620919 03

ศึกษานวัตกรรมระบบประปาหมู่บ้านรูปแบบใหม่

ศูนย์วิจัยขีดความสามารถในการแข่งขัน สำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นำคณะผู้เชี่ยวชาญ เข้าศึกษานวัตกรรมระบบประปาหมู่บ้านรูปแบบใหม่(The Next Water Innovations): นวัตกรรมป๊อกแทงค์ (POG TANKS) ของ บริษัท คิดพร้อมทํา จํากัด

          จากโครงการแก้ไขปัญหาระบบคุณภาพน้ำประปาชุมชน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสมาคมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย และศูนย์วิจัยขีดความสามารถในการแข่งขัน สำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พบว่าปัญหาคุณภาพน้ำประปาชุมชนไม่ได้มาตรฐาน ยังคงมีอยู่ในหลายชุมชนของประเทศไทย โดยเฉพาะปัญหาแบคทีเรียปนเปื้อน ดังนั้นหน่วยงานจึงมีการศึกษาหาวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเทคโนโลยี การบำบัดน้ำที่มีประสิทธิภาพมาใช้ ตลอดจนวางแผนการบริหารจัดการระบบการผลิตน้ำประปาที่ดีให้กับชุมชน 

          ทั้งนี้ ทางศูนย์วิจัยขีดความสามารถในการแข่งขัน สำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการเรียนให้ทราบถึง เทคโนโลยีด้านระบบผลิตน้ำประปา ที่ได้รับการรับรองในบัญชีนวัตกรรมไทย คือ ผลงาน “ระบบผลิตน้ำประปา (Water Treatment System)” หรือ นวัตกรรมป๊อกแทงค์ (POG TANKS) ของ บริษัท คิดพร้อมทํา จํากัด ดังนั้นสถาบันจึงได้จัดโครงการศึกษานวัตกรรม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ณ เทศบาลตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยคณะหน่วยงานภาครัฐและสื่อมวลชน อาทิ การประปาส่วนภูมิภาค กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อศึกษากระบวนการทำงานและตรวจสอบระบบ จากการศึกษาดังกล่าวสรุปรายละเอียดได้ดังนี้

          นวัตกรรมป๊อกแทงค์ เป็นนวัตกรรมตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ในการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม ให้ประชาชนในชนบทมีสิทธิเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างน้ำประปาที่สะอาดและมีคุณภาพผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งนี้ บริษัท คิดพร้อมทํา จํากัด ได้พัฒนาปรับปรุงระบบให้เข้ากับคุณภาพน้ำดิบและสภาพแวดล้อมของพื้นที่ในชุมชนนั้น ๆ โดยระบบใช้ได้กับน้ำดิบทั้งประเภทผิวดินและใต้ดินภายในระบบเดียว ในด้านเทคโนโลยี ป๊อกแทงค์ได้รวมเอากระบวนการในการผลิตน้ำประปามาไว้ด้วยกันด้วยหลักการ All in one เช่น การรวมขั้นตอนการเติมอากาศ การกวน การตกตะกอน การกรอง และการระบายก๊าซอันตราย มาไว้ด้วยกันในอุปกรณ์ชิ้นเดียว ทำให้จัดการดูแลรักษาได้ง่ายและใช้พื้นที่ในการก่อสร้างน้อยกว่าระบบประปาแบบเดิม นอกจากนี้ ระบบใช้เทคโนโลยีการกรองแบบ Up Flow ทำให้ตะกอนไม่อุดตันและยืดอายุใช้งานสารกรอง การล้างทำความสะอาดโดยการ Back Wash ทำได้ง่ายจากระบบวาล์วรวมศูนย์เพียงจุดเดียว จึงทำให้การจัดการระบบ และการซ่อมบำรุงมีความสะดวกและรวดเร็ว

          ดังนั้น การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบประปาป๊อกแทงค์ไปประยุกต์ใช้กับชุมชน จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่สามารถนำไปแก้ไขปัญหาระบบคุณภาพน้ำประปาชุมชนไม่ได้มาตรฐานได้ หากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมมือร่วมใจกันจัดการและแก้ไขปัญหาน้ำประปาชุมชนก็จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนแก่สังคมต่อไป