ชี้แจงภาพรวมนโยบายเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาวของรัฐบาลเศรษฐา 1 ที่คงไว้ซึ่งหลักการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส”

ชี้แจงภาพรวมนโยบายเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาวของรัฐบาลเศรษฐา 1 ที่คงไว้ซึ่งหลักการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส”

Authors

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ร่วมสนทนาโดย ศ.ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน คณะพัฒนาเศรษฐกิจ NIDA

Published

NIDA Impacts ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม 2566

https://nida.ac.th/wp-content/uploads/2024/01/NIDA-Impacts-03.pdf


นโยบายเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลจะใช้ดำเนินการในการจะเปลี่ยนประเทศไทยที่มีกับดักรายได้ปานกลาง ไปเป็นประเทศที่พัฒนาคืออะไร

          ต้องเกริ่นถึงสถานการณ์ขณะนี้ที่เศรษฐกิจตกทั่วโลก แต่สองปีที่ผ่านมาภายหลังโควิด ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้กลับขึ้นสู่จุดที่อัตราการเติบโตเข้าสู่ปกติแล้วซึ่งสัมพันธ์กับความเป็นไปของโลก ในขณะที่ประเทศไทยกลับค่อย ๆ ขยับจากสี่ถงห้าปีที่ผ่านมาไม่มากนัก GDP ไม่ได้สูงอย่างที่คิด

          ฉะนั้น การที่ประเทศไทยยังติดปัญหาที่ประเทศอื่นไปได้ นั่นแปลว่ายังทำสิ่งที่ต้องทำได้ไม่ครบ จุดสำคัญก็คือการกอบกู้เศรษฐกิจ จะต้องคิดในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลักสำคัญของพรรคเพื่อไทย คือ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” ซึ่งเราดูตัวเลขทุกตัวของประเทศ

          ระยะสั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก เราปรับลดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงานทันที ตัวแรกที่สำคัญ คือ ค่าไฟฟ้า ซึ่งเกี่ยวพันกันทั้งหมดทั้งภาคประชาชนและภาคการผลิต สอง ค่าน้ำมันขนส่ง ราคาที่เหมาะสมของดีเซลขณะนี้คือไม่เกิน 30 บาท

          ขณะเดียวกันคือการลดภาระหนี้สินของประชาชน หนี้สินของภาคเกษตรกร เกษตรกรมีจำนวนประมาณร้อยละ 40 ของภาคการผลิตแต่สร้างรายได้เพียงร้อยละ 8 พรรคเพื่อไทยมีเป้าหมายว่าจะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 3 เท่าตัวในเวลา 4 ปี โดยใช้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”

          โดยการไล่ไปตามลำดับ หลังจาก พักชำระหนี้ – debt moratorium จะต้องไม่ทำให้หนี้กลายเป็นหนี้เสีย เราใช้คำว่า debt suspension หมายความว่า ไม่ได้ช่วยแบบหลับหูหลับตา แต่รัฐบาลรับผิดชอบดอกเบี้ยกับธนาคาร 3 ปี เพื่อให้เกษตรกรเริ่มลืมตาอ้าปากได้

          ขณะเดียวกันก็ debt suspension ให้กับกลุ่ม SME ซึ่งไม่ได้ทำให้มีรายได้เพิ่มแต่ทำให้หายใจหายคอได้ เพราะภาคดอกเบี้ยขึ้นสวนทางกัน คุณคุมเงินเฟ้อให้ลดจากร้อยละ 5 มาอยู่ที่ 0.3-0.5 แต่สิบเดือนที่ผ่านมาดอกเบี้ยขึ้นไปที่ร้อยละ 1.5 นั่นคือมูลหนี้ของหนี้ครัวเรือนมันเพิ่มขึ้น แล้วบอกว่าเศรษฐกิจดี? ฉะนั้น นี่คือมาตรการสำคัญสองเรื่องแรก ลดราคาค่าพลังงาน และพักชำระหนี้ – debt suspension

          อีกด้านหนึ่งคือเรื่องการลงทุน ภาคการท่องเที่ยว เราเปิดประตูการท่องเที่ยว โดยเริ่มทำงานเมื่อปลายเดือนกันยายนก่อนวันชาติจีนซึ่งเป็นช่วงหยุดยาววันที่ 1-6 ตุลาคม ปีนี้วันไหว้พระจันทร์ตรงกับวันที่ 29 กันยายน จึงต้องเร่งทำงานให้ทันโดยให้วันที่ 28 กันยายน เป็นวันแรกที่วีซ่าฟรี เพื่อที่เขาจะเดินทางเข้ามาได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า

          นอกจากประเทศจีนก็ยังมีคาซัคสถาน รัสเซีย ซึ่งเดิมอยู่ได้ 1 เดือนก็ยืดให้เป็น 90 วัน เพราะประเทศของเขาไม่ได้หนาวแค่เดือนเดียว นอกจากนี้ยังขยายคอคอดในสนามบินต่าง ๆ โดยการเพิ่มเจ้าหน้าที่ ตม. เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในช่วงที่แออัดที่สุด เป็นต้น

          ส่วนสายการบินต่าง ๆ เราก็เชิญทุกสายการบินให้ขยายเที่ยวบินให้เพียงพอพร้อมทั้งสร้างความมั่นใจ เริ่มที่ภูเก็ตซึ่งเป็นประตูใหญ่ เป็นจังหวัดที่สร้างรายได้ในเรื่องการท่องเที่ยวให้ประเทศเป็นอันดับสอง หรือเป็นเม็ดเงินราว 3-5 แสนล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม GDP จากภาคการท่องเที่ยวเป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น เมื่อพิจารณาภาคการใช้จ่ายของรัฐ (Government spending) ขณะนี้ต่ำมากเนื่องจากการตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า แล้ว GDP จะโตได้อย่างไร จึงกลับมาดูที่ภาคการลงทุนหลักซึ่งต้องการการลงทุนระยะยาว ช่วงนี้เป็นจังหวะของการประชุมระหว่างประเทศ เริ่มตั้งแต่ UNGA (The UN General Assembly) การไป UNGA เป็นการประกาศว่าประเทศไทยเปิดแล้ว กลับคืนมาเป็นประชาธิปไตยจาก 9 ปีที่หยุดนิ่งเพราะหลายประเทศไม่คบค้า FTA ก็ไม่โต

          เราก็ไปดูที่ BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ว่านักลงทุนติดปัญหาอะไร ก็พบว่ามีระเบียบหลายอย่างที่ไม่ทันสมัยทำให้ไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเรากำลังเร่งแก้ไขเพื่อทำให้ต่างประเทศมั่นใจมากขึ้น ท่านนายกฯ ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีมากในการนำเสนอโครงการต่าง ๆ เมื่อครั้งที่ได้รับเชิญไปประเทศจีน รวมทั้งกับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ประเทศไทยต้องสร้างสมดุลท่ามกลาง war economy ไม่วางตัวอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้ความเป็นมิตรกับทุกคนของเรากลายเป็นจุดเด่นที่ต่างประเทศอยากมาลงทุน

          ในส่วนของ EEC (Eastern Economic Corridor) หรือ ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ต้องปรับปรุงเรื่องการออกใบอนุญาตและทำให้เป็น one form ไม่ใช่กรอกซ้ำซ้อนหลายกระทรวง ท่านนายกฯ ยังได้พบปัญหาการจัดการเรื่องน้ำ เรื่องคมนาคม เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่

          ภาคการเกษตร ปัจจัยสำคัญคือเรื่องที่ดิน เรื่องน้ำ ความสามารถ และตลาด อย่างแรก ที่ดิน เรามีแผนที่ชัดเจนว่าจะมอบแปลงที่ดินให้เป็นโฉนดแก่เกษตรกร 1 ล้านฉบับ ตัวอย่าง คือ ที่ดิน ส.ค.1 ซึ่งเป็นที่ดินของกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งที่ดิน สปก. ประมาณ 22 ล้านไร่ ที่พอจะปรับเป็นโฉนดที่มีเงื่อนไข จากเดิมที่กำหนดว่าต้องเป็นผู้ทำกินถ่ายทอดตามลูกหลาน ปัจจุบันไม่ค่อยมีลูกหลานกลับไปทำกินสืบต่อ เราก็เปลี่ยนเจตนารมณ์ให้นำไปปลูกต้นไม้ยืนต้นสักร้อยละ 30-40 ทำทีเดียวได้หลายต่อ

          เกษตรกรสามารถนำกรรมสิทธิ์ไปเป็นทุนโดยการกู้สินเชื่อธนาคาร ขณะเดียวกันก็ได้พื้นที่สีเขียวสำหรับโลกในอนาคต และเริ่มเป็นข้อบังคับในการค้าระหว่างประเทศ เช่น CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งต้องปฏิบัติตามในเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจก ส่วนหลักการตลาดนำ ยกตัวอย่าง เรื่องยาง ที่บริษัทยักษ์ใหญ่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย ถ้าปรับปลูกไม้ยืนต้นมาเป็นปลูกยางก็จะได้อีกต่อหนึ่ง

          ภาคการส่งออก ขณะนี้ประเทศไทยปลูกข้าวมากเกินกว่าความจำเป็น จึงมีผลผลิตส่วนเกินในการส่งออก แต่จะต้องควบคุมไม่ผลิตจนเกินความต้องการ แต่ข้าวไทยที่ได้ราคาดีมีชนิดเดียว คือ หอมมะลิ ซึ่งต้องพยายามส่งเสริมให้ชาวนาปลูกให้ได้ดี ลดต้นทุนให้ต่ำลง ทุกวันนี้เวียดนามพัฒนาการผลิตพันธุ์พืชไปเยอะและพื้นที่ของเขาให้ผลผลิตที่สูงกว่าเรา ขณะที่ของเรายังเหมือนเดิมมา 30-40 ปี ล่าสุดราคาข้าวในตลาดโลกขึ้นเพราะอินเดียปิดตลาด แต่ชาวนาไม่รู้ ก็จะเป็นเหยื่อของพ่อค้าที่ไปรับซื้อข้าว สิ่งที่เราทำคือต้องพยุงราคาโดยใช้กลไกสหกรณ์ของเกษตรกร 400-500 แห่ง กู้เงินจาก ธกส. มาสนับสนุนเกษตรกร สมมติว่าผลผลิตข้าวหอมมะลิมี 8 ล้านตัน หากสามารถดึงราคาขึ้นมาได้สักครึ่งหนึ่งของตลาดก็จะช่วยไม่ให้สินค้าเกษตรถูกทุบราคา นี่คือการแก้ปัญหาปลายทางจากปัญหาที่คนอื่นเริ่มเอาไว้ ซึ่งเรากำลังทดลองกันอยู่

          ในเรื่องค่าจ้างและดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ซึ่งคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถามว่าทำไมต้องกระตุ้น ถ้าดูจากตัวชี้วัดทุกตัวและจากสถานการณ์โลกจะพบว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปตามคาด เงินเฟ้อไม่ได้โตตามคาด ซึ่งแปลว่าหนี้สินเพิ่มขึ้น หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ความสามารถในการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 60 ส่งออกเท่าเดิมหรืออาจจะติดลบ การท่องเที่ยวสร้างรายได้จากนอกประเทศไม่ถึงร้อยละ 17 เร่งอย่างไรก็ยังไม่กระเตื้อง

          สภาพทั่วไปของเศรษฐกิจจึงเป็นการที่คนส่วนใหญ่กำลังปริ่มน้ำอยู่ เราจึงจำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนหนึ่งแล้วกระจายให้ประชาชน เพื่อที่จะให้ประชาชนทุกคนเป็น growth engine สอดคล้องกับการสำรวจของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเกี่ยวกับดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เมื่อถามว่ายินดีจะนำเงินนี้ไปรวมกับญาติพี่น้องหรือไม่ ผลสำรวจออกมาว่าคนเกือบครึ่งหนึ่งต้องการนำเงินที่ได้ไปรวมกัน การที่นำเงินมารวมกันไม่ได้นำไปใช้จ่ายแต่เพื่อที่จะสร้างรายได้ สำหรับกลุ่มเกษตรกรชัดเจนมาก หนึ่งครัวเรือนรวมกันก็เป็น 4-5 หมื่นบาท สามารถเป็นต้นทุนที่นำไปซื้อปุ๋ย พันธุ์ข้าว ฯลฯ มาเตรียมไว้ นี่แสดงถึง micro investment

          ถามว่าแล้วทำไมต้องเป็น ดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เราใช้มันเพราะสามารถกำหนดเงื่อนไขเพื่อทำให้เกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจที่ดีขึ้นได้ รวมทั้งเป็นการกระจายรายได้ จากเดิมทีเราขีดไว้ 4 กิโลเมตร ความหมายคือต้องการให้การเติบโตกระจายไปทั่ว แต่ในทางปฏิบัติอาจจะเป็น 1 อำเภอ นี่คือเหตุผลสำคัญที่เราจะทำเรื่องนี้

          สภาพเศรษฐกิจ ณ เวลานี้จำเป็นจะต้องมีการกระตุ้น เพราะคนที่ไม่เดือดร้อนคือคนที่อยู่ได้ แต่คนที่เดือดร้อนคือคนที่มีหนี้แล้วกำลังรอด้วยความหวัง เราไม่ได้บังคับว่าจะต้องลงทุนเท่านั้น บริโภคด้วยก็ได้ เมื่อเป็นเงินที่ออมไม่ได้ สุดท้ายแล้วการใช้จ่ายก็จะเกิด และจะเกิดแบบทวีคูณ (multiplier effect) โรงงานสามารถผลิตของได้เพิ่มขึ้น จ้างคนงานได้เพิ่มขึ้น ทุกคนดีขึ้นก็สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น เราบังคับด้วยว่าคุณจะต้องใช้ภายใน 6 เดือนสำหรับขั้นแรก แต่ขั้นต่อไปเป็นเรื่องที่เขาจะสามารถใช้จ่ายและหมุนเงินได้อีกหลายรอบ

          จริง ๆ พรรคเพื่อไทยยังมีเรื่องของ soft power หนึ่งครอบครัว หนึ่ง ซอฟต์พาวเวอร์ ได้แก่ อาหาร ดนตรี ศิลปะ กีฬา ซึ่งอันที่จริงเราต้องการพูดถึงเรื่องของการดึงความสามารถของแต่ละคนขึ้นมา เราใช้คำว่า rematching resource โรงเรียนอาชีวะหรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานที่มีอยู่มากมาย สามารถจะขยับไปเป็นโรงเรียนที่บ่มเพาะและคัดคนที่พอมีศักยภาพ ซึ่งเราเชื่อว่าเราทำได้

ในระยะยาวมองว่า New S-curve ใหม่ ของประเทศไทยจะมีอะไรบ้าง

          โลกกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ digital economy และการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ถ้าผูกทั้งสองเรื่อง การลงทุนใหม่ ๆ ก็จะเกิดขึ้น เช่น ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ซึ่งเทรนด์ทุกวันนี้กลายเป็นรถยนต์ EV และเราเป็นประเทศที่รถยนต์ EV เติบโตดีที่สุดในโลกในขณะนี้ เราจึงเป็นที่เพ่งเล็งว่าจะเป็นศูนย์กลางการผลิตของบริษัท EV ประเทศจีน ซึ่งบริษัทใหญ่ของเขาได้เข้ามาแล้ว บริษัทที่สนใจผลิตชิปก็ติดต่อเรามาแล้ว

          ส่วนเรื่อง green ซึ่งโลกกำลังต้องการ renewable energy หรือพลังงานหมุนเวียน ศักยภาพของเราคือเรื่องอาหาร จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ รองรับเพื่อให้ส่งออกได้

          เรากำลังก้าวไปด้วยเรื่องเหล่านี้ รถยนต์ EV, Semiconductor เช่น ชิป ร่วมกับพลังงานหมุนเวียนและสุดท้ายคือเรื่องเทคโนโลยีอาหาร เรื่องสำคัญคือการคมนาคมขนส่งและระบบลอจิสติคส์ ซึ่งขณะนี้ประเทศลาวเชื่อมกับประเทศจีนแล้ว เราต้องเร่งพัฒนารอยต่อที่ท้ายสุดเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทั้งนั้น

          ล่าสุด ท่านนายกฯ ได้เริ่มเกริ่นเกี่ยวกับโครงการเเลนด์บริดจ์ (Landbridge) หรือเส้นทางลัดที่จะเชื่อมต่อที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งใหม่ของโลกจากการเติบโตของการขนส่งและเข้าสู่โลกดิจิทัล เรามีคอคอดที่เถียงกันมานาน เหตุผลที่กลับมาพูดถึงก็คือ demand side ของการคมนาคมระหว่างยุโรปกับตะวันออกกลางกับจีนซึ่งจะต้องผ่านช่องแคบมะละกา ถ้าเราตัดผ่านได้ก็จะเป็นการเดินทางที่สั้นที่สุด

          อีกประเด็นคือ One Belt One Road ของประเทศจีน ซึ่งหากทะลุมาทางด้านนี้ประเทศไทยก็จะเป็นท่าเรือใหม่ ซึ่งขณะนี้ต้องสร้างความสมดุลทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเราต้องการ brick and mortar หัวใจก็คือ One Port to Destination ซึ่งไม่ใช่การทำคนละชิ้น แต่คือการจัดการระบบลอจิสติคส์เพื่อจะต้องส่งให้ถึง