประโยชน์ให้กับสังคมเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

วิสัยทัศน์

“เป็นสถาบันสรรค์สร้างปัญญาของสังคม และสร้างผู้นำ เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในระดับสากล”
จากวิสัยทัศน์ของสถาบันนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวัง 3 ประการ คือ

  1. สร้างปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  2. สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
  3. สร้างคุณประโยชน์ให้ชุมชนและสังคม

ยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบัน และเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์

  1. ยุทธศาสตร์ที่ 1 : สนับสนุนการทำวิจัย การต่อยอดสู่นวัตกรรม และการบริการวิชาการ ที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของสถาบันและประเทศชาติ
  2. ยุทธศาสตร์ที่ 2 : พัฒนาหลักสูตรปริญญาบัตร (Degree Programs) ที่เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Project-based Learning) และการวิเคราะห์ข้อมูลและสารสนเทศอย่างเป็นระบบ (Data Analytics) เพื่อการตัดสินใจ และการบริหาร
  3. ยุทธศาสตร์ที่ 3 : สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) บนพื้นที่การเรียนรู้ และผ่านช่องทางที่หลากหลาย สามารถเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย
  4. ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ขับเคลื่อนการพลิกโฉมด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี และการบริหารจัดการแบบเปิด (Open Governance)
  5. ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการในระดับนานาชาติ (Internationalization)
  6. ยุทธศาสตร์ที่ 6 : สร้างความผูกพันและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของสถาบัน (Stakeholders’ Participation and Engagement) รวมทั้งการระดมทรัพยากรเพื่อการพัฒนาสถาบันและสังคม

สมรรถนะหลักของสถาบัน (Core Competencies)
“มีความเป็นเลิศในศาสตร์ด้านการบริหารการพัฒนาที่ตอบสนองต่อการพัฒนาองค์การ ชุมชน สังคม ระดับประเทศ และระดับสากล”

อำนาจและหน้าที่

“สถาบันซึ่งจัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเห็นความสำคัญของการจัดให้มีสถาบันการศึกษาชั้นสูง ทางด้านการบริหารเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ เป็นสถานศึกษาชั้นสูงระดับบัณฑิตศึกษา มีวัตถุประสงค์และพันธกิจในการให้การศึกษาและอบรม สร้าง พัฒนา ประมวล ประยุกต์ และเผยแพร่องค์ความรู้ ทำการวิจัย และให้บริการทางวิชาการด้านพัฒนบริหารศาสตร์และศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ความสัมพันธ์กับหน่วยงานภายนอก ทำนุบำรุงและส่งเสริมคุณธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สถาบันมีปณิธานในการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและ ประเทศชาติ ตลอดจนมุ่งพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยนำความรู้และคุณธรรมมาสร้างปัญญาสร้างจิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล”

พระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๒ อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่