การปรับราคาน้ำมันในประเทศ

การปรับราคาน้ำมันในประเทศ

Authors

รศ.ดร.วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล ศ.ดร.ธีรพงษ์ วิกิตเศรษฐ ศ.ดร.จิราวัลย์ จิตรถเวช อาจารย์เกษียณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


          นโยบายการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรี เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างราคา ณ โรงกลั่น กับราคา CIF ซึ่งเป็นราคานำเข้าของน้ำมันสำเร็จรูป ทำให้สังคมมีทางเลือกในการจัดหาน้ำมันสำเร็จรูปที่มีราคาต่ำที่สุดตามสภาวะตลาดน้ำมัน  ในปัจจุบัน ผู้จัดหาน้ำมันสามารถนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปได้  เนื่องจากไม่มีกฎระเบียบที่ห้ามนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป  

          ในทางปฎิบัติ การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณน้อยมาก  ในช่วงปี พ.ศ. 2560-2562 ก่อนการระบาดโควิค-19 มีการนำเข้าน้ำมันเบนซิน Base ULG ร้อยละ 12.15 ของปริมาณจำหน่ายโดยเฉลี่ย และมีการนำเข้าน้ำมันดีเซลร้อยละ 5.27 ของปริมาณจำหน่ายโดยเฉลี่ย  ในช่วงปี พ.ศ. 2563-2565 ระหว่างการระบาดของโควิค-19 การนำเข้าน้ำมันเบนซิน Base ULG ลดลงเหลือร้อยละ 7.87 ของปริมาณจำหน่ายโดยเฉลี่ย และการนำเข้าปริมาณน้ำมันดีเซลลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.83 ของปริมาณจำหน่ายโดยเฉลี่ย  

          บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอแนวคิดในการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูป  ตั้งแต่โครงสร้างราคา ณ โรงกลั่น โครงสร้างราคาขายส่ง  และโครงสร้างราคาขายปลีก  การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันที่แต่ระดับ  อยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่กำหนดให้โครงสร้างราคาน้ำมันสะท้อนต้นทุนการจัดหาน้ำมันที่แท้จริง  ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลงได้จากระดับราคาปัจจุบันโดยไม่มีการบิดเบือนราคา

1. การปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น

          การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นในโครงสร้างปัจจุบันอยู่ภายใต้แนวคิด import parity ซึ่งเป็นการกำหนดเพดานราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นให้เท่ากับราคานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป  เมื่อยังไม่มีโรงกลั่นในประเทศ การสนองความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเป็นการจัดหาโดยการนำเข้าจากตลาดน้ำมันที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด คือ ตลาด SIMEX ของสิงคโปร์  การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเป็นการนำเข้าน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล  เนื่องจากไม่มีการจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลในตลาด SIMEX 

          ราคานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเบนซินและดีเซลคือราคาน้ำมันสำเร็จรูป CIF  ซึ่งประกอบไปด้วยราคาน้ำมันสำเร็จรูป MOPS ที่ตลาด SIMEX บวกด้วยค่าขนส่ง (สิงคโปร์ – ศรีราชา) ค่าประกันภัย และค่าสูญเสีย  ภายใต้แนวคิด import parity  ราคาน้ำมันสำเร็จรูป MOPS ในตลาด SIMEX ค่าขนส่งน้ำมันจากสิงคโปร์มาประเทศไทย  ค่าประกันภัย  และค่าสูญเสีย จึงถูกกำหนดให้เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในโครงสร้างราคา ณ โรงกลั่น  ตามที่แสดงในตารางที่ 1 

ตารางที่ 1 โครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น

องค์ประกอบมติ กบง. เมื่อวันที่ 9 มี.ค. พ.ศ. 2563
ราคานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปก. ราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก 2 วันย้อนหลัง โดยเบนซิน 95 อ้างอิง MOPS ของเบนซิน 95 ส่วนกลุ่มแก๊สโซฮอล์ อ้างอิง MOPS เบนซิน 91 Non-Oxy ข.  ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วอ้างอิง = (0.9184 x MOPS Gasoil 10 ppm + 0.0816 x MOPS Gasoil  ราคากลางของตลาดภูมิภาคเอเชีย 500 ppm)
ค่าปรับคุณภาพน้ำมันก. 2.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลสำหรับน้ำมันเบนซินออกเทน 95 (0.46 บาท/ลิตร) ข. -0.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับการผลิตแก๊สโซฮอล์ 91 E10, 95 E20, E85 (-0.14 บาท/ลิตร) ค. 1.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับการผลิตแก๊สโซฮอล์ 95 E10 (0.35 บาท/ลิตร) ง. น้ำมันดีเซลไม่มีค่าปรับคุณภาพ
ค่าขนส่ง (สิงคโปร์ – ศรีราชา) สำหรับน้ำมันเบนซินและดีเซลใช้อัตรา AFRA ของเรือบรรทุกน้ำมันดิบเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักขนาด VLCC ต่อ LR2 สัดส่วนร้อยละ 60 ต่อ 40 แบบ Long Term Charter
ค่าขนส่งทางท่อ (ศรีราชา – กรุงเทพฯ) สำหรับน้ำมันเบนซินและดีเซลให้เป็นค่าใช้จ่ายตามต้นทุนจริงที่ค่าการตลาด (0.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (0.15 สตางค์/ลิตร) )
ค่าประกันภัยสำหรับน้ำมันเบนซินและดีเซลร้อยละ 0.084 ของ C&F ของน้ำมันดิบ
ค่าสูญเสียสำหรับน้ำมันเบนซินและดีเซลร้อยละ 0.3 ของ CIF ของน้ำมันดิบ
ค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง 0.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (สำรองน้ำมันดิบที่ร้อยละ 6) (0.15 บาท/ลิตร)
ค่าปรับอุณหภูมิเป็น 86 องศาฟาเรนไฮน์น้ำมันเบนซิน 95 และ 91 อยู่ที่ 0.9814 และ 0.9810 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (0.22 บาท/ลิตร และ 0.22 บาท/ลิตร)
หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยน 35.673 บาท/เหรียญ สรอ.

          ราคา CIF ของน้ำมันสำเร็จรูปที่นำเข้าอาจมีความแตกต่างจากราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคา CIF ได้  ราคา MOPS เป็นราคาที่ประกาศเป็นรายวันในตลาด SIMEX ถ้ามีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในช่วงเวลาหนึ่ง ราคาน้ำมันสำเร็จรูปก็คือราคา CIF ในช่วงเวลานั้น การกำหนดองค์ประกอบราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตารางที่ 1 จึงไม่สอดคล้องกับราคา MOPS ที่ประกาศเป็นรายวัน  นอกจากนั้น องค์ประกอบค่าขนส่ง (สิงคโปร์ – ศรีราชา) ค่าประกันภัย และค่าสูญเสีย ในโครงสร้างราคา ณ โรงกลั่นเป็นอัตราที่กำหนดมาจากอัตราในช่วงเวลาหนึ่ง  ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงตามสภาวะตลาด  จึงเป็นไปได้ที่องค์ประกอบราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น บวกกับค่าขนส่ง (สิงคโปร์ – ศรีราชา) ค่าประกันภัย และค่าสูญเสียจะแตกต่างไปจากราคาน้ำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป CIF ได้   

          ในกรณีที่มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในราคา CIF แล้ว  ผู้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจะมีภาระค่าใช้จ่ายอื่นที่กำหนดให้เป็นองค์ประกอบในโครงสร้างราคา ณ โรงกลั่น  กล่าวคือ  ค่าใช้จ่ายในการปรับคุณภาพน้ำมัน  ค่าใช้จ่ายในการสำรองน้ำมัน และค่าปรับอุณหภูมิ 

          การแข่งขันระหว่างการนำเข้านำมันสำเร็จรูปกับน้ำมันที่กลั่นในประเทศไม่ได้อยู่ที่ความแตกต่างระหว่างราคานำเข้า CIF กับองค์ประกอบราคาที่อ้างอิงจากราคา CIF เท่านั้น  แต่อยู่ที่ความแตกต่างของประสิทธิภาพในการบริหารจัดการหลังจากที่ได้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปแล้ว   การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรียังเป็นการเปิดทางเลือกให้โรงกลั่นน้ำมันสามารถนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปได้ในบางช่วงเวลา ถ้าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมีต้นทุนการจัดหาที่ต่ำกว่าการนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว  จากสถิติการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่มีปริมาณน้อยในปัจจุบันทำให้พิจารณาได้ว่า  การจัดหาน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นในประเทศโดยเฉลี่ยแล้ว น่าจะมีความคุ้มค่ามากกว่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปหรือมีปัจจัยอื่นที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปซึ่งน่าจะศึกษาเพิ่มเติม

          องค์ประกอบในโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นที่สามารถพิจารณาปรับลดได้คือ ค่าปรับคุณภาพน้ำมันและค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง   ในปัจจุบัน  มีการกำหนดให้น้ำมันสำเร็จรูปมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงกว่ามาตรฐานสากล  ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการปรับคุณภาพน้ำมันสำเร็จรูป  ถ้าพิจารณากำหนดให้มาตรฐานน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ก็จะสามารถยกเลิกองค์ประกอบค่าปรับคุณภาพในโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น  ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นลดลงได้และอำนวยความสะดวกในการนำเข้ามากขึ้น 

          การยกเลิกองค์ประกอบค่าปรับคุณภาพในโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นสามารถทำได้โดยยกเลิกประกาศกรมธุรกิจพลังงานเรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซิน พ.ศ. 2562 และประกาศกรมธุรกิจพลังงานเรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ พ.ศ. 2562 และประกาศใหม่ให้ลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่สอดคล้องกับลักษณะและคุณภาพสากล  ซึ่งจะลดราคาน้ำมันเบนซิน 95 และแก๊สโซฮอล์ 95 E10 ได้ 0.46 บาท/ลิตร และ 0.35 บาท/ลิตร ตามลำดับได้ทันที  มาตรการดังกล่าวจะทำให้ผู้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปตามลักษณะและคุณภาพสากลของน้ำมันไม่มีภาระในการปรับคุณภาพน้ำมันเช่นกัน

          ค่าใช้จ่ายในการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง ไม่ควรนำมาเป็นองค์ประกอบในโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น  การสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงเป็นมาตรการที่จำเป็นสำหรับประเทศที่ยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบ  เพื่อสำรองน้ำมันไว้ใช้เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน   แต่ในปัจจุบัน โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยมีกำลังการกลั่นที่สูงกว่าความต้องการน้ำมันสำเร็จรูป  ทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปได้ ในช่วงปี พ.ศ. 2560-2562 ก่อนการระบาดโควิค-19 มีการส่งออกน้ำมันเบนซิน ร้อยละ 9.97 ของปริมาณจำหน่ายโดยเฉลี่ย และมีการส่งออกน้ำมันดีเซลร้อยละ 20.35 ของปริมาณจำหน่ายโดยเฉลี่ย  

          ในช่วงปี พ.ศ. 2563-2565 ระหว่างการระบาดของโควิค-19 การส่งออกน้ำมันเบนซิน ยังคงอยู่ในระดับเดิมแต่ปริมาณจำหน่ายทั้งหมดลดลง ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.85 ของปริมาณจำหน่ายโดยเฉลี่ย ในทำนองดียวกัน การส่งออกปริมาณน้ำมันดีเซลก็เพิ่มชึ้นเป็นร้อยละ 21.24 ของปริมาณจำหน่ายโดยเฉลี่ย  จึงน่าจะมีการทบทวนความจำเป็นที่ต้องสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง ให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันที่มีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งหากยกเลิกการสำรองเพื่อความมั่นคง จะทำให้ราคา ณ โรงกลั่นสำหรับน้ำมันทุกชนิดลดลง 0.15 บาท/ลิตร   

          โดยสรุป จากมาตรการปรับลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเนซินและแก๊สโซฮอล์สอดคล้องกับลักษณะและคุณภาพสากลและยกเลิกการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง ราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น สามารถลดลงได้ 0.75 บาท/ลิตรสำหรับน้ำมันเบนซิน 95  ลดลง 0.65 บาท/ลิตรสำหรับแก๊สโซฮอล์ 95 E10 และลดลง 0.15 บาท/ลิตรสำหรับน้ำมันดีเซล  ส่วนแก๊สโซฮอล์ 91 E10, 95 E20, และ E85 ราคา ณ โรงกลั่นคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง       

          ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาแนวคิด Import Parity คือ  การใช้ราคา CIF เป็นราคาอ้างอิงในโครงสร้างราคา ณ โรงกลั่น ในปัจจุบัน  ประเทศไทยมีความสามารถในการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปสูงกว่าความต้องการในประเทศจนทำให้สามารถส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปได้  ราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นจึงควรพิจารณาให้เป็นราคาที่อ้างอิงราคา FOB ในตลาด SIMEX  ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงสำหรับการส่งออกน้ำมันในประเทศสิงคโปร์  ราคา FOB เป็นราคาที่ผู้ซื้อน้ำมันเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนส่งน้ำมัน ค่าประกันภัยและค่าสูญเสีย ซึ่งแตกต่างไปจากราคา CIF ที่ผู้ขายน้ำมันเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด  

การใช้ราคา FOB เป็นราคาอ้างอิงสำหรับราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นจะทำให้ราคา ณ โรงกลั่นลดลงเท่ากับค่าขนส่งน้ำมัน ค่าประกันภัยและค่าสูญเสียจากสิงค์โปร์มาศรีราชา การอ้างอิงราคา FOB เป็นราคา ณ โรงกลั่นทำให้การส่งออกน้ำมันสามารถแข่งขันกับราคาส่งออกของตลาด SIMEX ได้  การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจะแข่งขันกับน้ำมันที่กลั่นในประเทศได้ยากขึ้น  แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวม  การเปลี่ยนสถานภาพจากผู้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปสุทธิเป็นผู้ส่งออกสุทธิ แสดงว่า ประเทศไทยมีน้ำมันมากพอที่จะทำให้สังคมส่วนรวมได้ใช้น้ำมันในราคาที่ต่ำลง

2.โครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายส่ง

ตารางที่ 2 แสดงโครงสร้างราคาขายส่งของราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ วันที่ 12 ก.ย. พ.ศ. 2566 ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้

  1. ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นที่กำหนดในโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น
  2.  ภาษีสรรพสามิต ตามประกาศของกรมสรรพสามิตดังในสดมภ์ที่ 3 ในตารางที่ 2 ตามกฏกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565
  3. ภาษีเทศบาล กำหนดไว้ร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต
  4. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดังในสดมภ์ที่ 5 ในตารางที่ 2 ตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ฉบับที่ 152 พ.ศ. 2566
  5. กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กำหนดไว้ที่ 0.0500 บาท/ลิตร สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด ยกเว้น LPG ที่ไม่มีการจัดเก็บ
  6. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7

ตารางที่ 2 โครงสร้างราคาน้ำมันขายส่ง ณ วันที่ 12 ก.ย. 2566 (บาท/ลิตร)

ประเภทเชื้อเพลิงราคา ณ โรงกลั่นฯภาษีสรรพสามิตภาษีเทศบาลกองทุนน้ำมันฯกองทุนอนุรักษ์ฯราคาขายส่งVATรวม
ULG9525.12806.50000.65009.38000.050041.70802.919644.6276
GASOHOL95 E1024.65015.85000.58502.80000.050033.93512.375536.3106
GASOHOL9124.20955.85000.58502.80000.050033.49452.344635.8391
GASOHOL95 E2024.74695.20000.52000.81000.050031.32692.192933.5198
GASOHOL95 E8527.75650.97500.09750.81000.050029.68902.078231.7672
H-DIESEL B728.18375.99000.5990-6.07000.050028.75272.012730.7654
H-DIESEL28.18375.99000.5990-6.07000.050028.75272.012730.7654
H-DIESEL B2028.18375.99000.5990-6.07000.050028.75272.012730.7654
FO 600 (1) 2%S20.61050.64000.06400.06000.050021.42451.499722.9242
FO 1500 (2) 2%S19.23890.64000.06400.06000.050020.05291.403721.4566
LPG (BAHT/KILOGRAM)22.98172.17000.2170-4.45080.000020.91791.464322.3822
แหล่งที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

          โครงสร้างราคาขายส่งควรเป็นโครงสร้างราคาที่สะท้อนค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำมันสำเร็จรูปที่ระดับขายส่ง  โดยไม่มีการบิดเบือนราคาและไม่มีค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดหานำมันสำเร็จรูปโดยตรง  องค์ประกอบกองทุนอนุรักษ์พลังงานมีวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บค่าอนุรักษ์พลังงานจากผู้ใช้น้ำมันทุกรายในอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร เพื่อดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงาน จึงไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาน้ำมันสำเร็จรูปโดยตรง การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานควรเป็นความรับผิดชอบของสังคมส่วนรวม  ไม่ใช่เฉพาะผู้ใช้น้ำมัน  จึงควรพิจารณาให้มีการจัดทำแผนงานอนุรักษ์พลังงานประจำปีเพื่อของบประมาณมาดำเนินงาน แทนที่จะจัดเก็บจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานอย่างที่ปฏิบัติในปัจจุบัน

          องค์ประกอบภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันในโครงสร้างราคาน้ำมันขายส่งเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการบิดเบือนของราคาน้ำมันสำเร็จรูป  ยกตัวอย่าง   เมื่อพิจารณาราคา ณ โรงกลั่น ซึ่งเป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนในการจัดหาน้ำมันสำเร็จรูปตามโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น ราคาน้ำมัน ULG65 ต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซล B7 อยู่ประมาณลิตรละ 3 บาท  แต่การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันทำให้มีการบิดเบือนราคาน้ำมันขายส่งที่ส่งสัญญานของลำดับค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำมันที่ไม่ถูกต้อง

          ตามกฎกระทรวงที่กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565 ภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซล ได้เพิ่มจาก 1.44 บาท/ลิตร เป็น 5.99 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. พ.ศ. 2566 แต่มีการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชย 6.07 บาท/ลิตร ในขณะที่มีการเก็บเงินกองทุนน้ำมันจากผู้ใช้น้ำมัน ULG95 ลิตรละ 9.38 บาท การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาขายส่งน้ำมัน ULG95 สูงกว่าราคาขายส่งน้ำมันดีเซล B7 ประมาณลิตรละ 14 บาท  เป็นการแสดงว่า  องค์ประกอบกองทุนน้ำมันและภาษีสรรพสามิตทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำมัน ULG95 เป็นผู้อุดหนุนกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซล  ซึ่งทำให้โครงสร้างราคาขายส่งน้ำมันบิดเบือนไปจากต้นทุนการจัดหาน้ำมันที่แท้จริง  จึงสมควรพิจารณาทบทวนวัตถุประสงค์ในการกำหนดองค์ประกอบกองทุนน้ำมันและภาษีสรรพสามิต

องค์ประกอบกองทุนน้ำมัน

วัตถุประสงค์ของ พรบ. กองทุนน้ำมันคือการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมัน  ไม่ใช่การอุดหนุนราคาน้ำมัน  จึงควรพิจารณากำหนดมาตรการการรักษาเสถียรภาพราคาที่เป็นรูปธรรมโดยไม่มีการอุดหนุนราคาระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำมัน  และพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ใช้น้ำมันโดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้น้ำมัน และใช้มาตรการช่วยเหลือที่ไม่กระทบต่อโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่สะท้อนต้นทุนการจัดหาที่แท้จริง

องค์ประกอบภาษีสรรพสามิต

          นอกจากภาษีสรรพสามิตในโครงสร้างราคาขายส่งน้ำมันจะเป็นแหล่งรายได้หนึ่งของรัฐบาลแล้วองค์ประกอบภาษีสรรพสามิตในโครงสร้างราคาขายส่งในปัจจุบันยังถูกใช้เป็นกลไกอย่างหนึ่งในการอุดหนุนผู้ใช้น้ำมัน เช่น การลดภาษีน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นมาตรการที่ทำให้เกิดการบิดเบือนราคาในโครงสร้างราคาขายส่งน้ำมันในลักษณะเดียวกันกับองค์ประกอบกองทุนน้ำมัน  การอุดหนุนน้ำมันดีเซลมีวัตถุประสงค์ที่จะลดค่าขนส่ง ซึ่งทำให้ประชาชนทุกคนได้รับประโยชน์ จึงไม่ควรเป็นภาระของผู้ใช้น้ำมันเบนซิน   

          แนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของการอุดหนุนจากการลดภาษีน้ำมันดีเซล คือการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้น้ำมันดีเซลที่ให้การอุดหนุน  เช่น  กลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลที่ไม่ใช่รถยนต์ดีเซลนั่งส่วนบุคคล  และปรับภาษีรถประจำปีสำหรับรถยนต์ดีเซลนั่งส่วนบุคคลที่ได้รับอานิสงค์จากการอุดหนุน ในอัตราที่เท่ากับเงินที่ได้รับจากการลดภาษีน้ำมันดีเซล 

          จากจำนวนรถยนต์ดีเซลนั่งส่วนบุคคลจำนวนกว่า 3.6 ล้านคัน ณ สิ้นปี พ.ศ. 2564 เงินชดเชยที่ได้รับ 6 บาท/ลิตร  ระยะทางเฉลี่ยของการใช้รถยนต์ประมาณ 20,000 กิโลเมตร/ปี  และอัตราการใช้น้ำมันดีเซล 18 กิโลเมตร/ลิตร  ภาษีรถยนต์ประจำปีสำหรับรถยนต์ดีเซลนั่งส่วนบุคคลจะประมาณได้เท่ากับ (20,000 กม/ปี x 6.00 บาท/ลิตร)/(18 กม/ลิตร) หรือ 6,666.67 บาท/คัน  ซึ่งจะทำให้เก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 24,000 ล้านบาท มาชดเชยภาระค่าใช้จ่ายการอุดหนุนได้บางส่วน

          การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตในโครงสร้างราคาขายส่งน้ำมันควรเป็นอัตราเดียวสำหรับน้ำมันทุกประเภทซึ่งไม่ทำให้เกิดการบิดเบือนราคาน้ำมันและไม่สูงจนเป็นภาระของผู้ใช้น้ำมัน  โดยพิจารณาจัดเก็บภาษีอื่นเพื่อชดเชยรายได้จากภาษีสรรพสามิตที่ลดลง เช่นภาษีคาร์บอน น้ำมันเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์  ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยได้นำเสนอเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ในอัตราร้อยละ 20 ภายในปี 2570 ต่อที่ประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 ที่ประเทศสกอต์แลนด์ (COP26) 

          รัฐบาลควรกำหนดแนวทางในการเก็บภาษีสรรพสามิตที่ชัดเจน  ภาษีสรรพสามิตควรเป็นองค์ประกอบภาษีในโครงสร้างราคาน้ำมันขายส่งที่สะท้อนต้นทุนในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก   โดยอัตราภาษีจะเป็นอัตราที่สะท้อนลำดับของต้นทุนการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  การกำหนดอัตราของน้ำมันแต่ละประเภทอยู่กับข้อมูลทางเทคนิคการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามประเภทน้ำมันที่เป็นสากล  การกำหนดตัวชี้วัดความเสียหายที่เกิดจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  และเป้าหมายรายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล

ตารางที่ 3 เปรียบเทียบอัตราภาษีที่สะท้อนการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและอัตราสรรพสามิตในปี 2564

ประเภทอัตราภาษีสรรพสามิต (บาท/ลิตร)เปลี่ยนแปลง (บาท/ลิตร)ปริมาณการใช้ (ล้านลิตร/วัน)ภาษีสรรพสามิตที่เปลี่ยนแปลง (ล้านบาท/วัน)
ปัจจุบันบนพื้นฐาน CO2e
ULG6.50 5.7794-0.72060.79-0.57
GASOHOL95 E105.85 5.5709-0.279115.27-4.26
GASOHOL915.85 5.5709-0.27918.21-2.29
GASOHOL95 E205.20 4.9454-0.25466.27-1.60
GASOHOL95 E850.975 2.23491.25991.291.63
H-DIESEL B75.990 6.67400.684041.7628.56
H-DIESEL B105.990 6.55430.564316.229.15
H-DIESEL5.990 6.95310.96312.082.00
H-DIESEL B205.990 6.15550.16553.470.57
FO 600 (1) 2%S0.640   ไม่มีข้อมูล0.00
FO 1500 (2) 2%S0.640  ไม่มีข้อมูล0.00
LPG  (บาท/กก.)2.170-2.170015.30-33.20
รวม0.00
ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้เขียน

โครงสร้างภาษีสรรพสามิตในตารางที่ 3 เป็นตัวอย่างหนึ่งที่มาจากการศึกษาเบื้องต้นโดยคณะผู้เขียนในปี 2564  ที่ประมาณจากข้อมูลการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสากล  ตัวชี้วัดมูลค่าความเสียหายจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อ้างอิงจากพิสัยราคาคาร์บอนเครดิตในตลาดโลก  และกำหนดเป้าหมายรายได้จากการเก็บภาษีให้เท่ากับรายได้ที่จัดเก็บจากภาษีสรรพสามิตเดิม   ตารางที่ 3 แสดงตัวอย่างหนึ่งของโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่กำหนดให้อัตราภาษีของน้ำมันแต่ละประเภทสะท้อนลำดับของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  และเป็นอัตราที่ทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีเท่ากับรายได้ที่จัดเก็บจากภาษีสรรพสามิตเดิม  การกำหนดองค์ประกอบภาษีสรรพสามิตในโครงสร้างราคาขายส่งน้ำมันตามแนวทางที่ได้นำเสนอจะทำให้ไม่มีการบิดเบือนในราคาขายส่งน้ำมัน

ราคาเอทานอลและราคาไบโอดีเซล

          ณ วันที่ 12 ก.ย. พ.ศ. 2566 ราคาเอทานอล ซึ่งกำหนดไว้ที่ 29.10 บาท/ลิตร และราคาไบโอดีเซล (B100) ซึ่งกำหนดไว้ที่ 32.19 บาท/ลิตร สูงกว่าราคาน้ำมันเบนซิน และราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ โรงกลั่น ดังในตารางที่ 2 จึงน่าจะทบทวนการกำหนดราคาเอทานอลและราคาไบโอดีเซล (B100) ให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันด้วย เพื่อลดภาระของผู้ใช้น้ำมัน

3. การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีก

          โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกประกอบไปด้วยองค์ประกอบราคาน้ำมันขายส่ง  ค่าการตลาด และภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าการตลาด  ตารางที่ 3 แสดงราคาขายปลีกน้ำมัน ณ วันที่ 12 ก.ย. พ.ศ. 2566  องค์ประกอบของค่าการตลาดของน้ำมันทุกชนิดโดยเฉลี่ยใน กทม. ในช่วง 1-12 ก.ย. พ.ศ. 2566 เท่ากับ 2.38 บาท/ลิตร  ในขณะที่ กบง. มีมติให้มีกำหนดค่าการตลาดในภาพรวม  โดยให้ค่าการตลาดเฉลี่ยของน้ำมันทุกประเภทเท่ากับ 2.00 บาท/ลิตร  ทำให้ค่าการตลาดโดยเฉลี่ยในปัจจุบันสูงกว่าอัตราที่กำหนดโดยมติ กบง. ลิตรละ 38 สตางค์  การปรับค่าการตลาดเฉลี่ยให้มีอัตรา 2.00 บาท/ลิตร  ตามมติ กบง. จะทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันทุกประเภทโดยเฉลี่ยลดลงลิตรละ 38 สตางค์  และภาษีมูลค่าเพิ่มลดลงลิตรละ 2.7 สตางค์รวมเป็นลิตรละ 40.7 สตางค์

ตารางที่ 4 โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีก ณ วันที่ 12 ก.ย. 2566

หน่วย: บาท/ลิตร

ประเภทเชื้อเพลิงราคาขายส่งค่าการตลาดVATราคาขายปลีก
ULG9544.62762.62840.184047.44
GASOHOL95 E1036.31063.12090.218539.65
GASOHOL9135.83913.30930.231639.38
GASOHOL95 E2033.51983.57030.249937.34
GASOHOL95 E8531.76725.62880.394037.79
H-DIESEL B730.76541.09780.076831.94
H-DIESEL30.76541.09780.076831.94
H-DIESEL B2030.76541.09780.076831.94
FO 600 (1) 2%S22.9242   
FO 1500 (2) 2%S21.4566   
LPG (BAHT/KILOGRAM)22.38223.25660.228025.87

4. สรุปสิ่งที่ต้องดำเนินการ

          การปรับโครงสร้างน้ำมันตามแนวทางที่ได้นำเสนอ  เป็นการปรับโครงสร้างราคา ณ โรงกลั่น  การปรับโครงสร้างราคาขายส่ง  และการปรับโครงสร้างราคาขายปลีก ที่มีข้อสรุปต่อไปนี้

การปรับโครงสร้างราคา ณ โรงกลั่น

1. ยกเลิกประกาศกรมธุรกิจพลังงานเรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซิน พ.ศ. 2562 และประกาศกรมธุรกิจพลังงานเรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ พ.ศ. 2562 และประกาศใหม่ให้ลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์ สอดคล้องกับลักษณะและคุณภาพสากลซึ่งจะลดราคาน้ำมันเบนซิน 95 และแก๊สโซฮอล์ 95 E10 ได้ 0.46 บาท/ลิตร และ 0.35 บาท/ลิตร ตามลำดับได้ทันที

2. ยกเลิกค่าใช้จ่ายในการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง

          การปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นจะทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้ 0.61 บาท/ลิตรสำหรับน้ำมันเบนซิน 95  ลดลง 0.50 บาท/ลิตรสำหรับแก๊สโซฮอล์ 95 E10 0.15 บาท/ลิตรสำหรับน้ำมันดีเซล  ส่วนราคา ณ โรงกลั่นสำหรับแก๊สโซฮอล์ 91 E10, 95 E20, E85 ยังคงเป็นราคาเดิม

การปรับโครงสร้างราคาขายส่ง

1. ทบทวนบทบาทของกองทุนน้ำมันที่มีวัตถุประสงค์ในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันตามวัตถุประสงค์ โดยไม่ใช้กองทุนน้ำมันในลักษณะที่ทำให้เกิดการอุดหนุนระหว่างกลุ่มผู้ใช้

2. ปรับภาษีสรรพสามิตให้เป็นอัตราเดียวสำหรับน้ำมันทุกประเภทเพื่อไม่มีการบิดเบือนในราคาขายส่งน้ำมัน

3. ปรับเพิ่มอัตราภาษีรถประจำปีสำหรับรถยนต์ดีเซลนั่งส่วนบุคคลสูงขึ้นบนพื้นฐานเงินชดเชยน้ำมันดีเซลที่ได้รับจากการปรับภาษีสรรพสามิตในข้อ 2 โดยประมาณจากระยะทางเฉลี่ยที่ใช้งานต่อปีและอัตราการใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ย กม./ลิตร

4. ศึกษาทบทวนวัตถุประสงค์ในการเก็บภาษีสรรพสามิตให้ชัดเจน โดยปรับแนวคิดการเก็บภาษีสรรพสามิตจากโครงสร้างภาษีปัจจุบันให้สะท้อนต้นทุนในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

5. ทบทวนการกำหนดราคาเอทานอล และราคาไบโอดีเซล (B100) ให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันด้วย เพื่อลดภาระของผู้ใช้น้ำมัน

การปรับโครงสร้างราคาขายปลีก

          การปรับโครงสร้างราคาขายปลีกเป็นการปรับลดค่าการตลาดของน้ำมันทุกประเภทโดยเฉลี่ยให้เท่ากับลิตรละ 2 บาทตามมติ กบง.