Wisdom for Sustainable Development
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์
1. พัฒนาการปรัชญาของนิด้า
นิด้าเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐก่อตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ. 2509 เดิมมีปรัชญาที่อิงกับพุทธสุภาษิต คือ “นตถิ ปัญญา สมา อาภา” (ไม่มีแสงสว่างใดเสมอเท่าปัญญา) ในทางศาสนาพุทธ ปัญญา หมายถึง ความรอบรู้ รู้อย่างแจ่มแจ้ง รู้อย่างลึกซึ้ง ความรู้ซึ่งตรงกับสภาพที่เป็นจริง ช่วยให้หลุดจากมายา ทำลายความเขลาได้
แสงสว่างที่มาจากแหล่งต่าง ๆ ทำให้ดวงตา (visual perception) เห็นหนทางและเห็นสรรพสิ่งรอบตัวได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของธรรมชาติและพฤติกรรมต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตทั้งปวง หากแต่แสงสว่างจากปัญญาต่างจากแหล่งอื่น เพราะเป็นแสงสว่างที่ส่องไปถึงจิตใจ สามารถนำพาความคิด ชีวิตและองค์การของเราจากความมืดมิดให้ไปสู่ความรุ่งโรจน์ได้ ช่วยทำลายความงมงายไปสู่ความมีเหตุมีผล และสร้างความปลื้มปิติให้กับผู้มีปัญญา
นิด้าได้ใช้พุทธสุภาษิตดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2550 เมื่อสถาบันมีการจัดทำแผนพัฒนาระยะยาว และได้เสนอเปลี่ยนปรัชญาของสถาบันเป็น “ปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Wisdom for Change)” ในยุคนั้นมีกระแสการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการหาเสียงเลือกตั้งของบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีอเมริกันที่ย้ำคำว่าการเปลี่ยนแปลง (change) เพื่อต้องการสะบัดให้แรงเฉื่อยที่อยู่ในระบบเก่าให้ลดน้อยลง และเข้าสู่โหมดของการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนปรัชญาในครั้งนั้นจึงช่วยสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจปรัชญาได้ดีขึ้นและทันกับกระแสโลก
หลังจากใช้ปรัชญา “ปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง” มาประมาณ 15 ปีแล้ว ผู้บริหารสถาบันได้เสนอการปรับปรัชญาให้มีความชัดเจนขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร และเนื่องจากนิด้ามีอัตลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา จึงมองว่าที่ผ่านมาการพัฒนาประเทศมักจะเน้นการพัฒนาวัตถุ ขาดความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผลของการพัฒนาที่ผ่านมาจึงมีปัญหาที่ติดตามมาในด้านต่าง ๆ มากมาย อาทิ ช่องว่างระหว่างรายได้ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำในการรับบริการในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ปัญหาสังคมที่เป็นผลจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ดังนั้น
เพื่อให้การพัฒนามีความสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของนิด้าและกระแสเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ จึงเสนอปรับปรัชญาของสถาบันเป็น “ปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Wisdom for Sustainable Development)”
2. ปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ปัญญาเป็นองค์ความรู้และหลักการที่สะสมและพัฒนาต่อเนื่องมาจนเกิดเป็นความเข้าใจและความลุ่มลึกในเรื่องนั้น ๆ โดยผ่านกระบวนการแสวงหาความรู้และการค้นหาความจริง ปัญญาจึงเป็นลักษณะเฉพาะของมนุษย์ และเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำคัญที่สุดที่มนุษย์พึงแสวงหา (แนวคิดของปัญญานิยม)
ปัญญาช่วยลดอคติ (ความลำเอียง) อันจะนำไปสู่ความไม่แบ่งแยกกลุ่มเขากลุ่มเราและความเป็นธรรมก็จะตามมา ปัญญาสามารถลดความลำเอียงในรูปแบบต่าง ๆ คือ ความลำเอียงซึ่งเกิดจากความรักโคร่ (ฉันทาคติ) ความลำเอียงซึ่งเกิดจากโกรธและเกลียดชัง (โทสาคติ) ความลำเอียงซึ่งเกิดจากความกลัว (ภยาคติ) และความลำเอียงซึ่งเกิดจากความเขลาหรือความไม่รู้ของตนเอง (โมหาคติ)
การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) เป็นการพัฒนาที่มีความสมดุลระหว่างด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาที่พิจารณาถึงผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อจะทำให้การพัฒนานั้นไม่สร้างความเสียหายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างที่เราประสบอยู่ในปัจจุบัน เดิมการพัฒนาของประเทศต่างๆ ในโลกจะเน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักด้วยความหวังที่จะช่วยฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศซึ่งพ่ายแพ้สงครามโลกในสมัยนั้น ต่อมาในช่วงปี 2503-2513 องค์กรสหประชาชาติได้ขยายความหมายของการพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งการแก้ไขปัญหาความยากจน ความด้อยด้านการศึกษา และการเจ็บไข้ได้ป่วย
ภายหลังจากระยะนี้ สหประชาชาติได้จัดประชุมร่วมกับประเทศต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2515 และ 2535 และได้มีการสรุปบทเรียนเกี่ยวกับผลการพัฒนาที่ผ่านมาว่ามีปัญหาอันเนื่องมาจากแนวทางการพัฒนาที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการบูรณาการกับการพัฒนาด้านอื่น ๆ ผลการพัฒนาจึงเป็นการเติบโตด้านทันสมัยด้านวัตถุแบบระบบทุนนิยม และทำให้มีปัญหาสังคม ขาดการพัฒนาคนและมีการใช้และทำลายสิ่งแวดล้อมสูง เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน (Unsustainable Development) รายงานจากการประชุมดังกล่าวจึงมีการแสวงหาแนวทางการพัฒนาแบบใหม่ โดยเริ่มมีการใช้คำว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน
ตามความหมายขององค์กรสหประชาชาติ การพัฒนาที่ยั่งยืน หมายถึง การพัฒนาที่สนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ทำให้คนรุ่นหลังต้องยอมลดความต้องการของเขาลง หรือเป็นนโยบายที่สนองความต้องการของประชาชนในรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ทำลายทรัพยากรของคนในรุ่นอนาคต (ป.อ. ปยุตโต, 2561)
การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องอาศัยการบูรณาการ (integration) แนวคิดต่าง ๆ ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน และโดยมององค์รวม (holistic) และเน้นเรื่องการพัฒนาคน และทำให้องค์ประกอบต่าง ๆ สามารถผสานกันได้อย่างลงตัวและมีดุลยภาพ
การพัฒนาที่ยั่งยืนจะช่วยทำให้การดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพียงพอสำหรับคนรุ่นต่อไป ช่วยทำให้สังคมสามารถสนองตอบต่อความต้องการของคนที่หลากหลายในชุมชนในปัจจุบันและในอนาคต ส่งเสริมความเป็นอยู่และสุขภาพอนามัยที่ดี สร้างความเหนียวแน่นและการมีส่วนร่วมทางสังคม ตลอดจนสร้างโอกาสของความเท่าเทียมกันและความยุติธรรม เศรษฐกิจมีเสถียรภาพและยั่งยืน เปิดโอกาสให้ทุกคน และส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกระดับ เพื่อให้ประชาชนมีความคิดสร้างสรรค์
3. ทำไมผู้นำรุ่นใหม่ถึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่มีการบูรณาการการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพมากกว่าการคำนึงถึงแต่เพียงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวที่มักเน้นความเจริญด้านวัตถุ เป็นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน และต้องสร้างโลกและสังคมให้เข้มแข็ง น่าอยู่ โดยคำนึงถึงการใช้และการรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างความเท่าเทียมและยุติธรรมในสังคม รวมทั้งผนึกกำลังและสร้างการมีส่วนร่วมในระดับต่าง ๆ เพื่อนำพาการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน
จากความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว เป็นความหมายที่เกี่ยวกับคนสองรุ่นคือคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นใหม่ กล่าวคือ การพัฒนาที่สนองต่อความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยที่ต้องไม่ไปสร้างภาระให้กับคนรุ่นหลัง เนื่องจากเรามีทรัพยากรธรรมชาติจำกัด ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ น้ำสะอาด และอาหาร ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ที่จะมาร่วมกันสร้าง ออกแบบ และพัฒนาระบบ กระบวนการ และกลไกต่างๆ เพื่อให้เกิดผลของการพัฒนาดังกล่าว หากคนรุ่นใหม่ไม่สนใจในเรื่องนี้ ไม่มีส่วนร่วมในการรังสรรค์สังคมให้ยั่งยืน คนรุ่นลูกรุ่นหลานของเราคงไม่มีโอกาสที่จะดำรงชีวิตอย่างมีความสุขได้
การสรุปบทเรียนของการพัฒนาที่ผ่านมาในรอบประมาณ 70 ปีนี้ ซึ่งทำให้เราเห็นรูปธรรมและผลของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และกลายมาเป็นภาระที่หนักอึ้งของคนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม ความไม่เท่าเทียมในการรับบริการด้านการศึกษาและสาธารณสุข รวยกระจุกจนกระจาย ปัญหาการว่างงาน ปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ปัญหาโรคเครียดและซึมเศร้าเพิ่มขึ้น และปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย เรื่องมลภาวะของสิ่งแวดล้อม ฝุ่น PM 2.5 ความเอารัดเอาเปรียบจากผู้ที่ด้อยกว่ายังเป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็นอยู่เป็นประจำ
4. นิด้ามีวิถีทางที่จะทำให้ผู้นำรุ่นใหม่พัฒนาธุรกิจ สังคม และประเทศชาติให้เติบโตได้อย่างไร
พันธกิจที่สำคัญประการหนึ่งของนิด้าคือการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) โดยนำปัญญาที่เป็นองค์ความรู้ที่ตนเองมีมาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนแปลงหรือพลิกโฉมเพื่อให้เกิดการพัฒนา คนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาและได้นำความรู้ แนวคิดและทักษะที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนแปลงจึงถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง นิด้ามีตัวแบบในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการเป็นพลเมืองของสังคมและของโลกในศตวรรษที่ 21 มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาการข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) มาใช้ในการเรียนการสอน และการประยุกต์ใช้ในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม มีตัวแบบการตัดสินใจสำหรับองค์การสมัยใหม่ มีเครือข่ายทางสากลในหลายประเทศเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งมีพื้นที่เรียนรู้ให้คนรุ่นใหม่ได้มีประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการเรียนและสามารถนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่หน้าที่ของคนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง การพัฒนาที่ยั่งยืนจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้หากไม่มีความร่วมมือระหว่างคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นหลัง คนหนุ่มสาวมีประมาณ 18,000 ล้านคนรอบโลก โดยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา วัยหนุ่มสาวเป็นวัยที่เต็มไปด้วยพลัง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เรียนรู้ได้เร็ว มีความอิสระ เป็นคุณลักษณะของความก้าวหน้าของสังคม ผู้นำรุ่นใหม่จะเป็นพลังที่มีความใฝ่รู้ ความฝันและความหวังเป็นแรงขับเคลื่อน ส่วนผู้นำรุ่นก่อนจะอาศัยพลังของประสบการณ์ ความเข้าใจ และจิตสาธารณะเป็นแรงผลักดัน นิด้ามีเครือข่ายศิษย์เก่าที่เข้มแข็งอยู่ทั่วประเทศ เราสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงมารวมเกือบ 90,000 คน การมาเรียนในสถาบันจะช่วยสร้างโอกาสในการรวมพลังระหว่างผู้นำรุ่นใหม่และรุ่นเก่า อันจะทำให้พลังการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นในภาคธุรกิจ สังคม และประเทศชาติเติบโตได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น
มีคำถามว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนจะทำได้เฉพาะองค์การในภาครัฐและภาคประชาชนเท่านั้นหรือไม่ ถ้าอยู่ในภาคเอกชนจะทำได้อย่างไร จากการรายงานของ OECD ได้กล่าวว่าคณะกรรมการ Business and Sustainable Development Commission ศึกษาการทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน พบว่าได้ช่วยทำให้ธุรกิจต่าง ๆ มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 12 ล้านล้านเหรียญ ในอุตสาหกรรม 4 ด้าน คือ อาหารและการเกษตร เมือง พลังงาน และสุขภาพความเป็นอยู่ เช่น หัวเว่ย (SDG9: Industry, Innovation & Infrastructure) Tech for All และบริษัทไนกี้ (SDG12: Responsible Consumption and Production) คิมเบอร์ลีแอนด์คล้าก (SDG9: Clean Water & Sanitation) เลโก้ (SDG4: Quality Education) (อ่านเพิ่มในรายงาน Better Business, Better World) ดังนั้น คำว่าพัฒนาที่ยั่งยืนจึงไม่จำกัดเฉพาะการประยุกต์ใช้ในภาครัฐ มีตัวอย่างในภาคธุรกิจหลายแห่งและมีจำนวนมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้
นิด้าจึงเชื่อมั่นว่าด้วยต้นทุนเดิมทางปัญญาที่เราสะสมมาอย่างยาวนาน ประกอบกับทิศทางของการสร้างปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นคำตอบที่ช่วยสร้างผู้นำรุ่นใหม่ และด้วยความร่วมมือกับเครือข่ายของผู้นำทั้งรุ่นใหม่และรุ่นก่อนจะทำให้พลังปัญญานี้ช่วยพัฒนาทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ทั้งในระดับองค์การ ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ให้มีความยั่งยืนต่อไป