สนทนาว่าด้วยมุมมองต่อนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล และข้อเสนอแนะต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

สนทนาว่าด้วยมุมมองต่อนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล และข้อเสนอแนะต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

Authors

เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล ร่วมสนทนาโดย รศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณะพัฒนาเศรษฐกิจ NIDA

Published

NIDA Impacts ฉบับที่ 3 กันยายน – ธันวาคม 2566

https://nida.ac.th/wp-content/uploads/2024/01/NIDA-Impacts-03.pdf


ในฐานะตัวแทนของพรรคก้าวไกลซึ่งมีบทบาทเป็นพรรคฝ่ายค้าน อยากทราบถึงมุมมองต่อนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะสามารถตอบโจทย์ของประเทศได้มากน้อยแค่ไหน มีความเสี่ยงหรือผลกระทบอย่างไรบ้าง

ในภาพรวมยังค่อนข้างขาดความชัดเจน ทั้งในกระบวนการที่จะปฏิบัติ และผลสําเร็จที่คาดหวัง หรือที่เรียกว่า ตัวชี้วัด ซึ่งยังขาดกรอบเวลา ทําให้ฝ่ายค้านมีความกังวลในการติดตามการดำเนินงานของรัฐบาล ยกตัวอย่าง ในการที่รัฐบาลจะอัดฉีดเงินผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ในช่วงเวลาหกเดือน ใช้งบประมาณ 5 แสนกว่าล้านบาทนั้น คาดหวังจะให้เกิดผลอะไร อย่างไร การบริโภคของภาคเอกชน GDP หรือการผลิตจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนเท่าใด รวมถึงการพักชําระหนี้เกษตรกรสามปี และการลดค่าครองชีพ ไม่ว่าจะเป็นค่าเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ซึ่งทั้งสองมาตรการต่างเชื่อมโยงไปสู่ความเสี่ยง

ในเรื่องของความเสี่ยงหรือผลกระทบ อย่างแรก การชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวกรณีที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ไม่ประสบความสำเร็จ เม็ดเงินที่จะใช้ในโอกาสต่อไปจะเพิ่มปัญหามากขึ้นหรือประเทศจะต้องแบกหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นหรือไม่

อย่างที่สอง หนี้ นอกจากหนี้เกษตรกรแล้ว ยังมีหนี้ครัวเรือน และหนี้ SME ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีแนวทางที่จะลดหรือปลดหนี้ในแต่ละส่วน และอาจจะส่งผลกระทบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมา

อย่างสุดท้าย ราคาพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยเจรจากับบริษัทเอกชนที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงสร้างราคาที่เป็นอยู่ และยังคงเจรจาซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น ปัญหาที่ประชาชนประสบอยู่เวลานี้จึงอาจกลายเป็นปัญหาระยะยาวหากไม่แก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง

ไม่นับภัยพิบัติซึ่งเป็นความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งหากแรงต่อเนื่องถึงปลายปี 2567 ปัญหาหนี้เกษตรกรและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะยิ่งสาหัสมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท หรือแม้แต่การพักชําระหนี้เกษตรกร การควบคุมราคาสาธารณูปโภค รัฐบาลก็ได้ให้เหตุผลไว้ว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อเพิ่มการบริโภค หากมองโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน ยังจําเป็นอยู่หรือไม่ที่จะต้องดูแลการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าว

นี่คือทฤษฎีที่แตกต่างกันระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ในช่วงหาเสียง หรือเรียกว่าเราวินิจฉัยโรคต่างกัน พรรคก้าวไกลมองว่าปัญหาระยะสั้นมีปัญหาเบื้องหลังซ้อนทับอยู่ นั่นคือปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งจําเป็นต้องแก้ไข ยกตัวอย่าง การกระตุ้น demand ซึ่งช่วยให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ระยะหนึ่งและระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องทําให้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งปกป้องไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่

พรรคก้าวไกลให้ความสําคัญกับปัญหาเชิงโครงสร้างและเป้าหมายระยะยาว อาจารย์มองว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือบริการ มีปัญหาเชิงโครงสร้างในส่วนไหนบ้าง และสามารถจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง

ภาคอุตสาหกรรมเกิดความเปลี่ยนแปลงในแง่ของเทคโนโลยี รวมทั้ง global supply chain มาระยะหนึ่งแล้ว จําเป็นต้องทบทวนกันว่าอะไรที่ประเทศไทยสามารถจะเป็น champion ในอนาคตได้ New S-curve ของเราคืออะไร แล้วจะลงทุนให้เกิดระบบนิเวศในการแข่งขันในเรื่องนั้นได้อย่างไร ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงบริบทของภูมิรัฐศาสตร์โลก (geopolitics) เพื่อกระจายความเสี่ยงจาก globalization ทั้งความขัดแย้งในทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือภัยพิบัติต่าง ๆ

ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลได้เสนอแนวทางที่ชัดเจน ในการเปลี่ยนความคิดจากที่เคยเชื่อใน made in Thailand ไปเป็น made with Thailand หรือจากการเป็นผู้ผลิตทั้งห่วงโซ่อุปทานไปเป็นผู้ผลิตในเรื่องที่เก่งที่สุด อย่างน้อยในระดับภูมิภาค (ตามภูมิรัฐศาสตร์) ยกตัวอย่าง ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งประเทศไทยเริ่มช้าเกินกว่าจะแข่งขันกับประเทศยักษ์ใหญ่ได้แล้ว แต่ยังสามารถจะเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหลาย เหล่านี้จำเป็นต้องพิจารณากันอย่างเจาะจงให้มากยิ่งขึ้น

ภาคบริการ ประเทศไทยมีบริการระดับโลกหลายอย่าง ทั้งอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข แต่ยังมีปัญหาภายในพอสมควรที่จะต้องแก้ไข เช่น เรายังถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยทางอาหาร คุณภาพชีวิตของผู้ผลิตหรือเกษตรกรต้นทาง การเข้ารับบริการสาธารณสุขที่คนไทยเองยังได้รับบริการที่ไม่เท่าเทียมกับชาวต่างชาติ แหล่งท่องเที่ยวบางแห่งยังประสบปัญหาการรับนักท่องเที่ยวเกินศักยภาพ รวมทั้งขนส่งสาธารณะ แม้กระทั่งในเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต

ภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นภาคที่สาหัสที่สุด ประสบกับสามปัญหาหลัก หนึ่ง ผลิตภาพ (productivity) ซึ่งเกษตรกรไทยมีค่อนข้างต่ำจึงแข่งขันยากขึ้น สอง ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บวกกับโครงสร้างประชากร และ สาม ปัญหาหนี้สิน ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก และทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องอย่างน้อยสามปัญหา หนึ่ง คุณภาพชีวิตของเกษตรกรแย่ลง สอง การปิดกั้นโอกาสที่จะเพิ่มผลิตภาพเพื่อให้การผลิตหรือคุณภาพชีวิตดีขึ้น และ สาม การส่งต่อหนี้ไปสู่เกษตรกรรุ่นหลังที่เข้ามารับช่วงต่อ เรียกว่าหนี้ข้ามรุ่น

ปัญหาภาคเกษตรกรรมจึงจำเป็นต้องแก้ในเชิงโครงสร้าง อย่างน้อยที่สุดในสามเรื่อง หนึ่ง ความมั่นคงในการถือครองที่ดินเพื่อให้เขาสามารถเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลก็ยืนยันว่าจะพยายามเดินหน้าต่อไปแม้จะมีรายละเอียดแตกต่างกับของพรรคก้าวไกล สอง แหล่งน้ำ ปัจจุบันพื้นที่ชลประทานมีอยู่ร้อยละ 23 ของพื้นที่เกษตร และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 ในอีกห้าสิบปีข้างหน้าตามแผนของกรมชลประทาน ฉะนั้น โจทย์คือการปรับโครงสร้างการลงทุนในร้อยละ 60 ที่เหลือ ซึ่งมี technical solution และปัจจุบันยังไม่มีแผนการลงทุนที่ชัดเจน และ สาม การปลดล็อคหนี้เกษตรกร ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 12-13 เท่าของรายได้ โดยจะต้องแบ่งหนี้ออกเป็นสองก้อน ก้อนหนึ่งเป็นทุนหมุนเวียน (working capital) อีกก้อนหนึ่ง ร้อยละ 70 เป็นหนี้เรื้อรัง แล้วหาวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะลำพังมาตรการพักชำระหนี้ จะทับถมหนี้ทั้งก้อนไปเรื่อย ๆ ตอนนี้ก็เริ่มได้ยินสัญญาณเชิงบวกจากรัฐบาลต่อปัญหานี้

ที่ผ่านมาค่อนข้างมีประเด็นในเรื่องการแข่งขันทางการค้า แม้ประเทศไทยมีกฎหมาย anti-trust Law มานานแล้ว พรรคก้าวไกลมีนโยบายเกี่ยวกับการควบรวมกิจการที่ทําให้อํานาจทางการตลาดและโครงสร้างตลาดเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

สามารถมองได้เป็นสี่ประเด็น ประเด็นแรก กฎหมายที่มีอยู่แล้วซึ่งต้องมีการทบทวน เมื่อพิจารณาจากการบังคับใช้ในช่วงแปดถึงเก้าปีมานี้ ประเด็นที่สอง คณะกรรมการหรือบอร์ด ซึ่งอาจจะทำหน้าที่ในลักษณะที่ขัดกับแนวความคิดทางทฤษฎีและสายตาประชาชน สองประเด็นนี้เป็นกลไกหลัก ที่พรรคก้าวไกลจะทําหน้าที่ตรวจสอบและเสนอแก้ไขกฎหมาย

ประเด็นที่สาม อำนาจของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่ถูกกระจายไปที่คณะกรรมการอื่น ๆ ยกตัวอย่าง กสทช. หรือกรณีของธุรกิจไก่ไข่ ซึ่งอำนาจตัดสินการให้โควตานําเข้าไก่อยู่ที่ egg board คําถามคือในแต่ละปีมีการให้โควตาผู้เลี้ยงไก่รายย่อยแค่ไหนอย่างไร รวมทั้งการมีอํานาจต่อรองเหนือตลาดที่จะโยงไปสู่การขายอาหารสัตว์ด้วย ซึ่งจำเป็นต้องตรวจสอบ

ประเด็นสุดท้าย มีการเพิ่มแรงจูงใจให้กับประชาชนในการบริโภคสินค้าจากรายย่อยแค่ไหนอย่างไร เป็นที่มาของนโยบายหวยใบเสร็จของพรรคก้าวไกลเพื่อช่วย SME โดยการสะสมแต้มจากใบเสร็จของร้านค้ารายย่อยเพื่อแลกหวยลุ้นโชคต่อ ก็เป็นอีกแนวความคิดที่เราพยายามเสนอแนะรัฐบาล เพราะทําหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจคล้ายกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เพียงแต่ไม่ได้โฟกัสที่ SME ไม่ใช่พื้นที่เชิงภูมิศาสตร์

กล่าวถึงนโยบายเศรษกิจก็เชื่อมโยงไปถึงเรื่องของแรงงาน อาจารย์คิดว่าการกําหนดทิศทางของนโยบายแรงงานของประเทศไทยควรเป็นอย่างไร

มีสามเรื่องที่ควรต้องกล่าวถึง หนึ่ง สวัสดิการ สอง ผลิตภาพ และ สาม ความยืดหยุ่น (flexibility) พี่น้องแรงงานเวลานี้มีความเดือดร้อนทางด้านคุณภาพชีวิต ทั้งค่าครองชีพเพิ่มขึ้นเร็วกว่าผลิตภาพ และค่าแรงเพิ่มขึ้นน้อยกว่าผลิตภาพ บวกกับการต้องแบกรับผู้สูงอายุ ลูกหลาน พรรคก้าวไกลจึงพัฒนาระบบค่าจ้างขึ้นมา ตั้งแต่ค่าจ้างขั้นต่ำที่ควรจะปรับขึ้นโดยอัตโนมัติตามค่าครองชีพโดยไม่ต้องนำมาใช้เป็นนโยบายหาเสียงกันอีก รวมทั้งกำหนดค่าแรงเป้าหมายที่แต่ละวิชาชีพควรจะกำหนดค่าจ้างไว้ล่วงหน้า คล้ายกับกรณีของประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีนโยบาย Upskill Reskill สร้างแพลตฟอร์มการพัฒนาทักษะสําหรับแรงงานปีละประมาณ 1 ล้านคน ในวงเงินประมาณ 4,000 บาทต่อคนต่อปี รวมถึงการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต เพื่อให้เขาพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อัพเกรดฝีมือตัวเองให้ไปสู่ค่าแรงเป้าหมายที่ต้องการได้ นี่คือเรื่องความยืดหยุ่นในการจ้างงานระดับประเทศที่จะตอบโจทย์อนาคต ทั้งสามเรื่องนี้เกี่ยวข้องกันทั้งหมด

ที่จริงแล้วการพัฒนาทักษะแรงงานเชื่อมโยงกับนโยบายการศึกษาที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) แต่จะทำอย่างไรให้เป็นระบบ

พูดในภาษาเศรษฐศาสตร์ว่าจะต้องมีระบบการเงินที่ชัดเจน ทุกคนจับต้องได้ มีลักษณะที่เป็น demand side financing มากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเงินทั้งหมดอยู่ที่ฝั่ง demand หรือฝั่งผู้ใช้ แต่มีวงเงินส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เขามีอำนาจตัดสินใจ ยกตัวอย่าง การนำเงินจำนวน 4 หมื่นล้านบาท จาก 5 แสนล้านบาท หรือไม่ถึงร้อยละ 10 ของงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ ไปให้กับส่วน demand side เพื่อให้เยาวชนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงอุดมศึกษาเลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจได้ อย่างน้อยที่สุดจะเป็นประตูให้เขาได้มีโอกาสทดลอง สร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับแนวทางการทำงานในอนาคต ต่างกับระบบการเงินที่ผ่านมาที่มีลักษณะเป็น supply side financing ซึ่งเกิดปัญหาตามมาจากการคิดเอาเอง ว่าใครจะเป็น supplier หรือผู้จัดหาให้ แล้วถูกล็อคคำตอบโดยระบบราชการว่าจะต้องเป็นโรงเรียนที่ขีดศักยภาพถูกจำกัด

ประเด็นที่สําคัญมากของ demand side financing คือการกระจายงบประมาณไปสู่ท้องถิ่นซึ่งเป็น demand แบบหนึ่ง แต่ว่าเป็น demand ที่มีคนภายในท้องถิ่นบริหารจัดการ พรรคก้าวไกลจึงเสนอแนวทางนโยบายที่จะกระจายงบประมาณจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นในช่วงสี่ปีราว 2 แสนล้านบาท อบต. ที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุดควรจะได้รับสัดส่วนเพิ่มเป็น 15-20 ล้านบาทต่อปี เพื่อให้เขาทําเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็นได้ เช่น โครงการน้ำประปาดื่มได้ สถานีอนามัย ฯลฯ เวลาพรรคก้าวไกลพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจ เราจึงมักพูดเสมอว่า นโยบายเศรษฐกิจที่สําคัญที่สุดข้อหนึ่งของพรรคก้าวไกล ก็คือ การกระจายอำนาจ

นโยบายการกระจายอำนาจของพรรคก้าวไกลนั้นมีความหมายอย่างไร คงไม่ใช่เฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด

การกระจายอํานาจและความเจริญสู่ภูมิภาคคือการกระจายสามเรื่องหลัก ๆ คือ หนึ่ง การกระจายอํานาจในการเลือกผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งในประเทศไทยเวลาพูดแล้วฟังดูคล้ายกับจะท้าทายอํานาจของรัฐบาลส่วนกลาง แต่ที่จริงแล้วเป็นหลักการพื้นฐานในการเลือกตัวแทน สอง การกระจายอํานาจหน้าที่ ในเรื่องที่ถูกดึงไปอยู่ที่รัฐส่วนกลางตลอดมา ซึ่งสร้างปัญหาหลายอย่าง ยกตัวอย่าง การกําหนดผังเมืองในแต่ละจังหวัด ปัจจุบันมีเฉพาะนนทบุรีกับสมุทรปราการที่ถ่ายโอนให้กับท้องถิ่นโดยสมบูรณ์ และ สาม การกระจายทรัพยากร มีสองส่วนหลัก ๆ คือ งบประมาณ และบุคลากร ซึ่งต้องกระจายให้มากที่สุดเพื่อให้การบริหารจัดการเป็นของท้องถิ่น

ถ้าโยงไปสู่ภาคเศรษฐกิจ เวลาพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องเมือง เรื่องนักท่องเที่ยวเดินทางไปในแต่ละเมือง คือการพูดถึงพื้นที่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจ กิจกรรมการท่องเที่ยวนันทนาการต่าง ๆ การเดินทางสะดวก สิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในการที่จะทําให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตามความต้องการ สามารถตัดสินใจกันเองภายในท้องถิ่น เพื่อที่สุดท้ายจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเมืองได้ ท้องถิ่นจึงเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน

ท้ายที่สุด นโยบายสาธารณะในเรื่องของการจัดการสวัสดิการแห่งรัฐที่อาจารย์คิดว่าจะตอบโจทย์ปัญหาความต้องการของประเทศไทยและประชาชนจริง ๆ ควรจะมีลักษณะแบบใด

เพื่อจะตอบคำถามว่าระบบสวัสดิการควรจะเป็นอย่างไร ต้องถอยกลับมาว่าประเทศไทยมีปัญหาอะไร ซึ่งที่มองเห็นตอนนี้มีอยู่สามปัญหาหลัก หนึ่ง สังคมผู้สูงอายุ ที่ไม่ได้เตรียมการเรื่องการออม ปัจจุบันมีราว 10 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านภายในห้าปี จะต้องรับมืออย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้กระทบกับปัญหาข้อที่สองและสาม

สอง คุณภาพชีวิตของคนวัยทํางานที่กําลังได้รับความกดดันอย่างมาก แรงงานผู้หญิงจํานวนหนึ่งต้องลาออกมาดูแลพ่อแม่ เขาสูญเสียโอกาสในการทํางานสร้างรายได้และเพิ่มผลิตภาพของประเทศ รวมถึงคนรุ่นใหม่หลายคนจำเป็นต้องขวนขวายเข้ารับราชการเพื่อสวัสดิการความมั่นคงของพ่อแม่ ทั้งที่ไม่ใช่ศักยภาพสูงสุดในชีวิตของเขา ฉะนั้น จึงเป็นการกดดันต่อกันระหว่างหนึ่งกับสอง

และ สาม การเกิดน้อยลง จากภาระค่าใช้จ่ายของคนที่จะเป็นพ่อแม่ในปัจจุบันที่หนักหนามาก จากค่าครองชีพเพิ่มขึ้น จากการศึกษาที่ไม่สามารถทําให้พ่อแม่มั่นใจในโรงเรียนของรัฐ เป็นต้น

ลองจินตนาการถึง scenario ในยี่สิบปีข้างหน้า ประเทศไทยเรากําลังจะเจอกับอะไรถ้ามองจากจุดนี้

ฉะนั้นแล้ว หากผู้สูงอายุสามารถยังชีพได้ดีพอสมควรด้วยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือบํานาญประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น รักษาระดับของกําลังซื้อไม่ให้ลดลงมากเกินไปได้ ขณะเดียวกันมีระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว กรณีป่วยติดเตียงแล้วลูกหลานไม่ต้องลาออก เพราะมีคนดูแลแทนที่ช่วยให้เกิดอัตราการจ้างงานด้วย แนวทางนี้จะรักษาผลิตภาพของแรงงานในระบบนี้ได้ดีกว่าหรือไม่

ส่วนเด็กเล็กก็มีเงินสนับสนุนจํานวนหนึ่งที่เพิ่มขึ้นและเป็นแบบถ้วนหน้า คนที่เป็นแม่ลาคลอดได้เพิ่มขึ้น มี nursery และโรงเรียนที่มั่นใจได้ แนวทางนี้จะช่วยให้คนมั่นใจในการสร้างครอบครัวมากขึ้นหรือไม่

ทั้งหมดนี้นํามาสู่การออกแบบนโยบายสวัสดิการแบบถ้วนหน้าของพรรคก้าวไกล ส่วนหนึ่งเป็นอุดมการณ์การสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมกัน อีกส่วนเป็นการแก้ปัญหาที่มองว่าสวัสดิการถ้วนหน้าคือการเข้าถึงทุกปัญหาโดยเร็วที่สุด ตอบโจทย์คนทุกคนในการมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความมั่นคงที่จะเดินไปข้างหน้า

ทั้งแพกเกจใช้งบประมาณราว 6.5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเราได้วางแผนไว้แล้วว่าจะนำงบประมาณมาจากไหน เทียบเคียงกับ GDP แล้วเป็นสัดส่วนที่ไม่ได้สูง แต่หากเทียบเคียงกับงบประมาณทั้งหมดของรัฐ 3.3 ล้านล้านบาทแล้วอาจจะเริ่มสูง ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมีการดําเนินการสามส่วน หนึ่ง ปรับลดงบประมาณที่ไม่จําเป็นบางส่วนลง สอง ปรับประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีบางประเภท และ สาม เพิ่มการจัดเก็บภาษีใหม่ ๆ ที่ช่วยกระจายรายได้มากขึ้นด้วย

สำหรับพรรคก้าวไกล ทุกสวัสดิการจะต้องตามมาด้วยงาน โดยเฉพาะหากนำเรื่องการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเป็นโจทย์สําคัญในอนาคต เรามี long-term care เพิ่มงานและทักษะให้กับคนไทย จนเข้าสู่ระยะการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) ซึ่งพรรคก้าวไกลใช้คําว่า นโยบายตายดี

ถ้าสามารถสร้างระบบนี้ขึ้นมาได้อย่างเป็นรูปธรรมก็สามารถจะต่อยอดสู่ medical hub ซึ่งเชื่อมโยงกับการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น กระจายหน้าที่ซึ่งเขาสามารถจะดูแลคนในพื้นที่ของเขาทั้งผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ให้อยู่ในราคาที่จ่ายได้ และรองรับการจ้างงานได้

ถ้าดูข้อมูลจะพบว่าปัจจุบันค่าจ้างผู้ดูแลผู้สูงอายุในตลาดเกินกำลังที่คนส่วนใหญ่จะมีอำนาจซื้อ ทำให้ยังไม่มี demand เรียกว่าไม่สามารถมี demand นั้นได้ จึงจําเป็นที่จะต้องมีกลไกรัฐเข้ามาช่วยทําให้ effective ขึ้นมาได้ มิฉะนั้น แรงงานก็ต้องลาออกจากงานมาดูแลเองซึ่งก่อความเสียหายต่อผลิตภาพในภาพรวมของประเทศ แต่ท้องถิ่นสามารถจะตอบโจทย์การเป็นผู้บริหารจัดการ ทั้งการดูแลผู้สูงอายุและเด็กเล็กที่มีมาตรฐานในระดับมืออาชีพ คุณภาพชีวิตที่ดีก็จะกระจายตัวอยู่ทุก ๆ พื้นที่ในประเทศ

ฝากอาจารย์แนะนำทิ้งท้ายเกี่ยวกับแนวทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล

หนึ่ง หากเริ่มต้นด้วยการมองปัญหาที่ฐานราก เราจะเห็นแง่มุมที่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ ย้อนกลับมาถึงพรรคก้าวไกลที่มักถูกวิจารณ์ว่าไม่เน้นเรื่องของปากท้อง แต่ทั้งหมดที่เราพูดคุยกันนี้คือเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งการเสนอกติกาการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือ SME การปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร รวมถึงข้าราชการที่เขาเรียกว่า หนี้ตัดหน้าซองเงินเดือน ฯลฯ สอง ขณะเดียวกันต้องแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในทางเศรษฐกิจ อะไรที่ประเทศไทยจะเป็นผู้นำ สิ่งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการแข่งขัน แต่ต้องพัฒนาต่อเนื่องให้มีความยั่งยืน ลดค่าใช้จ่ายและทําให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น สุดท้าย การสร้างระบบสวัสดิการซึ่งจะทําให้คนมีงานทําเพิ่มขึ้น ทั้งสามส่วนเป็นฟังก์ชันใหม่ เป็นเศรษฐกิจใหม่ทั้งหมด ที่จะแก้ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ และตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจในระยะยาว