หลักการและแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

หลักการและแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

            เพื่อให้การใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Tools) ในการเรียนรู้ การเรียนการสอนและการทำวิจัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และถูกหลักจริยธรรมทางวิชาการ

            อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ศ. 2562  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์จึงออกประกาศกำหนดหลักการและแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ ไว้ดังต่อไปนี้

1. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์สนับสนุนให้นักศึกษาและบุคลากรใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ที่เหมาะสมเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ การทำวิจัย ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบุคลากร สนับสนุนพันธกิจและสอดคล้องกับค่านิยมของสถาบัน WISE ได้แก่ ปัญญา (Wisdom) ความซื่อตรง (Integrity) การสร้างผลกระทบที่ยั่งยืน (Sustainable Impact) และความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy)

2. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์มีหน้าที่กำกับดูแลและสนับสนุนให้มีการใช้เครื่องมือทาง
            ปัญญาประดิษฐ์อย่างสร้างสรรค์และถูกหลักจริยธรรมทางวิชาการและวิชาชีพ โดยนักศึกษาและบุคลากรต้องตระหนักว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นเพียงเครื่องมือ ผู้ใช้ต้องมีความรับผิดชอบต่อความถูกต้องของข้อมูลและตรวจสอบผลลัพธ์ที่ได้ จากการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ก่อนเสมอ และชี้แจงรายละเอียดของผลงานที่เกิดจากการใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ มีการบริหารจัดการการใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance)  มีความซื่อสัตย์ทางวิชาการและเรียนรู้การใช้งานอย่างต่อเนื่อง  ไม่ใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์สร้างข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอันไม่มีอยู่จริง (Fabrication)ไม่บิดเบือนข้อมูลหรือข้อเท็จจริง (Falsification) และไม่ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ในทางที่ไม่ชอบธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ปกปิดข้อมูลการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์  ไม่ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ผู้ใช้ต้องกำกับดูแล (Oversight) และพร้อมที่จะถูกตรวจสอบ (Accountability) ในผลลัพธ์และผลผลิตที่ได้จากเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์

3. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์สนับสนุนให้มีการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ ในการเรียนการสอนและการประเมินผลด้วยความโปร่งใส (Transparency) ผู้สอนควรมีการแจ้งให้นักศึกษาและบุคลากรทราบชัดเจนว่ามีการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ในเนื้อหาการเรียนการสอน หรือการประเมินผล หากรายวิชาใดอนุญาตให้มีการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ในการเรียนการสอน ผู้สอนต้องปรับวิธีการวัดประเมินผลให้เหมาะสมและต้องไม่กระทบต่อวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนและผลลัพธ์การเรียนรู้

4. ด้วยบริการและเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ที่ให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริการที่ไม่คิดค่าใช้จ่าย อาจมีการเข้าถึงหรือบันทึกข้อมูลที่โต้ตอบหรือข้อมูลที่ได้รับจากผู้ใช้งาน เพื่อนำไปใช้ในการฝึกสอนโมเดลปัญญาประดิษฐ์ ดังนั้น ผู้ใช้งานจึงต้องมีความระมัดระวังและปฏิบัติตามนโยบายดังต่อไปนี้
            4.1  ห้ามมิให้นำข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว (เช่น สำเนาบัตรประชาชนที่มีข้อมูลศาสนา ข้อมูลชีวภาพ ใบรับรองแพทย์ เป็นต้น) เข้าสู่ระบบเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เกี่ยวข้อง
            4.2  ระมัดระวังไม่นำข้อมูลภายในองค์กรที่เป็นความลับของหน่วยงาน หรือข้อมูลที่มีชั้นความลับเข้าสู่ระบบเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่สามารถรับรองได้ว่า ข้อมูลภายในหรือข้อมูลชั้นความลับนั้นจะไม่เกิดการรั่วไหลออกไปนอกสถาบันฯ ทั้งนี้ ในกรณีที่ต้องใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับข้อมูลภายในองค์กร ข้อมูลที่มีชั้นความลับ ผู้ใช้งานจะต้องใช้แอปพลิเคชันหรือบริการที่ได้รับการอนุมัติหรือจัดหาโดยสถาบันฯ เท่านั้น