“Redesigning Our Common Future for Sustainable Transformation” การออกแบบอนาคตสำหรับการพลิกโฉมที่ยั่งยืน

“Redesigning Our Common Future for Sustainable Transformation” การออกแบบอนาคตสำหรับการพลิกโฉมที่ยั่งยืน

โดย ศ.ดร.ยงยุทธ  ยุทธวงศ์
ในงาน ประชุมวิชาการระดับนานาชาติ The 3rd NIC-NIDA Conference in 2024

สรุปโดย ศาสตราจารย์ ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ อธิการบดี

“Redesigning Our Common Future for Sustainable Transformation” การออกแบบอนาคตสำหรับการพลิกโฉมที่ยั่งยืน

            องค์ปาฐกของงานประชุมวิชาการ NIC-NIDA 2024  โดย ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ์  ยุทธวงศ์  ในหัวข้อ “Redesigning Our Common Future for Sustainable Transformation” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ที่นิด้า น่าสนใจ ให้แง่คิด รวมทั้งมีประเด็นที่พวกเราจะได้ช่วยกันคิดต่อว่า จาก Sustainable Development Goals (SDGs) ว่าจะแปลงให้เป็นการพลิกโฉมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Transformation) ได้อย่างไร

            ท่านเริ่มจากเหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน  และพัฒนาการของแนวคิดที่ริเริ่มโดยองค์การสหประชาชาติ  จากการประชุมว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Earth Summit) ในปี 1992 ที่บราซิล ต่อมาเป็นการประชุมเพื่อกำหนด Millenium Development Goals (MDGs) ในปี 2000 ที่ให้ความสำคัญกับ 8 เป้าหมายในเรื่องการลดความยากจน การจบการศึกษาพื้นฐาน ความเสมอภาคทางเพศ การลดอัตราการตายของเด็ก การปรับปรุงสุขภาพของมารดา การต่อสู้เอดส์ โรคมาลาเรีย และโรคอื่น  ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และการสร้างภาคีความร่วมมือระดับโลก กำหนดให้แล้วเสร็จในปี 2015  จากนั้นได้พัฒนามาเป็นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 เป้าหมาย ซึ่งกำหนดเวลาตั้งแต่ปี 2015-2030 

“Redesigning Our Common Future for Sustainable Transformation” การออกแบบอนาคตสำหรับการพลิกโฉมที่ยั่งยืน

          จากผลการประเมินความก้าวหน้าในการดำเนินงานเรื่อง SDGs ของทั่วโลกในปี 2023  พบว่าการดำเนินงานที่เป็นไปตามเป้าหมายมีเพียง 15%  ดำเนินการได้ปานกลางมี 48% และที่ชะงักงันหรือถอยหลังมี 37%  สำหรับประเทศไทยมีคะแนนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นที่หนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน  และเป็นอันดับ 43 ของโลก (ผลประเมินปี 2023)  โดยเป้าหมายที่ไทยทำได้ดีคือเป้าหมายที่ 1 ลดความยากจน และเป้าหมายที่ 4 เรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา

          ท่านยังได้กล่าวถึงความหมายของคำว่าการพัฒนา (development) และการพลิกโฉม (transformation) โดยท่านได้ให้ความหมายว่า  การพัฒนา คือ “การเติบโต หรือความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องโดยค่อยๆ เปลี่ยนแปลงทั้งกระบวนการ”   ส่วนคำว่าการพลิกโฉม  “เป็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบหรือธรรมชาติของสิ่งนั้นโดยกระบวนการที่ฉับพลัน” 

          ท่านยกตัวอย่างพัฒนาการของผีเสื้อเพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างการพัฒนาและการพลิกโฉม  ผีเสื้อมีพัฒนาการเป็น 4 ระยะ คือ จากไข่ มาเป็นหนอน ดักแด้ และผีเสื้อ  โดยการพัฒนาจะเกิดขึ้นในแต่ระยะ  แต่การพลิกโฉมจะเกิดขึ้นเมื่อผีเสื้อมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอย่างสิ้นเชิง  เช่น จากไข่ค่อยๆ สะสมการพัฒนาเป็นตัวหนอน  เมื่อเป็นตัวหนอนนั่นก็เป็นการพลิกโฉมครั้งแรก และการพลิกโฉมเกิดขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องกระทั่งเป็นผีเสื้อ ปกติเรามักใช้รูปพัฒนาการของผีเสื้อเป็นตัวอย่างของการพลิกโฉมจากไข่มาเป็นผีเสื้อทีเดียว  แต่เมื่อท่านอธิบายทำให้เกิดความชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาและการพลิกโฉมได้เป็นอย่างดี  ดังนั้นการคาดหวังผลสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงอาจจะต้องมีการพลิกโฉมหลายครั้ง

“Redesigning Our Common Future for Sustainable Transformation” การออกแบบอนาคตสำหรับการพลิกโฉมที่ยั่งยืน

 

         ตัวอย่างของการพลิกโฉมครั้งใหญ่ คือ อินเทอร์เน็ต พลังแสงอาทิตย์  รถยนต์ไฟฟ้า  การปฏิวัติเขียว (green revolution) และการแพทย์ที่อาศัยยีนส์เฉพาะบุคคลเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการป้องกัน วินิจฉัยและการรักษา (personalized medicine)  ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ก็เกิดการพลิกโฉมหลายอย่าง  เช่น วัคซีน m-RNA การทำงานที่บ้าน  การประชุมออนไลน์  เป็นต้น

          เมื่อมีการพลิกผัน (disruption) เกิดขึ้น  การพลิกโฉมมักจะตามมา  เช่น เมื่อเกิดสงครามโลกซึ่งเป็นความพลิกผัน  ทำให้เป็นที่มาของการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติซึ่งถือเป็นการพลิกโฉม  หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทำให้เกิดการพลิกผัน  ทำให้มีการพลิกโฉมในด้านการทำธุรกิจ การศึกษา และการใช้เวลาว่าง

          ท่านจึงเสนอว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืน  อย่างไรก็ตาม  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถสร้างการพลิกผัน (disruption) ให้เกิดขึ้นได้ แต่เป็นเสมือนดาบสองคมซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ต้องรู้จักใช้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน   ดังนั้น การอยู่รอดในระยะยาว (long-term survival) โดยการพลิกผันอาจเกิดขึ้นได้หลายครั้ง ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่  ทั้งในด้านอาชีพและการใช้ชีวิตส่วนตัว ด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี จึงต้องสร้างความคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยนี้

“Redesigning Our Common Future for Sustainable Transformation” การออกแบบอนาคตสำหรับการพลิกโฉมที่ยั่งยืน

         นอกจากนี้ ท่านใช้อุปมาอุปมัย (metaphor) ในการอธิบายเรื่องเทคโนโลยี โดยใช้ตัวอย่างปูเสฉวนที่ต้องการเปลี่ยนบ้านอยู่เรื่อยๆ  ปูจึงไปหาเปลือกหอยหรือกระทั่งกระป๋องมาเป็นบ้าน  ท่านกล่าวว่าเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย (enabler) ในการทำงาน ทำหน้าที่เหมือนกับบ้านของปูเสฉวน  แต่สิ่งที่เรามุ่งทำกันอยู่ขณะนี้คือการเปลี่ยนเฉพาะบ้านของปู เช่น เราเปลี่ยนมือถือกันบ่อย  เราควรเน้นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวปูมากกว่าบ้านของมัน    นั่นก็คือ เราควรนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน  ไม่ใช่มุ่งเน้นกันที่เปลือกมากกว่าการแก้ไขที่เนื้อแท้ของต้นตอปัญหา

         องค์การสหประชาติและ UNESCO กังวลเกี่ยวกับจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และได้มีการประกาศถ้อยแถลงเกี่ยวกับจริยธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กรุงเทพ  เพื่อให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวสนับสนุน (enabler) การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างมีจริยธรรม ดังนั้น การออกแบบใหม่สำหรับอนาคตเพื่อให้เกิดการพลิกโฉมอย่างยั่งยืน ท่านอาจารย์ยงยุทธ์จึงเสนอ 3 แนวทาง คือ

  • การคาดการณ์ในอนาคต (Foresight)  โดยเน้นเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง
  • การวางแผนฉากทัศน์ในอนาคตที่ยืดหยุ่น (Flexible Scenario) เป็นทางเลือกในอนาคต  โดยพิจารณาผลกระทบจากเทคโนโลยีด้วย
  • ตำแหน่งทางเลือก (Fallback Position) เป็นทางเลือกสำหรับประเทศและชุมชน  หรือเป็นนโยบายทางเลือก

         ในปี 2023 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้นำเรื่องการคาดการณ์ในอนาคตมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้บรรลุผลเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน  โดยมีการระบุเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องด้านการแพทย์ที่สำคัญ เช่น การใช้จีโนมิกส์ (genomics) ซึ่งเป็นการศึกษายีนส์หรือพันธุกรรม  การวินิจฉัยไวรัสด้วยต้นทุนที่ต่ำ  และการวินิจฉัยโรคทางไกลผ่านมือถือหรืออุปกรณ์อื่น

         การสร้างอนาคตที่ยั่งยืนต้องอาศัยภาคส่วนต่างๆ ทั้งในระดับสถาบันและบุคคลซึ่งจะต้องตระหนักรู้ถึงปัญหา และช่วยกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนโดยมีแผนในการจัดการกับการพลิกผันในอนาคตทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี   ตลอดจนมีการพิจารณาประเด็นด้านจริยธรรม กฎหมายและสังคม (Ethics, Law, and Social Issues – ELSI) ซึ่งมีความสำคัญในการวางแผนเพื่อเตรียมอนาคตที่ยั่งยืน และเลี่ยงผลกระทบในด้านลบที่จะเกิดขึ้น

         ท่านอาจารย์ยงยุทธ์ได้ถามว่าหากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนล้มเหลวจะเกิดอะไรขึ้น  ซึ่งมีแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นได้  เช่น เป้าหมายที่เกี่ยวกับคน (people) ปรากฏการณ์ความยากจน ความหิวกระหาย และการเจ็บป่วยจะมีมากขึ้น  การขาดการศึกษา  สถานภาพของผู้หญิงแย่ลง เป้าหมายเกี่ยวกับโลก (planet) จะเกิดปัญหาเรื่องน้ำ ที่ดินและอากาศที่มีคุณภาพแย่ลง การขาดความหลากหลายด้านชีวภาพ  ด้านความรุ่งเรือง (prosperity) เกิดปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง  การสูญเสียชีวิต และการลดลงของทรัพยากรพลังงาน  ด้านสันติภาพ (peace) มีสงครามและความไม่สงบสุขเกิดขึ้นทั่วไป  และด้านภาคีความร่วมมือ (partnership) เกิดความล่มสลายของสถาบันโลกและความร่วมมือของนานาชาติถูกบั่นทอน

         ดังนั้น จะทำอย่างไรเพื่อให้มีหลักประกันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ในบทความของนักวิชาการ  ชื่อ Jeffrey Sachs และคณะ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature ได้เสนอว่าควรขยายเวลาการดำเนินงานเรื่อง SDGs จากปี 2030 เป็นปี 2050 เพิ่มเวลาอีก 20 ปี  องค์ปาฐกจึงเสนอเป็นครั้งแรกของโลกว่า  เนื่องจากนิด้าได้จัดประชุมเรื่อง Sustainable Transformation ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญของกระบวนการพัฒนา ดังนั้นหลัง 2030  ควรเสนอเป็น Sustainable Transformation Goals (STGs) และเสนอในที่ประชุมระดับสากลเพื่อให้มีการดำเนินการต่อ ก้าวถัดไปจึงควรวางเป้าหมายของ STGs

“Redesigning Our Common Future for Sustainable Transformation” การออกแบบอนาคตสำหรับการพลิกโฉมที่ยั่งยืน

         ท่านจบการกล่าวปาฐกถาโดยอิงกับคำกล่าวของมหาตมะ คานธี เรื่อง บาปทางสังคมเจ็ดประการ (Seven Social Sins)  ซึ่งได้แก่ ความมั่งคั่งที่ปราศจากการทำงาน  ความสุขสบายที่ปราศจากมโนธรรม ความรู้ที่ปราศจากอุปนิสัยที่ดี  การค้าขายที่ปราศจากศีลธรรม  วิทยาศาสตร์ที่ปราศจากมนุษยธรรม  ศาสนาที่ปราศจากการเสียสละ และการเมืองที่ปราศจากหลักการ  โดยท่านเสนอว่า การพัฒนาที่ไม่มีความยั่งยืน (Development without Sustainability) ถือเป็นบาปทางสังคมข้อที่แปด