Sustainable Development Goals Ep.2 เริ่มที่รัฐ จบที่ยั่งยืน Part 1

Sustainable Development Goals Ep.2 เริ่มที่รัฐ จบที่ยั่งยืน Part 1

โดย รศ.ดร.ณดา จันทร์สม l ผศ.ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์ l ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)”

ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ต้องประกอบไปด้วยความสามารถ 2 ส่วน คือ 1. ความสามารถในการรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นฉับพลันทันที และ 2. การปรับตัวเข้าหากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ความยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้เองโดยกลไกตลาด ระบบที่มีในระบบเศรษฐกิจได้อย่างเสมอไป ดังนั้นรัฐจะต้องเข้ามาแก้ปัญหาที่กลไกที่มีอยู่ปกติของระบบเศรษฐกิจไม่สามารถทำงานของมันให้เกิดความยั่งยืนได้ รัฐต้องเข้ามามีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ

ในปัจจุบันความยั่งยืนกลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมีปัญหาที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนหลายเรื่องด้วยกันเราหันกลับไปดูว่าความยั่งยืนคืออะไร จะเห็นว่า ถ้าจะให้เกิดความยั่งยืนขึ้นประกอบไปด้วยความสามารถ 2 ส่วน ส่วนแรก คือความสามารถในการรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นฉับพลันทันที และอีกส่วน ก็เป็นปัญหาในการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้ามีความสามารถ 2 อย่างนี้ เราก็จะสามารถเกิดความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ ในคำถามตามมาของเราก็คือว่าความยั่งยืนเกิดขึ้นได้โดยกลไกตลาดโดยการทำงานของระบบที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจเองเลยหรือเปล่า เราก็จะเจอคำตอบก็คือว่ามันไม่แน่เสมอไป ปัญหาที่มีผลกระทบต่อความยั่งยืน ปรากฏอยู่ในรูปแบบของปัญหาโลกร้อน ปัญหาของการมีมลพิษเกิดขึ้น คนในระบบเศรษฐกิจไม่ได้มีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ไม่มีความซื่อสัตย์ต่อสังคม ไม่ได้มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ไม่มีความรับผิดชอบต่อชุมชน ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น เราเห็นคนขับรถไม่ทำตามกฎจราจร ทั้งๆ ที่รู้ว่า มันมีกฏอยู่ ถามว่ารู้ไหมว่ามันผิดกฎหมาย เราก็รู้ เพียงแต่ว่าเราจะทำเพราะว่าเราไม่ได้ถูกจับ เพราะฉะนั้นปัญหาต่างๆ เหล่านี้มันนำไปสู่การบั่นทอนความยั่งยืนในอนาคต

แล้วรัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทอย่างไรบ้าง รัฐจะต้องเข้ามาแก้ปัญหาที่กลไกที่มีอยู่ตามปกติของระบบเศรษฐกิจไม่สามารถทำงานของมันให้เกิดความยั่งยืนได้ ดังนั้นรัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก ในช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ

ในปี 1997 ที่เรามีวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรง มันเป็นปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในภาคการเงิน เราก็จะเห็นรัฐต้องเข้ามาปรับเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆ ที่อยู่ในภาคการเงินหลายอย่าง แล้วผลที่เกิดขึ้นก็คือมันทำให้กลไกหรือระบบเศรษฐกิจโดยรวม ได้มีการเรียนรู้ แล้วก็เห็นว่าจริงๆแล้วมันต้องมีอีกหลายอย่างที่ระบบเศรษฐกิจจะต้องทำ

ในปี 2020 จากการระบาดของโควิด-19 เราจะพบว่าภาคการธนาคารของเรามีความเข้มแข็งกว่าปี 1997 เพราะฉะนั้นบทบาทของรัฐที่เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนจึงมีความสำคัญที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน อย่างไรก็ตามและก็ต้องมีความระมัดระวังในการทำสิ่งที่ไม่ควรทำ และไม่ทำในสิ่งที่ควรทำทั้งสองอย่างล้วนแล้วแต่เป็นปัญหา

การลงทุนของภาครัฐหลายอย่างเป็นตัวอย่างที่รัฐตัดสินใจว่ารัฐจะเข้าไปทำอะไรบ้าง รัฐลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ถามว่าโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้น รัฐควรจะมีบทบาทอย่างไร การดำเนินโครงการของรัฐก่อให้เกิดผลตอบแทนที่คุ้มค่า ก่อให้เกิดผลตอบแทนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมจริงหรือเปล่า หรือมันก่อให้เกิดปัญหาใหม่ เช่น สมมติว่ารัฐควรลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แล้วรัฐบอกว่ารัฐมาสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ก่อให้เกิดปัญหาตามมาก็คือว่าการเจริญมันมากระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง คนในต่างจังหวัดไม่มีโอกาสได้ใช้รถไฟฟ้าที่รัฐลงทุนสร้าง แต่ในขณะเดียวกันงบประมาณที่รัฐเอาไปใช้ในการสร้างกลับเป็นงบประมาณที่มาจากภาษีที่เก็บโดยคนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นปัญหาต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการลงทุนของภาครัฐก็ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ก่อให้เกิดปัญหาของการที่พื้นที่ในประเทศมีความแตกต่างกันในเรื่องของความเจริญ ขีดความสามารถในการสร้างรายได้ของคนในประเทศก็มีความแตกต่างกัน ก็เป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ อันนั้นก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้เราเห็นว่ารัฐจำเป็นจะต้องมีบทบาทในการที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนได้