
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรษิดา บุญญาณเมธาพร
คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
เพื่ออนุรักษ์วิถีชุมชน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกและเยาวชน ชาวบ้านท่าเยี่ยมกลุ่มหนึ่งนำโดย นางสาวปาริชาต สุนทรารักษ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักศึกษาภายใต้หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (การจัดการการท่องเที่ยวและบริการแบบบูรณาการ) คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จึงเริ่มต้นการบริการท่องเที่ยวด้วยการก่อตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ในปี 2559 ตามแนวคิด “ท่องเที่ยววิถีไทย วิถีชุมชน” ด้วยการนำประเพณีโดดเด่นของจังหวัดยโสธร คือ บุญบั้งไฟ มาประยุกต์เพื่อเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) และสามารถรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ตลอดทั้งปี พร้อมทั้งฟื้นฟูวงโปงลาง ซึ่งเป็นดนตรีพื้นบ้านที่มีเสน่ห์ของอีสานและในปัจจุบันหาชมการแสดงสดโดยชาวบ้านได้ยาก นอกจากนี้ยังนำอาหารขึ้นชื่อของยโสธร คือ ลาบยโส มาปรับปรุงการนำเสนอให้สวยงามแต่คงความเรียบง่ายแบบบ้านนอกและวิถีท้องถิ่นไว้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่แวะมาเยือนได้ลิ้มลองรสชาติอาหารขึ้นชื่อของยโสธร

ต่อมา ในปี 2563 ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้ปรับโครงสร้างและทำการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนบ้านท่าเยี่ยม โดยมีกลุ่มกิจกรรมทั้งหมด 9 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กิจกรรมกลุ่มบริการท่องเที่ยว 2. กิจกรรมกลุ่มอาหารพื้นบ้าน 3. กิจกรรมกลุ่มดนตรีพื้นเมือง 4. กิจกรรมกลุ่มไก่ชนไทยสวยงาม 5. กิจกรรมกลุ่มบั้งไฟโบราณ 6. กิจกรรมกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสาน 7. กิจกรรมกลุ่มผ้าพื้นเมือง 8. กิจกรรมกลุ่มสมุนไพรและภูมิปัญญาด้านสุขภาพ และ 9. กิจกรรมกลุ่มโฮมสเตย์
บ้านท่าเยี่ยม เป็นหมู่บ้านเก่าแก่อายุกว่า 100 ปีที่ยังคงสภาพการเป็นหมู่บ้านชนบท แม้จะตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเพียง 3 กิโลเมตรก็ตาม มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงาม ทิวทัศน์ริมฝั่งน้ำกว้างที่คนในชุมชนยังมีวิถีชีวิตแบบเดิม ในช่วงแรกชุมชนมีการร่วมตัวกันเพื่อทำท่องเที่ยวโดยชุมชน ตามแนวคิด ท่องเที่ยววิถีไทย วิถีชุมชน โดยนำประเพณีโดดเด่นของจังหวัดยโสธร คือ บุญบั้งไฟ มาประยุกต์เพื่อเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) และสามารถรับนักท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี นอกจากนั้น ชุมชนยังนำ soft power ด้านอาหารที่ขึ้นชื่อของยโสธร ลาบยโส มาปรับปรุงการนำเสนอให้สวยงามแต่คงความเรียบง่ายแบบบ้านนอกและวิถีท้องถิ่นไว้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่แวะมาเยือนได้ลิ้มลองรสชาติอาหารขึ้นชื่อของยโสธร ไม่ให้เสียเที่ยวกับการมาเยือนดินแดนแห่งลาบ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดรายได้แก่ชุมชนมากยิ่งขึ้นโดยการคิดค้นกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นของฝากเพื่อสร้างอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ให้แก่ชุมชน ต่อมามีการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนภายใต้ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนบ้านท่าเยี่ยม”


การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของวิสาหกิจชุมชนบ้านท่าเยี่ยมสื่อสารผ่านแบรนด์ริมท่าเยี่ยม ซึ่งได้รับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาค 7 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จังหวัดอุบลราชธานี วิสาหกิจชุมชนบ้านท่าเยี่ยมได้พัฒนาพื้นที่ของสมาชิกและเปิดเป็นตลาดเปรมปรี เพื่อเป็นจุดนัดพบและพื้นที่ให้บริการกิจกรรมหลัก และเป็นการประยุกต์แนวคิด Wellness Tourism Model For Rural- Based Wellness Tourism หรือ รูปแบบแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาวะสำหรับพื้นที่ชนบท ซึ่งเป็นงานวิจัยดุษฎีนิพนธ์ของ นางสาวปาริชาต สุนทรารักษ์ ภายใต้ที่ปรึกษาของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรษิดา บุญญาณเมธาพร รองคณบดีฝ่ายวางแผน วิจัย และบริการวิชาการ คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์



ในปี 2564 วิสาหกิจชุมชนบ้านท่าเยี่ยมได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจาก คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรษิดา บุญญาณเมธาพร ผ่านโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจาสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย หรือ U2T) เป็นเวลา 12 เดือน ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะให้แก่สมาชิกของวิสาหกิจชุมชน ยกระดับการให้บริการด้านการท่องเที่ยว จัดทำข้อมูลด้านการท่องเที่ยว จัดทำแผนที่ท่องเที่ยว ปฏิทินการท่องเที่ยว พัฒนาคู่มือนักเล่าเรื่อง ยกระดับป้ายสินค้า พร้อมทั้งต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของวิสาหกิจชุมชนบ้านท่าเยี่ยมให้ทันสมัยและตอบโจทย์ลูกค้า โดยมีผลิตภัณฑ์ใหม่ 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ปลาส้ม Bite และ ปลาส้มคั่วสมุนไพร ในด้านบริการท่องเที่ยว ได้มีการเพิ่มกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดี 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมแช่เท้าด้วยน้ำสมุนไพร และกิจกรรมฮมหน้าด้วยน้ำสมุนไพร


ในปี 2565 วิสาหกิจชุมชนบ้านท่าเยี่ยม ได้รับคัดเลือกให้ร่วมโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) เป็นปีที่ 2 เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งได้เน้นการตลาดต่อยอดปลาส้ม Bite และ ปลาส้มคั่วสมุนไพร และได้เข้าร่วมประกวด Hackathon ระดับภูมิภาค โดยปลาส้ม Bite ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนจังหวัดยโสธร ไปแข่งขันในระดับภูมิภาคที่จังหวัดนครราชสีมา นอกจากนี้ ผศ.ดร.วรรษิดา ยังสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนบ้านท่าเยี่ยมเข้าร่วมการประกวด เส้นทางท่องเที่ยวสุขภาพสร้างสรรค์ 2023 “DOT Connect to Healthy Route 2023” จัดโดยกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยใช้ชื่อทีม “ริมท่าเยี่ยม” พร้อมให้คำปรึกษาระหว่างการแข่งขันอย่างเต็มที่ จนกระทั่งได้รับรางวัล สุดยอดเส้นทางท่องเที่ยวสุขภาพสร้างสรรค์ 2023 “DOT Connect to Healthy Route 2023”


นอกจากนี้ ด้วยกระบวนการการผลิตปลาส้ม Bite มีการประยุกต์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งมีหลักการคือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการใช้ซ้ำ ใช้วน และลดการสร้างขยะ ภาชนะที่ใช้ในกระบวนการผลิตเป็นภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ทุกชนิด และปลาส้ม Bite เป็นผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ช่วยลดขยะอาหาร หรือ food waste ด้วยเนื่องจากปลาส้ม Bite นั้นเก็บรักษาได้ง่าย ทานไม่หมดก็เก็บใส่ตู้เย็นเพื่อรับประทานต่อได้ เทียบกับปลาส้มทั้งตัวหากทานไม่หมดโอกาสที่ถูกทิ้งเป็นขยะอาหารนั้นสูงมาก นอกจากนี้ในกระบวนการผลิตปลาส้ม Bite นั้นมีชิ้นปลาส้มที่ขนาดเล็ก ไม่ได้บรรจุจำหน่ายได้ จึงมีการพัฒนาต่อยอดให้เป็น ปลาส้มคั่วสมุนไพร ริมท่าเยี่ยม ที่ใช้เนื้อปลาส้มที่ไม่ได้ขนาดจากการแปรรูปปลาส้ม Bite มาต่อยอด เป็นการตอบรับนโยบาย BCG โดยเฉพาะเรื่อง Zero Waste และไม่เป็นการสร้างผลกระทบเรื่องมลภาวะต่อชุมชน กินเนื้อปลาได้เยอะขึ้น ลดการทิ้งเนื้อปลาส่วนต่างๆโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 12 ที่มีเป้าประสงค์ที่ครอบคลุมประเด็น การจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และสอดคล้องโดยตรงกับเป้าหมาย่อย (12.2) การลดของเสียที่เป็นอาหาร (food waste) เป้าหมายย่อย (12.4) ลดของเสียโดยกระบวนการ reuse และ recycle เป้าหมายยย่อย (12.8) เน้นให้มีการสนับสนุนขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศกำลังพัฒนาให้นำไปสู่รูปแบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เป้าหมายย่อย และ (12.a) พัฒนาเครื่องมือในการประเมินผลกระทบของการพัฒนาที่ยั่งยืน ต่อการท่องเที่ยวที่นำมาสู่การจ้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

ความสำเร็จของชุมชนบ้านท่าเยี่ยมในวันนี้ มาจากหลายปัจจัยสำคัญทั้งภายในและภายนอกชุมชนที่เมื่อผสมผสานกันแล้วทำให้ชุมชนยิ่งเข้มแข็ง ส่งเสริมจุดแข็งที่มีให้ยิ่งโดดเด่นมากขึ้น พัฒนาจุดอ่อนที่คิดว่าจะพัฒนาไม่ได้จากโอกาสและการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก ความพร้อมเรื่องบุคลากรของชุมชนทุนทางสังคมเป็นปัจจัยหลักพื้นฐานที่สำคัญ ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมที่แท้จริง การระเบิดจากข้างใน มันคือสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนความท้าทายที่เกิดขึ้นให้ดำเนินการได้อย่างราบรื่น จากแนวคิดทุกคนเป็นเจ้าของและมีสิทธิ์ในการบริหารจัดการด้วยตนเองร่วมกันเพื่อน พี่ น้องในชุมชน ด้วยความร่วมมือของชุมชนและการทำงานอย่างเข้าใจระหว่างคณะทำงานของ ผศ.ดร.วรรษิดาและชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จนกลายเป็นประสบการณ์และการทำงานร่วมกันตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้โครงการจะจบสิ้นไปแล้ว แต่ความสัมพันธ์ฉันญาติมิตรและการพัฒนาการท่องเที่ยวยังคงดำเนินต่อไปร่วมกันอย่างไม่มีวันจบ






