4 องค์ปาฐกงานประชุมวิชาการนิด้า ร่วมออกแบบอนาคตเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

4 องค์ปาฐกงานประชุมวิชาการนิด้า ร่วมออกแบบอนาคตเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

เรียบเรียงโดย ส่วนสื่อสารองค์การ กองวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์การ

            สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ร่วมกับ East China Normal University (ECNU) คว้า Keynote Speakers ระดับ Top ของโลก ได้แก่ 1) Prof. Justin Yifu Lin, Ph.D. (Peking University, China) 2) Prof. Peter Warr, Ph.D. (Australian National University, Australia) 3) Prof. Yongyuth Yuthavong, Ph.D. (Honorable Member of NIDA Council, Thailand) และ 4) Adjunct Prof. Krisana Kraisintu, Ph.D. (Ramon Magsaysay Award 2009) ขึ้นปาฐกถาพิเศษบนเวทีประชุมวิชาการระดับชาติ และระดับนานาชาติ ประจำปี 2567 (2024 National and International Conference of The National Institute of Development Administration) หรืองาน 3rd NIC – NIDA Conference, 2024 ภายใต้หัวข้อ “Redesigning our Common Future for Sustainable Transformation” เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และร่วมกันออกแบบอนาคตใหม่สู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ระหว่างวันที่ 22 และ 23 สิงหาคม 2567 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ถนนเสรีไทย กรุงเทพฯ

บทเรียนจากการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไม่ยั่งยืน สู่เศรษฐกิจเชิงโครงสร้างแนวใหม่ (Newstructural economics) ของ Prof. Justin Yifu, Ph.D.

            ส่วนหนึ่งของการปาฐกถาพิเศษ ของ Prof. Justin Yifu, Ph.D. นักเศรษฐศาสตร์ชาวจีน อดีตรองประธานอาวุโสของธนาคารโลก และศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้เล่าถึงประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาว่า ในช่วงปี 1950 – 1960 เอเชียและภูมิภาคของเรามีความยากจนมากในขณะนั้น เป็นภูมิภาคที่ไม่มีความหวังและโอกาส แต่ยังคงมีประเทศเอเชียตะวันออกบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ รวมถึงจีน ที่มีจีดีพีสูงกว่าอเมริกา จนกระทั่งในช่วงปี 1978 ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจากดั้งเดิมกลายเป็นเศรษฐกิจที่เป็นระบบการตลาด จีนได้บรรลุการเติบโตถึง 9% อย่างต่อเนื่องมากถึง 45 ปี และในปัจจุบันนี้ จีดีพีต่อหัวประชากรของจีนก็คือ $13,000  ประมาณ 2-3 ปีนี้ จีนจะข้ามไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง คือ เกินกว่า $114,000 ต่อปี

            โดยหลักแนวคิดสำคัญของ Prof. Justin Yifu, Ph.D. เขาได้ยึดถือแนวคิดหลักของ John Maynard Keynes (1935) นักเศรษฐศาสตร์ ชาวอังกฤษ ที่กล่าวว่า “It is ideas, not vested interests, which are dangerous for good or evil.” โดยเขาได้อธิบายต่อว่า “แนวความคิดหรือไอเดียไม่ใช่ผลประโยชน์ที่แอบแฝงซึ่งถือว่าเป็นอันตรายสำหรับสิ่งที่ทั้งดีและไม่ดี หมายถึงว่าถ้าคุณจะทำได้ดีหรือทำไม่ได้ดี มันขึ้นอยู่กับแนวความคิด” โดยที่ผ่านมาบางภูมิภาค บางประเทศ ทำการพัฒนาเศรษฐกิจได้ไม่ดีเป็นเพราะว่า ใช้แนวความคิดในการพัฒนาแค่อันเดียว ดังนั้นเราจึงต้องคิดใหม่ คิดแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อให้เกิดการพัฒนา ตามศาสตร์ใหม่ของเขาที่เรียกว่า เศรษฐกิจเชิงโครงสร้างแนวใหม่ (Newstructural economics) กล่าวคือ โครงสร้างทางเศรษฐกิจประเทศใดก็ตาม มักถูกปัจจัยด้านทรัพยากรเป็นตัวตัดสิน เช่น จำนวนทรัพยากรธธรมชาติที่มี จำนวนกำลังแรงงานที่มี หรือปัจจัยในการผลิต เป็นต้น ดังนั้นหากอยากยกระดับรายได้ให้เป็นระดับสูง จะต้องเพิ่มการลงทุน เริ่มจากสิ่งที่มีอยู่ในตอนนี้ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ดี เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในเชิงพลวัตสู่บันไดในขั้นของอุตสาหกรรม นำไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง วิธีที่ดีที่สุดคือการทำตามแนวทางที่ได้เปรียบในการแข่งขันที่มาจากปัจจัยหลักประเทศ และภาครัฐต้องมีส่วนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีบทบาทในตลาดเป็นดั่งเซิร์ฟเวอร์ (Server) เพื่อที่จะเข้าไปสู่ภาคอุตสาหกรรมใหม่ๆ ด้วยตัวเอง

What Causes Economic Growth? การเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย การถดถอย และโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจ ของ Prof. Peter Warr, Ph.D.

            เศรษฐกิจเอเชียได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีการถดถอยและความท้าทายหลายประการที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศ Prof. Peter Warr, Ph.D. ได้พิจารณาถึงแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจและการวิเคราะห์กรณีของประเทศไทยเพื่อให้เห็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคนี้

            หนึ่งในแนวคิดที่ Prof. Peter Warr, Ph.D. กล่าวถึงคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย: มุมมองของ Prof. Paul Krugman ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ ได้เสนอแนวคิดที่แตกต่างออกไป โดยอ้างว่าในช่วงปี 1940 ได้แสดงให้เห็นว่าการเติบโตที่เกิดขึ้นในเอเชียส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพิ่มปัจจัยการผลิต เช่น แรงงานและทุน ซึ่งแตกต่างจากกรณีของสหรัฐอเมริกาที่มีการเติบโตจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเขายังเสนอแนวคิดว่า การเติบโตที่เกิดขึ้นในเอเชียไม่สามารถยั่งยืนได้ในระยะยาว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของทุนและแรงงานอาจนำไปสู่การลดลงของผลิตภาพในระยะยาว

            นอกจากนี้Prof. Peter Warr, Ph.D. ได้วิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย เศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากการที่ประเทศไทยเคยมีภาคการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการมากขึ้น ข้อมูลจากสภาพัฒน์แสดงให้เห็นว่าการจ้างงานในภาคเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1960 ขณะที่การจ้างงานในภาคบริการและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงการขยายตัวของภาคบริการและอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยเพิ่มการเติบโตของผลิตภาพในเศรษฐกิจไทย แต่ก็ยังมีปัญหาในการเพิ่มค่ามูลค่าเพิ่มในภาคเกษตรที่ต่ำ ซึ่งส่งผลให้มีความยากจนในชนบทและการขาดโอกาสทางเศรษฐกิจในบางพื้นที่

พลิกโฉมการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนบนแนวคิด SDGs ของ Prof. Yongyuth Yuthavong, Ph.D.

            Prof. Yongyuth Yuthavong, Ph.D. อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทยและกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิได้กล่าวถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจอย่างมากในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อเราพิจารณาถึงสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญ ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหาสังคม เช่น ความยากจนและความไม่เท่าเทียม การพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่เพียงแต่เป็นการพัฒนาในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น แต่ยังต้องเป็นการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งโลก

            ก่อนที่จะมีการประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในปี 2015 การพัฒนาอย่างยั่งยืนก็เริ่มได้รับการพูดถึงและมุ่งเน้นไปที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมที่โลกต้องเผชิญ โดยอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืนอาจนำไปสู่การล่มสลายของอารยธรรมต่างๆ เช่น อารยธรรมมายา หรือการล่มสลายของนครวัดในกัมพูชา

            ความท้าทายของดำเนินการตาม SDGs การประเมินความก้าวหน้าในปัจจุบันยังไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในบางเป้าหมายที่ยังไม่เห็นการพัฒนาอย่างชัดเจน เช่น การลดความยากจน และการจัดการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตัวเลขจากการประเมินความก้าวหน้าแสดงให้เห็นว่ายังมีเพียงไม่กี่เป้าหมายที่สามารถทำได้ดี ในขณะที่หลายเป้าหมายยังคงต้องการความพยายามอย่างมาก

            การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะในแง่ของเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาอินเทอร์เน็ต, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), และการใช้พลังงานทดแทน เทคโนโลยีเหล่านี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

            นอกจากนี้ Prof. Yongyuth Yuthavong, Ph.D. ได้กล่าวถึงบทบาทของนิด้าในเรื่อง SDGs นิด้ามุ่งเน้นในการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการศึกษาและการวิจัย ซึ่งไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ในระดับประเทศ แต่ยังตอบโจทย์ในระดับโลก สถาบันได้แสดงถึงความสำคัญของการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อน SDGs และมีการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้และแนวทางในการดำเนินการตาม SDGs ให้เกิดการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน สิ่งที่ทุกคนต้องทำคือการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาที่ค่อยเป็นค่อยไปสามารถร่วมมือกับการเปลี่ยนแปลงฉับพลันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ จำเป็นต้องมีความตระหนักและความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

‘ความรู้และความเชี่ยวชาญ’ หัวใจสำคัญต่อการพัฒนายาเพื่อการเข้าถึงการรักษาอย่างเป็นธรรม ของ Adjunct Prof. Krisana Kraisintu, Ph.D.

            Adjunct Prof. Krisana Kraisintu, Ph.D. เภสัชกรชาวไทยที่อุทิศตนช่วยเหลือผู้ป่วยในการผลิตยาในทวีปแอฟริกาและเอเชียผู้ได้รับรางวัล Ramon Magsaysay Award ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่ผลิตยาสามัญสำหรับ HIV/AIDS ซึ่ง Adjunct Prof. Krisana Kraisintu, Ph.D. ได้ริเริ่มโครงการพัฒนายาต้านเอดส์ เพื่อตอบสนองปัญหาใหญ่ของโรคเอดส์ในประเทศไทย ที่ในขณะนั้นการเข้าถึงยาต้านเอดส์ยังเป็นเรื่องยากเนื่องจากยารักษามีราคาสูงถึง 20,000-30,000 บาทต่อคนต่อเดือน และมีผู้ป่วยเพียง 80 คนที่ได้รับยา

            ด้วยวิสัยทัศน์ของ Adjunct Prof. Krisana Kraisintu, Ph.D. ที่ต้องการให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงยาได้ จึงมุ่งมั่นในการลดต้นทุนการผลิตยา ซึ่งส่งผลให้ราคายาลดลงเหลือ 1,200 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2538 นอกจากนี้ยังพัฒนายาสูตรผสมหรือ “ค็อกเทล” ที่รวมยาต้านเอดส์สามชนิดในเม็ดเดียว การพัฒนายานี้ไม่เพียงแค่ช่วยลดต้นทุนการผลิต แต่ยังช่วยลดปัญหาการดื้อยาและทำให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาได้สะดวกขึ้น ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่สำคัญของท่าน

            หลังจากประสบความสำเร็จในประเทศไทย Adjunct Prof. Krisana Kraisintu, Ph.D. ตัดสินใจไปทำงานในแอฟริกา ซึ่งเป็นทวีปที่มีอัตราการติดเชื้อเอดส์สูงที่สุด ในปี 2002 ท่านได้ย้ายไปทำงานใน 17 ประเทศที่ยากจนที่สุดในแอฟริกา โดยเฉพาะประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งมีความท้าทายสูงทั้งในด้านสภาพแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ ในระหว่างการทำงานที่แอฟริกา Adjunct Prof. Krisana Kraisintu, Ph.D. มุ่งมั่นในการพัฒนายาต้านเอดส์และยารักษามาลาเรีย โดยเฉพาะการพัฒนายาต้านเอดส์ “จีพีโอเวียร์” และ “แอปฟรี” ที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั่วโลก การพัฒนายานี้เป็นการนำเสนอความสำเร็จในการลดต้นทุนและการเพิ่มการเข้าถึงยาในพื้นที่ที่มีความยากจน

            การพัฒนายาของ Adjunct Prof. Krisana Kraisintu, Ph.D. เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญในการตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพที่สำคัญ การมุ่งมั่นในการลดต้นทุนและเพิ่มการเข้าถึงยา ไม่เพียงแต่ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในประเทศไทย แต่ยังส่งผลกระทบในระดับโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยากจนและมีการเข้าถึงยาได้ยาก Adjunct Prof. Krisana Kraisintu, Ph.D. ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและการพัฒนาสุขภาพอย่างยั่งยืน