การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่เกิดองค์รวมหรือความสมดุล ทำให้คนรุ่นหลังสามารถดำเนินงานกับกลุ่มงานเดิมได้ ถ้ามองตัวอย่างการพัฒนาแบบ “S-Curve” ตัว “S” จะเป็นเหมือนเลขแปด (8) ที่จุดเริ่มต้นกับตอนสุดท้ายมาประจบกัน ก็เหมือนกับการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
มาร่วมเปิดมุมมอง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ไปด้วยกัน ผ่านบทสัมภาษณ์จากผู้สำเร็จการศึกษา หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ “ดร.ปวีณ นราเมธกุล” ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
“กฎหมายเป็นเครื่องมือที่จะผลักดันองค์กรหรือการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนได้โดยบูรณาการประสานศาสตร์อื่น ๆ การทำงานแบบยั่งยืน จะทำให้รูปแบบการพัฒนาของประเทศไทยยังคงอยู่ ไม่ว่าใครที่จะมาทำงาน ก็สามารถทำงานได้อย่างยั่งยืนเสมอ” ดร.ปวีณ นราเมธกุล ตัวแทนผู้สำเร็จการศึกษา คณะนิติศาสตร์ นำระบบความคิดที่ได้รับจากงานวิจัยไปใช้บูรณาการให้เกิดความยั่งยืนในการทำงาน

การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาในองค์รวมหรือการพัฒนาให้เกิดความสมดุล ที่สามารถทำให้คนรุ่นหลังดำเนินการต่อไปในกลุ่มงานเดิมได้ ส่งต่อความรู้ความสามารถและประสบการณ์การทำงานให้กับคนรุ่นหลัง ถ้ามองการพัฒนาแบบ “S-curve” ตัว “S” จะเป็นเหมือนเลข “8” ที่จุดเริ่มต้นกับตอนสุดท้ายมาประจบกัน กลับมาเป็นการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพราะถ้าเราไม่ทำงานแบบบูรณาการต่อกัน รูปแบบงานก็จะเป็นรูปแบบปัจเจกขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล คนสามารถที่จะเกษียณอายุได้ สามารถออกจากระบบได้ แต่ระบบยังคงอยู่ การพัฒนาที่ยั่งยืนจะทำให้รูปแบบของการพัฒนาประเทศคงอยู่ ต่อไปเมื่อระบบคงที่แล้ว ไม่ว่าใครมาทำงานก็สามารถดำเนินการให้เกิดความยั่งยืนและเกิดการพัฒนาในประเทศได้เสมอ
เราได้นำเอาแนวคิด ปรัชญาที่นิด้าให้มา ไปพัฒนาในการทำงาน โดยคิดแบบเป็นองค์รวม การบูรณาการงานทำให้เกิดความยั่งยืนในการทำงาน หลักคิดของนิด้าทำให้ได้คิดว่าต่อไป อีก 5 ปี ข้างหน้า 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราจะต้องบูรณาการประสานศาสตร์ ระหว่างศาสตร์ของกฎหมาย กับศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือการบริหารธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดประสบการณ์และการเรียนรู้
การบูรณาการประสานศาสตร์ เกิดองค์ความรู้เป็นภาพรวม ทำให้มองเห็นภาพกฎหมายเป็นเครื่องมือการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่กฎหมายที่เป็นวิชาการอย่างเดียว แต่กฎหมายเป็นเครื่องมือที่จะผลักดันองค์กรหรือการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนได้
เรียนต่อกับนิด้าเป็นอย่างไร
นิติศาสตร์ของนิด้าได้สร้างบุคลากรพิเศษขึ้นมากลุ่มนึง การเรียนปริญญาเอกกฎหมาย เป็นเหมือนการสร้างสถาปนิกสังคม ที่เรียกกว่า Social Architect การที่เราได้ออกแบบกฎหมายให้มันถูกต้องต่อบริบทต่อสังคม ไม่ต่างกับการเป็นสถาปนิกที่คอยจัดระบบ วางระเบียบบ้าน สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการนำผลงานวิชาการไปใช้ประโยชน์ให้กับประเทศ เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
“จุดเด่นของนิด้าที่ แตกต่างจากที่อื่น คือการสร้างนักคิด ถึงแม้จะอยู่ในสาขาที่ต่างกัน แต่สุดท้ายจุดหมายปลายทางก็คือการพัฒนาที่ยั่งยืนเหมือนกัน”