โดย อ.ดร.ภูมิ เพชรกาญจนาพงศ์ คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นที่เรียบร้อยแล้วแล้ว โดยสิ้นปี 2565 ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 12,698,362 คน หรือคิดเป็นจำนวน 19.21% ของประชากรทั้งหมด 66,090,475 คน สิ่งนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในประเทศไทย สังคมสูงวัยกำลังเป็นเทรนด์ของโลกใบนี้โดยพบว่าประเทศยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่นรวมถึงอีกหลายประเทศต่างก็เผชิญสถานการณ์เดียวกัน จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าติดตาม ว่าสังคมสูงวันส่งผลอย่างไรบ้างต่อภาคส่วนต่างๆของสังคม รวมถึงว่าสังคมสูงวัยนั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สวัสดีครับผม ภูมิ เพชรกาญจนาพงศ์ อาจารย์จาก คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ในวันนี้ผมจะมาชวนทุกท่านคุยเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งที่กำลังเป็นกระแสของสังคมไทยในขณะนี้และจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆอย่างเรื่องของ สังคมสูงวัยครับ
หลายๆท่านน่าจะทราบดีแล้ว ว่าปัจจุบันประเทศไทยเราได้เข้าสู่สังคมสูงวัยสมูบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในอีกไม่นานมีโอกาสที่จะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างยิ่งยวด ซึ่งถามว่าคืออะไร สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ก็คือ เมื่อประชากรสูงอายุเกิน 20% เป็นต้นไป ของประชากรทั้งประเทศ และเมื่อเกิน 25% เค้าจะเรียกว่าสังคมสูงวัยอย่างยิ่งยวด ซึ่งในกรณีของประเทศไทยถึงแม้ในภาพรวมเรากำลังจะกลายเป็นสังคมสูงวัยสมบูรณ์อย่างเป็นทางการในปี 2566 นี้ แต่ในบางพื้นที่ เราได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างยิ่งยวดไปที่เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทเขตภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่อัตราผู้สูงอายุบางพื้นที่ใกล้แตะ ร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมดเต็มที

เพราะฉะนั้นสังคมสูงวัยจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าติดตาม ควรพูดคุยแรกเปลี่ยนถกเถียงกันว่ามันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง แล้วมันไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้และประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีลักษณะของการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศยุโรปตะวันตก ประเทศเหล่านี้ แล้วแต่เข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นเราสามารถกล่าวได้ว่า สังคมสูงวัยกำลังเป็นเทรนด์ของโลกใบนี้ ผลจากการเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกดังกล่าว ทำให้สังคมสูงวัยหรือประเด็นเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในหัวข้อที่บรรจุเอาไว้ใน SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน แม้ว่าจะไม่ได้มีแยกเป้าหมายด้านสังคมสูงวัยหรือผู้สูงอายุออกมาโดยตรง แต่หากดูให้ดีเราก็พบว่ามีประเด็นเรื่องของสังคมสูงวัยปรากฏในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเห็นได้ชัด
ในประเด็นแรก คือ เรื่องของความยากจน SDGs มีการกล่าวถึงเรื่องของความยากจนอย่างเห็นได้ชัด โดยมีการระบุว่าจะพยายามแก้ไขปัญหาความยากจน แม้ว่า SDGs จะไม่ได้ระบุเกี่ยวกับเรื่องของความยากจนของผู้สูงอายุ แต่กลับระบุถึงความยากจนในรูปแบบของทั่วไป แต่อย่าลืมว่าผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีโอกาสเสี่ยงตกสู่ความยากจนอย่างมากที่สุด เพราะว่าผู้สูงอายุ เมื่อเข้าถึงวัยเกษียณ โอกาสที่จะมีแหล่งรายได้เพิ่มเข้ามาก็จะน้อยลงตามไปด้วย และการลดน้อยลงของรายได้ก็จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถตกไปสู่ความยากจนได้

นอกจากเป้าหมายที่หนึ่ง แล้วเป้าหมายที่ 3 ซึ่งพูดถึงเรื่องของระบบประกันสุขภาพและระบบสาธารณสุข ถึงแม้ว่าจะไม่ได้กล่าวเฉพาะเจาะจงเฉพาะผู้สูงอายุ แต่แน่นอนว่าทุกท่านทราบดี ว่า ผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความต้องการทางด้านระบบบริการสาธารณสุขอย่างมากที่สุด ลองนึกภาพ ผู้สูงอายุที่มีลักษณะของป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุที่มีลักษณะของความเจ็บปวดทางร่างกายต่างๆ ผู้สูงอายุที่อยู่ตามชุมชนต่างๆที่ต้องได้รับบริการสาธารณสุขมูลฐาน ผู้สูงอายุเหล่านี้กึ่งๆมีลักษณะเป็นผู้ป่วยและผู้พิการด้วย เพราะฉะนั้นระบบสาธารณสุขที่ดี เพราะจะทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามขึ้นมาด้วย

ในส่วนต่อมา เป็นเรื่องของความปลอดภัย แม้ว่าความปลอดภัยจะไม่มีระบุแยกออกมาเป็นเป้าหมายใดเป้าหมาย หนึ่ง ของ SDGs แต่ว่าในหลายเป้าหมายพูดถึงความปลอดภัย พูดถึงระบบป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แน่นอน ว่าเกี่ยวข้องกับคนทุกคน อย่างไรก็ตาม อย่างที่ทุกท่านทราบว่าผู้สูงอายุมีลักษณะเป็นกลุ่มคนที่มีความเปราะบางสูง เนื่องจากสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง เพราะฉะนั้นเราพูดถึงความปลอดภัยก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ที่จะคำนึงถึงผู้สูงอายุก่อนเป็นหลัก เพราะว่าผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะถูกทำร้ายโดยคนในครอบครัวสูง ซึ่งในปัจจุบันทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศทุกท่านน่าจะเคยได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายในครอบครัวเกิดกับผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุมีร่างกายที่อ่อนแอยากที่จะปกป้องตัวเอง และมีภาวะพึ่งพิงครอบครัว ดังนั้นเมื่อถูกครอบครัวทำร้ายร่างกายก็ไม่สามารถตอบโต้ได้ตามความเหมาะสม