กินอยู่อย่างพอดี

“การพัฒนาที่ยั่งยืน” ต้องไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

 การพัฒนาที่ยั่งยืน จะเติบโตแค่ด้านเศรษฐกิจและสังคมไม่ได้ เราต้องหันมาใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปข้างหน้าพร้อมกัน และที่สำคัญจะต้องไม่ทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำทางสังคม นั่นคือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน”

          มาร่วมเปิดมุมมอง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ไปด้วยกัน ผ่านบทสัมภาษณ์จากผู้สำเร็จการศึกษา หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ “ดร.อรทัย ภูบุญลาภ กูนาซีลาน” ที่ปรึกษา (Counsellor) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา คาซัคสถาน

“การพัฒนาที่ยั่งยืน” ต้องไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

  “กินอยู่อย่างพอดี ใช้ทรัพยากรให้พอดี คิดเผื่อคนรุ่นหลัง เพราะถ้าบนโลกใบนี้ไม่มีทรัพยากรหลงเหลือ สภาพแวดล้อมถูกทำลาย ไม่พัฒนาอย่างยั่งยืน ทุกอย่างก็จบ” ดร.อรทัย ภูบุญลาภ กูนาซีลาน ตัวแทนผู้สำเร็จการศึกษา คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่มองว่าเราในฐานะผู้ใช้ทรัพยากรโลกในปัจจุบัน ต้องคิดเผื่อคนรุ่นหลังให้มีทรัพยากรใช้ต่อไป 

          การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนาไปข้างหน้า มีความเจริญ มีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ขณะเดียวกันต้องมีการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม และต้องไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม วิธีการง่าย ๆ ที่เราทุกคนสามารถเริ่มต้นและช่วยกันพัฒนอย่างยั่งยืนได้ คือ การกินอยู่อย่างพอดี  ใช้ทรัพยากรให้พอดี นึกถึงสิ่งที่เราใช้ในปัจจุบัน ว่าจะหลงเหลือไปถึงลูกหลานไหม ฉะนั้นการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เราควรคิดถึงคนรุ่นหลังด้วย  เพราะถ้าทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่มีทรัพยากรหลงเหลือ สภาพแวดล้อมถูกทำลาย น้ำท่วม นาข้าวไม่มีข้าวเพราะดินเสีย เสื่อมสภาพ มีสารพิษตกค้าง อากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ถ้าเราไม่พัฒนาอย่างยั่งยืนก็จบ

          ในการทำงานด้านการทูต เป็นการทำงานงานเพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศไทย และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศที่ประจำการอยู่ ในการเป็นตัวแทนของประเทศไทย ไปประจำการ ณ สถานเอกอัครราชทูต กรุงอัสตานา คาซัคสถาน เราต้องมองหาจุดเชื่อมโยง ร่วมระหว่างไทยกับคาซัคสถาน โดยประเทศไทยเราจะเน้นเรื่องของ BCG Model ขณะที่คาซัคสถานก็ให้ความสนใจเรื่องของ Green Economy เรามองว่า 2 สิ่งนี้สามารถนำมาเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับโลกได้ 

          โดยนำ BCG Model มาผนวกกับสิ่งที่สังคมของคาซัคสถานมีอยู่เยอะ อย่างเช่น “ยูเรเนียม” รวมถึงแร่ธาตุสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ โดยไม่ต้องใช้น้ำมัน เราได้รับความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมชิ้นนี้จากภาคส่วนต่าง ๆ ของคณะผู้แทนไทย มาร่วมจับคู่ทางธุรกิจ อุตสาหกรรม ดูว่าจะทำอะไรด้วยกันได้บ้างเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

เรียนต่อกับนิด้าเป็นอย่างไร

          การเรียนปริญญาเอกที่นิด้า คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หลักสูตรนานาชาติ ทำให้กลายเป็นคนที่มีทักษะทางด้านภาษาอังกฤษดีมาก สามารถที่จะเขียนหรือพูดได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะเราเป็นผู้แทนประเทศจะต้องไปประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ไปส่งเสริมความร่วมมือผลประโยชน์ของไทย ทักษะนี้มันทำให้เราสามารถที่จะเอามาใช้กับงานในการส่งเสริมผลประโยชน์ของไทยในคาซัคสถาน หรือในประเทศที่ดูแลอยู่ และสามารถที่จะเจรจาหรือตอบโต้ได้อย่างทันที นอกจากนี้การเรียนต่อยังทำให้เราเป็นคนที่มีมุมมองที่หลากหลาย กว้างขึ้น เราได้รับมุมมองต่าง ๆ จากนักวิชาการ ทำให้เราเข้าใจมุมมองของมนุษย์ ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้ทำให้เราสามารถต่อยอดการทำงานได้เป็นอย่างดี เพราะเราไม่ได้รับความรู้แค่จากตำราเรียน แต่เราได้ความรู้และความเข้าใจจากงานวิจัยที่เราทำ

นิด้าสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทย และกับสังคมไทย แล้วก็ให้กับนานาประเทศ