The 2nd NIC-NIDA Conference, 2023 : New Frontiers of Sustainable Development through Designing and Implementing Re-globalization

The 2nd NIC-NIDA Conference, 2023 : New Frontiers of Sustainable Development through Designing and Implementing Re-globalization

The 2nd NIC-NIDA Conference, 2023 : New Frontiers of Sustainable Development through Designing and Implementing Re-globalization

Keynote Speaker

Prof. Muhammad Yunus
(Nobel Peace Prize Laureate)(2006)

The 2nd NIC-NIDA Conference, 2023

            ในขณะที่ผมให้ความสำคัญกับสถาบันทางการเงิน หรือทางด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ก็อดรู้สึกสงสัยกับผลลัพธ์ทางธุรกิจ และความเสื่อมสลายของโลกยุคใหม่ที่เป็นผลพวงจากการทำธุรกิจเพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างสูงสุดไม่ได้ ยกตัวอย่างคือ ความหายนะจากภาวะโลกร้อนที่จะนำพาเรากลับไปสู่ความเสื่อม

            กลไกทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างโหดร้าย ทำให้เกิดความเติบโตอย่างมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในมือคนเพียงไม่กี่คน ถ้ารวบรวมความมั่งคั่งของคนทั้งโลกก็เพียงแค่ 5 % แต่ประชากรที่เหลืออยู่นั้นต้องแบกรับความเหลื่อมล้ำ นี่คือสถานการณ์ที่จะเป็นระเบิดเวลาและสร้างความเหลื่อมล้ำในระยะยาว และสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การว่างงานที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด การเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เช่น Chat GPT ส่งผลต่อการจ้างงานของมนุษย์ คำถามก็คือ เรารู้จักปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ดีพอหรือไม่ อย่าถามว่าถ้าไม่มีจะเป็นอย่างไร แต่ให้ถามถึงทิศทางที่จะเกิดกับมนุษย์ในอนาคต มนุษย์ฉลาดจนสร้างเครื่องมือที่มีความฉลาดอย่างมากขึ้นมา เพื่อช่วยให้ความเป็นอยู่และการทำงานของมนุษย์สบายขึ้น แต่เมื่อ AI ถูกสร้างให้เรียนรู้ มันก็จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจนมีความคิดเป็นของตัวเองและฉลาดกว่ามนุษย์ ซึ่งความจริงแล้ว AI จะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อมันเป็นเครื่องมือให้มนุษย์ใช้เพื่อลดการทำงานที่ไม่จำเป็นลง ให้มนุษย์ได้ใช้ความคิดมากขึ้น สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในโลกมากขึ้น แต่หากสร้างให้ AI ฉลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีการแทรกแซงจากมนุษย์ AI จะเริ่มเป็นนายเรา

            แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่คิดว่า มนุษย์ควรปล่อยให้ AI พัฒนาความฉลาดไปเรื่อย ๆ เพื่อให้มนุษย์อยู่ดีกินดี ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราจะกินข้าวจากอะไร หรือจะเป็นการรอรับเงินเยียวยาจากรัฐบาลหากมนุษย์ไม่ต้องทำงาน และในที่สุดเรายังจำเป็นต้องมีรัฐบาลอยู่อีกหรือไม่หากเราใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ทำงานได้ทุกอย่าง เรายังจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปหรือ

            ประเด็นคือ เราอาจมีเวลาเหลือไม่มากนัก เนื่องจากประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น เปรียบเทียบก็คือ บ้านเรากำลังไฟไหม้ เราจะมัวมายินดีกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งได้อย่างไร เราควรต้องหาทางดับไฟในบ้านให้ได้เสียก่อน

            เมื่อกลับมาคิดถึงบทบาทของสถาบันการศึกษาอย่าง ‘นิด้า’ สำคัญมากที่จะต้องทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจความเป็นไปของโลกอย่างถูกต้องเหมาะสม ตอนผมกลับไปทำงานที่บังกลาเทศ ผมคิดว่า แนวคิด แนวปฏิบัติความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการศึกษา พูดได้ว่า สถาบันการศึกษาเป็นต้นกำเนิดของความคิด และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง สิ่งที่ไม่ดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ก็อาจจะมีต้นกำเนิดมาจากสถาบันการศึกษาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน การใช้งาน AI ที่ไม่เหมาะสม เช่นนั้นแล้วเราควรต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับหายนะที่เกิดขึ้นไหม และบทบาทของเราจะเป็นอย่างไร

            เมื่อปี 1972 ตอนที่ผมยังเป็นอาจารย์รุ่นใหม่ ผมตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเทนเนสซี เดินทางกลับบ้านเกิดที่บังกลาเทศหลังจากประเทศบังคลาเทศประกาศเอกราชแยกตัวออกมาจากปากีสถาน ผมได้กลับมาเริ่มต้นเป็นอาจารย์อีกครั้งที่มหาวิทยาลัยจิตตะกอง (Chittagong) ตอนนั้นผมเต็มไปด้วยพลังและความหวังเต็มเปี่ยม แต่แล้วก็กลับกลายเป็นฝันร้าย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศ ประชากรกว่า 80% ในประเทศต้องเผชิญกับความยากจน อดยาก และสถานการณ์มีแต่แย่ลงเรื่อย ๆ ในปี 1974 เกิดความแห้งแล้ง และผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก สิ่งที่เรียนมาไม่มีประโยชน์ ไม่รู้จะทำอย่างไรที่จะช่วยผู้คนให้หลุดพ้นจากความยากจน เศรษฐศาสตร์พูดถึงการเติบโตแต่กลับเป็นเรื่องไกลตัว ความรู้พื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์ไม่ช่วยให้ประชากรมีกินมีใช้ได้เลย

            แต่โชคดีคือ มหาวิทยาลัยจิตตะกองที่ผมทำงาน อยู่ท่ามกลางหมู่บ้านและชุมชน ผมจึงมีความคิดว่า ไม่จำเป็นต้องไปดูที่อื่นว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศ แต่ออกไปดูสถานการณ์ใกล้ ๆ นี้ว่าเป็นอย่างไร ออกไปเจอ ไปพูดคุยและเรียนรู้จากผู้คนในชุมชน ผมคิดว่านี่คือมหาวิทยาลัยชีวิต สิ่งที่เห็นคือผู้คนได้รับความทุกข์ยากจากหนี้นอกระบบ มีเจ้าหนี้เถื่อนคอยตามทวงหนี้ให้เห็นในทุกวัน แล้วจะช่วยเขาได้อย่างไร ผมจึงตัดสินใจให้เงินชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนี่คือหน้าที่ของธนาคารมิใช่หรือ แต่เมื่อไปติดต่อธนาคารกลับถูกปฏิเสธการให้กู้เงินเพราะมองว่าผู้คนเหล่านี้เป็นคนจนไม่มีเครดิต ผมจึงตัดสินใจสร้าง Grameen Bank หรือธนาคารหมู่บ้านขึ้นมาเพื่อสร้างโอกาสให้คนยากจนโดยเฉพาะผู้หญิง ที่ส่วนมากไม่ได้รับโอกาสให้ทำงานหรือทำธุรกิจได้เหมือนผู้ชาย จึงต้องพยายามสร้างบรรทัดฐานและค่านิยมให้ผู้หญิงใหม่ สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้เงิน ซึ่งปรากฏผลลัพธ์ที่ดีขึ้นตามลำดับ และนั่นก็เป็นเรื่องธนาคารเพื่อความยากจนของผม

            พอมาถึงช่วง COVID-19 รัฐบาลทั่วโลกต่างต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกาศปล่อยเงินกู้ เงินช่วยเหลือต่างๆ เป็นจำนวนมากเพื่อหวังให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งผมไม่เห็นด้วย การทำแบบนั้นจะนำพาเรากลับไปสู่วิถีเศรษฐกิจเดิม ซึ่งผมเขียนไว้ในคอลัมน์ “No Going Back” ว่ามันเป็นการวางยาทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ COVID-19 ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะเริ่มต้นใหม่ ออกแบบเศรษฐกิจใหม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ วัคซีน COVID-19 ถูกจดสิทธิบัตรคุ้มครอง และมีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีสิทธิบัตร จะเห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ทำเงินได้มหาศาลจากวัคซีนนี้ และวัคซีน 80% มีใช้อยู่ในประเทศที่มีสิทธิบัตร น่าแปลกใจที่มีคนมุ่งหวังแต่จะหากำไรและผลประโยชน์ และเราก็ยังคงปล่อยให้ชีวิตถูกกำหนดด้วยเศรษฐกิจแบบนี้

            ความยากจน เกิดจากรากฐานเศรษฐกิจที่ผิด โลกที่มุ่งเน้นแต่กำไร โลกที่เต็มไปด้วยขยะและภาวะโลกร้อน รวมถึงโลกที่มนุษย์ตกงานเพราะปัญญาประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมกันออกแบบโลกใบใหม่ สร้างธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) ขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนและไม่สร้างปัญหาให้คนรุ่นต่อไป ในอนาคตเราสามารถสร้าง 3-Zero Club สร้างโลกที่เป็นสามศูนย์ ได้แก่

  • Zero net carbon emission
  • Zero wealth concentration for ending poverty
  • Zero unemployment by unleashing entrepreneurship in all

            ซึ่งผมขอเน้นในเรื่อง Zero Waste คือขยะเป็นศูนย์ เพราะเราต้องสร้างโลกที่สะอาดสำหรับคนในยุคถัดไป ลด ละ เลิก และนำขยะมาหมุนเวียนเพื่อใช้งาน ต้องให้สถาบันการศึกษา สถาบันทางธุรกิจ ภาครัฐ และภาคเอกชนสร้างนโยบายที่ลดความโลภ ลดการสร้างผลประโยชน์และกำไรที่มากเกินไป เราต้องสร้างคุณค่าของมนุษย์ ทบทวนบทบาทของเราเสียใหม่ สร้างวิถีใหม่แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการสร้างโลกที่เป็นสามศูนย์ให้ได้


ถอดบทปาฐกถาโดย
รศ.ดร. อรนุช พฤฒิพิบูลธรรม
รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์