ผู้สำเร็จการศึกษา ครั้งที่ 43 อาทิตยา

“การพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นเรื่อง “ใกล้ตัว” และเราต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้

   ทรัพยากรบนโลกใบนี้มีอย่างจำกัด การใช้ชีวิตของเรามันมีผลกระทบอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะสามารถรักษาสมดุลหรือทำให้มันเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาทดแทนสิ่งเก่าที่มันถูกทำลายอย่างไรได้บ้าง 

          มาร่วมเปิดมุมมอง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ไปด้วยกัน ผ่านบทสัมภาษณ์จากผู้สำเร็จการศึกษา หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์และนวัตกรรม คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ “ผศ.ดร.อาทิตยา ทรัพย์สินวิวัฒน์” ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการเพื่อสังคม วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)

“การพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นเรื่อง “ใกล้ตัว” และเราต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้

          “ทรัพยากรบนโลกมีจำกัด ทุกการใช้ชีวิตมีผลต่อสิ่งอื่น เราต้องรักษาสมดุล สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาทดแทนสิ่งที่ถูกทำลาย เราต้องเริ่มการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งแต่วันนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา” ผศ.ดร.อาทิตยา ทรัพย์สินวิวัฒน์ ตัวแทนผู้สำเร็จการศึกษา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ ในฐานะคนทำงานบริการวิชาการเพื่อสังคม เล่ามุมมองของการพัฒนาที่ยั่งยืน ไว้ว่า

          การพัฒนาที่ยั่งยืน มีด้วยกัน 2 ส่วน ส่วนแรกคือตัวเราเอง อยากให้ทุกคนมองตัวเราในฐานะพลเมืองโลก ไม่จำเป็นต้องมองในฐานะที่เป็นคนไทย เชื้อชาติไหน สัญชาติไหน มีวัฒนธรรมอย่างไร ถ้าเราลบส่วนนี้ทิ้งไป แล้วมองว่าเราเป็นพลเมืองโลกคนหนึ่ง ต้องช่วยกันพัฒนาในส่วนต่าง ๆ ให้โลกใบนี้ยังอยู่ได้ โดยที่คนรุ่นหลังยังสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ และอีกส่วนหนึ่งที่จะมาสนับสนุนเรา ก็คือระบบที่ดีจากการจัดการของทางภาครัฐและภาคเอกชน ที่ต้องให้ความช่วยเหลือและให้ความร่วมมือกัน เพื่อให้การพัฒนาโลกใบนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าองค์กรใดจะไม่อยู่ หรือวันหนึ่งเราจะไม่อยู่โลกใบนี้ ก็ยังมีพื้นที่ที่จะเปิดโอกาสให้คนรุ่นหลังสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ 

          เราต้องเริ่มการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งแต่วันนี้ เพราะทรัพยากรบนโลกใบนี้มันมีอย่างจำกัด ทุกการใช้ชีวิตของเรามีผลต่อสิ่งอื่น เพียงแต่จะสามารถรักษาสมดุลหรือทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาทดแทนสิ่งเก่าที่มันถูกทำลายอย่างไรได้บ้าง การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อากาศ อาหาร เราก็จะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้อีกแล้ว คนรุ่นหลังก็จะไม่มีทรัพยากรให้ใช้และมีชีวิตอีกต่อไป

         ในฐานะของการเป็นอาจารย์ด้านการสื่อสาร การตลาด การประชาสัมพันธ์ และในบริบทการทำงานบริการวิชาการเพื่อสังคม เราจึงนำศาสตร์การสื่อสารต่าง ๆ มาใช้ทำกิจกรรมกับชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เมื่อเราทำงานบริการวิชาการเพื่อสังคม เราจะถามกับชุมชนว่า “ชุมชนมีความต้องการอะไร” เราก็หยิบยกองค์ความรู้ขององค์กรเราไปพัฒนาชุมชน ทั้งการพัฒนาสินค้า การท่องเที่ยว หรือการพัฒนาชุมชน และเมื่อวันหนึ่งที่เราถอนตัวออกจากชุมชนแล้ว ชุมชนจะต้องเดินหน้าและอยู่ต่อได้ 

          ตลอดระยะเวลาการทำงานกับชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เราได้เห็นความสำเร็จของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการที่ชุมชนต่อยอดพัฒนาสินค้า การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดีขึ้น มียอดขายที่ดีขึ้น รวมถึงคนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เรียนต่อกับนิด้าเป็นอย่างไร

          การเรียนต่อที่นิด้า ทำให้ได้ “สังคม” นิด้า มีกิจกรรมในห้องเรียนเยอะ การทำรายงานกลุ่ม หรือการอภิปรายในห้องเรียน เพื่อนร่วมชั้นเรียนต่างมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน รวมทั้งความสนุกสนาน ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนร่วมกัน หากนิยามสั้น ๆ คือ “Edutainment” เรายังเป็นคนในแวดวงการศึกษา แต่เราก็ยังมีความบันเทิงในการศึกษาควบคู่กันไป เราสามารถทำให้ความรู้เป็นเรื่องที่สนุก เข้าถึงกลุ่มคนหมู่มากได้ นอกจากนี้ยังได้มุมมองอีกมากมายจากคณาจารย์ของนิด้าที่มีความเชี่ยวชาญ หลากหลาย รู้ลึก รู้จริง คำแนะนำจากคณาจารย์สามารถนำมาพัฒนาเป็นงานวิจัยจริง และนิด้ายังให้อิสระกับหัวข้อการทำวิจัย เลือกทำได้อิสระตามความถนัดของเรา