นิด้า – ม.อ. - บจก.ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ พัฒนาหลักสูตร‘การจัดการการบินเพื่อความยั่งยืน’

นิด้า – ม.อ. – บจก.ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ พัฒนาหลักสูตร‘การจัดการการบินเพื่อความยั่งยืน’

            ‘นิด้า’ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาหลักสูตรร่วมผลิต การจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบินเพื่อความยั่งยืน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ณ หอเกียรติยศ (Hall of Fame) นิด้า

            เมื่อวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดย คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และ บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาหลักสูตรร่วมผลิต การจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบินเพื่อความยั่งยืน ณ หอเกียรติยศ (Hall of Fame) นิด้า โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนายสมยศ ปัดน้อย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด เป็นผู้ลงนาม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ภัคพงศ์ พจนารถ คณบดีคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เป็นผู้กล่าวรายงานความเป็นมา ในการจัดทำบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้

            สำหรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาหลักสูตรร่วมผลิต การจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบินเพื่อความยั่งยืน เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 ฝ่าย ในการส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อสร้างมหาบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถสูง ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมได้อย่างเพียงพอ ต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ผ่านการสนับสนุนและผลักดันการจัดการเรียนการสอน โดยคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม นิด้า ร่วมกับ บจก.ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง เป็นผู้ร่วมบริหารจัดการหลักสูตรปริญญาโท การจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบินเพื่อความยั่งยืน และเชื่อมโยงกับหลักสูตรร่วมผลิตระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการบิน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อผลักดันและส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย รวมถึงภาคการท่องเที่ยวทั้งด้านวิชาการควบคู่ไปกับภาคธุรกิจสู่ความยั่งยืน