การปรับโครงสร้าง ราคาน้ำมัน สำเร็จรูปในประเทศ

การปรับโครงสร้าง ราคาน้ำมัน สำเร็จรูปในประเทศ

Authors

รศ. ดร. วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล ศ. ดร. ธีระพงษ์ วิกิตเศรษฐ ศ. ดร. จิราวัลย์ จิตรถเวช อาจารย์เกษียณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


บทสรุปผู้บริหาร

1. แนวคิดในการปรับ ราคาน้ำมัน

          ราคาน้ำมันควรเป็นราคาที่สะท้อนค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการจัดหาน้ำมันสำเร็จรูป  โดยไม่มีการบิดเบือนราคา  การปรับราคาน้ำมันเป็นการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปตั้งแต่ที่ระดับราคา ณ โรงกลั่น  ราคาน้ำมัน ขายส่งน้ำมัน  และ ราคาน้ำมัน ขายปลีกน้ำมัน

2. การปรับโครงสร้างราคา ณ โรงกลั่น

           โครงสร้างราคา ณ โรงกลั่นมีองค์ประกอบที่สามารถพิจารณาปรับได้ดังต่อไปนี้

2.1 ยกเลิกองค์ประกอบค่าปรับคุณภาพน้ำมัน

องค์ประกอบค่าคุณภาพในโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นในปัจจุบัน  เป็นการปรับคุณภาพน้ำมันให้สูงกว่ามาตรฐานน้ำมันสากล  ถ้าพิจารณาว่า  มาตรฐานน้ำมันสากลเพียงพอสำหรับประเทศไทย  ก็สามารถยกเลิกองค์ประกอบดังกล่าวได้ทันที  โดยยกเลิกประกาศกรมธุรกิจพลังงานเรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซิน พ.ศ. 2562 และประกาศกรมธุรกิจพลังงานเรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันแก๊สโซฮอล์     พ.ศ. 2562 และประกาศใหม่ให้ลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์สอดคล้องกับลักษณะและคุณภาพสากล  ซึ่งจะลด ราคาน้ำมันเบนซิน 95 และแก๊สโซฮอล์ 95 E10 ได้ 0.46 บาท/ลิตร และ 0.35 บาท/ลิตร ตามลำดับได้ทันที  

2.2  ยกเลิกองค์ประกอบค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง 

          การสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงเป็นมาตรการที่จำเป็นสำหรับประเทศที่ยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบ  เพื่อสำรองน้ำมันไว้ใช้เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน   ในปัจจุบัน โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยมีกำลังการกลั่นที่สูงกว่าความต้องการน้ำมันสำเร็จรูป  ทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปได้  ในช่วงปี พ.ศ. 2560-2562 ก่อนการระบาดโควิค-19 มีการส่งออกน้ำมันเบนซิน ร้อยละ 9.97 ของปริมาณจำหน่ายโดยเฉลี่ย และมีการส่งออกน้ำมันดีเซลร้อยละ 20.35 ของปริมาณจำหน่ายโดยเฉลี่ย  

ในช่วงปี พ.ศ. 2563-2565 ระหว่างการระบาดของโควิค-19 การส่งออกน้ำมันเบนซิน ยังคงอยู่ในระดับเดิมแต่ปริมาณจำหน่ายทั้งหมดลดลง ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.85 ของปริมาณจำหน่ายโดยเฉลี่ย  ในทำนองเดียวกัน การส่งออกปริมาณน้ำมันดีเซลก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21.24 ของปริมาณจำหน่ายโดยเฉลี่ย  จึงน่าจะมีการทบทวนความจำเป็นที่ต้องสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง ให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันที่มีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ถ้าพิจารณาให้ยกเลิกองค์ประกอบการสำรองเพื่อความมั่นคง ซึ่งสามารถทำได้ทันที  ก็จะทำให้ราคา ณ โรงกลั่นสำหรับน้ำมันทุกชนิดลดลง 0.15 บาท/ลิตร   

2.3 ทบทวนแนวคิดในการอ้างอิงราคา ณ โรงกลั่น

          การอ้างอิงราคา ณ โรงกลั่นในปัจจุบันอยู่ภายใต้แนวคิด Import Parity ซึ่งก็ คือ การใช้ราคานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป CIF เป็นราคาอ้างอิงในโครงสร้างราคา ณ โรงกลั่น ซึ่งมีความเหมาะสมในกรณีที่ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ  แต่ในปัจจุบัน  ประเทศไทยมีความสามารถในการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปสูงกว่าความต้องการในประเทศจนทำให้สามารถส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปได้  ราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นจึงควรพิจารณาให้เป็นราคาที่อ้างอิงราคา FOB ในตลาด SIMEX  ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงสำหรับการส่งออกน้ำมันในประเทศสิงคโปร์ที่เป็นสากล  ราคา FOB เป็นราคาที่ผู้ซื้อน้ำมันเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนส่งน้ำมัน ค่าประกันภัย และค่าสูญเสีย ซึ่งแตกต่างไปจากราคา CIF ที่ผู้ขายน้ำมันเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด  

การใช้ราคา FOB เป็นราคาอ้างอิงสำหรับ ราคาน้ำมัน สำเร็จรูป ณ โรงกลั่นจะทำให้ราคา ณ โรงกลั่นลดลงเท่ากับค่าขนส่งน้ำมัน ค่าประกันภัย และค่าสูญเสียจากสิงค์โปร์มาศรีราชา การอ้างอิงราคา FOB เป็นราคา ณ โรงกลั่นจะเพิ่มขีดความสามารถให้การส่งออกน้ำมันของประเทศไทยสามารถแข่งขันกับราคาส่งออกน้ำมันของตลาด SIMEX ได้ 

3. การ ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ขายส่ง   

          โครงสร้างราคาขายส่งน้ำมันมีองค์ประกอบที่สามารถพิจารณาปรับได้ดังต่อไปนี้

3.1 ยกเลิกองค์ประกอบกองทุนอนุรักษ์พลังงาน

กองทุนอนุรักษ์พลังงานมีวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บค่าอนุรักษ์พลังงานจากผู้ใช้น้ำมันทุกรายในอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร เพื่อดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงาน จึงไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาน้ำมันสำเร็จรูปโดยตรง การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานควรเป็นความรับผิดชอบของสังคมส่วนรวม  ไม่ใช่เฉพาะผู้ใช้น้ำมัน  จึงควรพิจารณาให้ยกเลิกการเก็บกองทุนอนุรักษ์พลังงาน  ซึ่งสามารถทำได้ทันที  และกำหนดให้มีการจัดทำแผนงานอนุรักษ์พลังงานประจำปีเพื่อของบประมาณมาดำเนินงาน แทนที่จะจัดเก็บจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานอย่างที่ปฏิบัติในปัจจุบัน  การยกเลิกองค์ประกอบกองทุนอนุรักษ์พลังงานจะทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้อีกลิตรละ 5 สตางค์    

3.2 ทบทวนการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

วัตถุประสงค์ของ พรบ. กองทุนน้ำมัน คือ การรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมัน  แต่การบริหารกองทุนน้ำมันในปัจจุบันมีลักษณะของการอุดหนุนราคาน้ำมันระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำมัน  โดยกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซินเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำมันหลักที่รับภาระในการอุดหนุนกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลและผู้ใช้น้ำมันประเภทอื่นจากการจัดเก็บค่ากองทุนน้ำมัน  ซึ่งทำให้เกิดการบิดเบือนราคา  จึงควรพิจารณาทบทวนบทบาทกองทุนน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน โดยกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน

3.3 แนวทางการลดภาระค่าใช้จ่ายจากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล

          นอกจากภาษีสรรพสามิตในโครงสร้างราคาขายส่งน้ำมันจะเป็นแหล่งรายได้หนึ่งของรัฐบาลแล้วองค์ประกอบภาษีสรรพสามิตในโครงสร้างราคาขายส่งในปัจจุบันยังถูกใช้เป็นกลไกในการอุดหนุนผู้ใช้น้ำมัน เช่น การลดภาษีน้ำมันดีเซล ซึ่งครอบคลุมผู้ใช้รถยนต์ดีเซลทุกประเภท ทำให้เกิดการบิดเบือนราคาในโครงสร้างราคาขายส่งน้ำมันในลักษณะเดียวกันกับองค์ประกอบกองทุนน้ำมัน 

แนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของการอุดหนุนจากการลดภาษีน้ำมันดีเซล คือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้น้ำมันดีเซลที่ต้องการอุดหนุน  เช่น  กลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลที่ไม่ใช่รถยนต์ดีเซลนั่งส่วนบุคคล  และปรับภาษีรถประจำปีสำหรับรถยนต์ดีเซลนั่งส่วนบุคคลที่ได้รับอานิสงค์จากการอุดหนุน ในอัตราที่เท่ากับเงินที่ได้รับจากการลดภาษีน้ำมันดีเซล 

จากจำนวนรถยนต์ดีเซลนั่งส่วนบุคคลจำนวนกว่า 3.6 ล้านคัน ณ สิ้นปี พ.ศ. 2564 เงินชดเชยที่ได้รับ 6 บาท/ลิตร  ระยะทางเฉลี่ยของการใช้รถยนต์ประมาณ 20,000 กิโลเมตร/ปี  และอัตราการใช้น้ำมันดีเซล 18 กิโลเมตร/ลิตร  ปรับเพิ่มอัตราภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์ดีเซลนั่งส่วนบุคคลที่ประมาณจากการใช้น้ำมันที่ได้รับการชดเชยเท่ากับ (20,000 กม/ปี x 6.00 บาท/ลิตร)/(18 กม/ลิตร) หรือ 6,666.67 บาท/คัน  ซึ่งจะทำให้เก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 24,000 ล้านบาท มาชดเชยภาระค่าใช้จ่ายการอุดหนุนได้บางส่วน

3.4 ทบทวนแนวคิดในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต

          เพื่อไม่ให้มีการบิดเบือนในราคาน้ำมัน  การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตในโครงสร้างราคาขายส่งน้ำมันควรเป็นอัตราเดียวสำหรับน้ำมันทุกประเภทซึ่งไม่ทำให้เกิดการบิดเบือนราคาน้ำมันและไม่สูงจนเป็นภาระของผู้ใช้น้ำมัน  โดยพิจารณาจัดเก็บภาษีอื่นเพื่อชดเชยรายได้จากภาษีสรรพสามิตที่ลดลง เช่น ภาษีคาร์บอน น้ำมันเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์  ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยได้นำเสนอเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ในอัตราร้อยละ 20 ภายในปี 2570 ต่อที่ประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 ที่ประเทศสกอต์แลนด์ (COP26) 

ในเชิงนโยบาย  รัฐบาลสามารถควรให้มีการศึกษาผลดีผลเสียในการใช้ภาษีคาร์บอนแทนภาษีสรรพสามิต  โดยกำหนดวัตถุประสงค์ให้ภาษีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบในโครงสร้างราคาน้ำมันขายส่งที่สะท้อนต้นทุนในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก   โดยให้อัตราภาษีสะท้อนลำดับของต้นทุนการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  การกำหนดอัตราภาษีคาร์บอนของน้ำมันแต่ละประเภทขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเทคนิคการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสากล  ตามประเภทน้ำมัน การกำหนดตัวชี้วัดความเสียหายที่เกิดจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  และการกำหนดเป้าหมายรายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบอัตราภาษีที่สะท้อนการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและอัตราสรรพสามิตในปี 2564

ประเภทอัตราภาษีสรรพสามิต (บาท/ลิตร)เปลี่ยนแปลง (บาท/ลิตร)ปริมาณการใช้ (ล้านลิตร/วัน)ภาษีสรรพสามิตที่เปลี่ยนแปลง (ล้านบาท/วัน)
ปัจจุบันบนพื้นฐาน CO2e
ULG6.50 5.7794-0.72060.79-0.57
GASOHOL95 E105.85 5.5709-0.279115.27-4.26
GASOHOL915.85 5.5709-0.27918.21-2.29
GASOHOL95 E205.20 4.9454-0.25466.27-1.60
GASOHOL95 E850.975 2.23491.25991.291.63
H-DIESEL B75.990 6.67400.684041.7628.56
H-DIESEL B105.990 6.55430.564316.229.15
H-DIESEL5.990 6.95310.96312.082.00
H-DIESEL B205.990 6.15550.16553.470.57
FO 600 (1) 2%S0.640   ไม่มีข้อมูล0.00
FO 1500 (2) 2%S0.640  ไม่มีข้อมูล0.00
LPG  (บาท/กก.)2.170-2.170015.30-33.20
รวม0.00

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้เขียน

โครงสร้างภาษีที่สะท้อนการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตารางที่ 1 เป็นตัวอย่างหนึ่งที่มาจากการศึกษาเบื้องต้นโดยคณะผู้เขียนในปี 2564  ที่ประมาณจากข้อมูลการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสากล  ตัวชี้วัดมูลค่าความเสียหายจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อ้างอิงจากพิสัยราคาคาร์บอนเครดิตในตลาดโลก  และกำหนดเป้าหมายรายได้จากการเก็บภาษีให้เท่ากับรายได้ที่จัดเก็บจากภาษีสรรพสามิตเดิม  ซึ่งควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดของผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีคาร์บอนต่อราคาน้ำมันและรายได้ของรัฐบาล

3.5 ทบทวนการกำหนดราคาเอทานอลและราคาไบโอดีเซล

          ณ วันที่ 12 ก.ย. พ.ศ. 2566 ราคาเอทานอล ซึ่งกำหนดไว้ที่ 29.10 บาท/ลิตร และราคาไบโอดีเซล (B100) ซึ่งกำหนดไว้ที่ 32.19 บาท/ลิตร สูงกว่าราคาน้ำมันเบนซิน และราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ โรงกลั่น ดังในตารางที่ 2 จึงน่าจะทบทวนการกำหนดราคาเอทานอลและราคาไบโอดีเซล (B100) ให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันบนพื้นฐานของต่าความร้อนด้วย เพื่อลดภาระของผู้ใช้น้ำมัน

4. การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีก

          โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกประกอบไปด้วยองค์ประกอบราคาน้ำมันขายส่ง  ค่าการตลาด และภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าการตลาด  องค์ประกอบของค่าการตลาดของน้ำมันทุกชนิดโดยเฉลี่ยใน กทม. ในช่วง 1-12 ก.ย. พ.ศ. 2566 เท่ากับ 2.38 บาท/ลิตร  ในขณะที่ กบง. มีมติให้มีการกำหนดค่าการตลาดในภาพรวม  โดยให้ค่าการตลาดเฉลี่ยของน้ำมันทุกประเภทเท่ากับ 2.00 บาท/ลิตร  ทำให้ค่าการตลาดโดยเฉลี่ยในปัจจุบันสูงกว่าอัตราที่กำหนดโดยมติ กบง. ลิตรละ 38 สตางค์  การปรับค่าการตลาดเฉลี่ยให้มีอัตรา 2.00 บาท/ลิตร  ตามมติ กบง. จะทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันทุกประเภทโดยเฉลี่ยลดลงลิตรละ 38 สตางค์  และภาษีมูลค่าเพิ่มลดลงลิตรละ 2.7 สตางค์รวมเป็นลิตรละ 40.7 สตางค์