การคิดใหม่และสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อผลกระทบที่ยั่งยืน (NIC NIDA 2024)

การคิดใหม่และสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อผลกระทบที่ยั่งยืน (NIC NIDA 2024)

การเสวนา “การคิดใหม่และสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อผลกระทบที่ยั่งยืน”
Rethinking and Reinventing Research and Development for Sustainable Impact

Panelists:

1) Assoc. Prof. Wei Liu, Ph.D., Beijing Normal University, China
2) Prof. Sanit Aksornkoae, Ph.D., Advisor to National Economic and Social Development Board, Thailand
3) Assoc. Prof. Peerayuth Charoensukmongkol, Ph.D., NIDA, Thailand
4) Ms. Faryal Khan, Programme Specialist for Education at the UNESCO Regional Office in Bangkok, Thailand

สรุปโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีทัต ชวิศจินดา

การคิดใหม่และสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อผลกระทบที่ยั่งยืน (NIC NIDA 2024)

ในช่วงเช้าของวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ในการเสวนาหัวข้อ “การคิดใหม่และสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อผลกระทบที่ยั่งยืน” (Rethinking and Reinventing Research and Development for Sustainable Impact) บรรยากาศเต็มไปด้วยความรู้และแรงบันดาลใจจากวิทยากรหลายท่าน อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร.Wei Liu จากมหาวิทยาลัย Beijing Normal University ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว จากประเทศไทย Ms. Faryal Khan ผู้แทนจาก UNESCO และรองศาสตราจารย์ ดร. พีรยุทธ เจริญสุขมงคล จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยประเด็นการเสวนามุ่งเน้นการอภิปรายบทบาทสำคัญของนวัตกรรม ความยั่งยืน และภาวะผู้นำในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาที่มีผลกระทบอย่างยั่งยืน โดยแต่ละท่านต่างนำเสนอแนวคิดที่โดดเด่น ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองที่หลากหลายและมุ่งเน้นการทำวิจัยเพื่อความยั่งยืน การเสวนาเริ่มด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. Wei Liu จาก Beijing Normal University โดยท่านได้นำเสนอมุมมองเรื่องการออกแบบที่เน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (Human-Centered Design) ผ่านแนวคิดที่เรียกว่า “การออกแบบปฏิสัมพันธ์เชิงจิตวิทยา” หรือการใช้จิตวิทยาเพื่อเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้อย่างลึกซึ้ง แนวคิดนี้ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้ข้อมูลเชิงพฤติกรรมในการสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ปัญหาระดับโลก เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือและการออกแบบสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมมนุษย์ การนำเสนอของท่านไม่เพียงแต่เป็นการนำเสนอแนวคิดด้านการออกแบบ แต่ท่านยังได้สื่อสารให้เห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่างการออกแบบและการสร้างประสบการณ์ที่มีความหมายมากขึ้นให้กับผู้ใช้ โดยเน้นความสำคัญของอารมณ์และปฏิสัมพันธ์ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้การออกแบบนั้นยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร. Wei Liu  ได้กล่าวถึงหัวใจสำคัญในการออกแบบผ่านหลักการ “4P” และ “4E”  โดย 4P ประกอบด้วย Project การริเริ่มโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายของงาน, Passion คือความรักและความหลงใหลในการสร้างสรรค์, Play การทดลองที่ยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ และ Peace การคงไว้ซึ่งสมดุลในทุกมิติ ส่วน 4E ได้แก่ Experience ประสบการณ์ที่สะท้อนถึงความต้องการของผู้ใช้, Education การสอนและเรียนรู้จากกระบวนการ, Experimentation การทดลองซ้ำเพื่อพัฒนา และ Evaluation การประเมินเพื่อตรวจสอบความสำเร็จของแนวคิด

รองศาสตราจารย์ ดร. Wei Liu เน้นย้ำว่า การออกแบบเชิงจิตวิทยานี้จะช่วยให้เข้าใจความต้องการของผู้ใช้ และลักษณะการใช้งานที่แท้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อผู้ใช้มากขึ้น และยังสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ท่านได้ทิ้งท้ายด้วยการเสนอแนวคิดการสร้างหลักสูตรแบบบูรณาการที่ใช้การออกแบบที่ผสานระหว่างข้อมูลพฤติกรรมและความรู้สึกของผู้ใช้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการออกแบบเชิงอารมณ์ (Emotion Design)

ถัดมา ศาสตราจารย์ ดร. สนิท อักษรแก้ว ในฐานะผู้มีประสบการณ์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ท่านได้เน้นย้ำถึงการรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยศาสตราจารย์สนิท ได้กล่าวถึงการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในระดับประเทศ และการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนผ่านเศรษฐกิจชีวภาพและเศรษฐกิจหมุนเวียน ท่านได้ยกตัวอย่างปัญหามลพิษและทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยที่กำลังเผชิญยู่ เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และการจัดการทรัพยากรที่เริ่มเสื่อมโทรม

การนำเสนอที่ผสมผสานทั้งความรู้เชิงเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ผ่านตัวอย่างปัญหามลพิษและการจัดการทรัพยากรในประเทศไทยของท่าน ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ ท่านอาจารย์สนิทยังได้กล่าวถึงการวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ยั่งยืน โดยเน้นย้ำว่าการพัฒนาและการอนุรักษ์สามารถดำเนินไปพร้อมกันได้ หากมีการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ

ภายหลังจากได้ฟังมุมมองเรื่องการผสมผสานและประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถัดมาในฐานะคนในแวดวงการศึกษา เราจะได้ฟังมุมมองเกี่ยวกับความจำเป็นในการปรับปรุงระบบนิเวศการวิจัย เพื่อให้การวิจัยสามารถสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะการศึกษา ซึ่งเป็นการนำเสนอโดย Ms. Faryal Khan จาก UNESCO

Ms. Faryal Khan จาก UNESCO ได้เสริมมุมมองที่ครอบคลุมมากขึ้นเกี่ยวกับการวิจัยและการศึกษาในระดับโลก โดยเน้นการปรับปรุงระบบนิเวศการวิจัยที่เน้นความเท่าเทียมและการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะในด้านการศึกษา การเข้าถึงทรัพยากรและข้อมูลที่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศจะช่วยส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมและความร่วมมือข้ามพรมแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ แนวคิดเรื่องการศึกษาวิจัยที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนยังสอดคล้องกับ SDG 4.7 ที่มุ่งเน้นการศึกษาเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาสังคมในระยะยาว ท่านเน้นย้ำว่า การเข้าถึงข้อมูลและทรัพยากรควรเป็นไปอย่างเท่าเทียมในทุกประเทศ มุมองนี้ได้สะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายและความสามารถในการมองเห็นปัญหาในระดับโลกเกี่ยวกับการสนับสนุนการศึกษาและการสร้างความร่วมมือข้ามสาขาวิชาเพื่อความยั่งยืนเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย SDGs

การคิดใหม่และสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อผลกระทบที่ยั่งยืน (NIC NIDA 2024)

ปิดท้ายด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. พีรยุทธ เจริญสุขมงคล จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ท่านได้เสนอถึงความสำคัญของภาวะผู้นำที่มีความสามารถในการปรับตัว และตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงที่มีวิกฤตการณ์ อาจารย์พีรยุทธได้ชี้ว่า ทักษะสำคัญที่ผู้นำปัจจุบันควรมี คือ การฝึกสติตระหนักรู้ (Mindfulness) และการด้นสด (Improvisation) ซึ่งทั้งสองทักษะเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้ผู้นำสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในช่วงที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลง และนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จในระยะยาว ท่านได้ยกตัวอย่าง เช่น การระบาดของโควิด-19 ที่ผู้นำต้องการความยืดหยุ่นและความสามารถในการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว การฝึกทักษะเหล่านี้จะช่วยให้องค์กรสามารถเผชิญกับความท้าทายและปรับตัวเข้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเสวนาในช่วงเช้านี้ สิ่งที่พวกเราได้เรียนรู้ คือ การเห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนกระบวนการวิจัยและพัฒนาให้ตอบสนองต่อปัญหาระดับโลก การใช้จิตวิทยาในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล และการนำ Big Data มาใช้ในการศึกษาวิจัยเพื่อความยั่งยืน นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดว่าภาวะผู้นำที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้ในช่วงเวลาวิกฤติจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรและสังคมก้าวผ่านความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ