Sustainable Development Goals : เริ่มที่รัฐ จบที่ความยั่งยืน Part 2

Sustainable Development Goals : เริ่มที่รัฐ จบที่ความยั่งยืน Part 2

            เกษตรกรรมยั่งยืน” คือ ระบบการผลิตทางด้านการเกษตรที่คำนึงถึงความสมดุล 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เป็น 1 ในตัวอย่างบทบาทของภาครัฐที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน เกษตรกรรมยั่งยืน เป็นการพัฒนาพืชผลทางการเกษตรเพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่เบียดเบียนทรัพยากรของคนรุ่นต่อไป เช่น การปลูกพืชผสมผสาน การใช้สารชีวพันธุ์เพื่อลดสารตกค้างในดิน การส่งเสริมการวิจัยด้านการเกษตร ฯลฯ


โดย รศ.ดร.ณดา จันทร์สม l ผศ.ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์ l ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)”

            ตัวอย่างบทบาทภาครัฐ ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนก็คือการส่งเสริมให้เกิดเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เกษตรกรรมยั่งยืน ก็คือระบบการผลิตทางด้านการเกษตร ที่คำนึงความสมดุลของมิติ 3 มิติด้วยกัน ซึ่ง 3 มิติดังกล่าวได้แก่ มิติแรก เป็นมิติด้านสิ่งแวดล้อม คือการรักษาคุณภาพของระบบนิเวศและคุณภาพของทรัพยากร มิติที่สอง คือมิติด้านเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าจะทำเกษตรกรรมโดยที่คำนึงหลายๆ มิติแล้ว แต่มิติที่สำคัญก็คือการทำกำไรของเกษตรกรด้วย แล้วก็มิติสุดท้ายเป็นมิติด้านสังคม เป็นมิติที่ส่งเสริมความเสมอภาคคำนึงถึงความเสมอภาคของการเข้าถึงทรัพยากรของคนในสังคม ซึ่งเกษตรกรรมยั่งยืนจะเป็นการพัฒนาพืชผลทางการเกษตร เพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยที่ไม่ได้ไปเบียดเบียนทรัพยากรของคนรุ่นต่อไป 

            ที่ผ่านมาเกษตรกร ก็น่าจะคุ้นชินกับระบบเกษตรกรรมดั้งเดิมที่เป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว การใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช รัฐก็เลยมีบทบาทที่จะเข้ามาสนับสนุนให้เกษตรกรเริ่มระบบการผลิตที่เป็นเกษตรยั่งยืน โดยตัวอย่างแรกก็คือ 1. รัฐก็ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชแบบผสมผสาน การปลูกพืชแบบผสมผสานก็จะช่วยลดแมลงศัตรูพืช แล้วก็ชะลอเวลาในการเสื่อมคุณภาพของดินไปด้วย ตัวอย่างที่ 2 การส่งเสริมให้ใช้สารชีวะภัณฑ์ สารชีวะภัณฑ์ ก็คือสิ่งมีชีวิตที่ใช้ในการป้องกันแล้วก็กำจัดแมลงศัตรูพืช ซึ่งสารชีวภัณฑ์ผลิตและพัฒนามาจากพืช สัตว์ หรืออาจจะเป็นจุลินทรีย์ การใช้สารชีวะภัณฑ์ที่ได้กล่าวมาจะทำให้ช่วยลดสารตกค้างที่อยู่ในดิน เพราะว่ามีการใช้สารชีวะภัณฑ์ทดแทนสารเคมี หรือว่าใช้ผสมกับสารเคมี นอกจากจะลดสารตกค้างที่อยู่ในดินแล้ว สารชีวะภัณฑ์สามารถที่จะผลิตได้เองภายในประเทศ ก็จะทำให้ลดการพึ่งพาการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศด้วย 

            ทั้งนี้รัฐบาลก็เห็นความสำคัญของสารชีวะภัณฑ์ จะมีหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งที่ทำงานวิจัยในด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. กรมวิชาการเกษตรสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. หน่วยงานเหล่านี้ได้ทำวิจัยในการคิดค้นสารชีวะภัณฑ์ พัฒนาสารชีวะภัณฑ์ และขยายการผลิตเป็นในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งให้ความรู้กับเกษตรกร เพื่อที่จะให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการใช้สารชีวะภัณฑ์ และสามารถที่จะเข้าถึงสารชีวะภัณฑ์ได้ในราคาที่เหมาะสม ตัวอย่างถัดมา 3. บทบาทของรัฐที่ส่งเสริมสนับสนุนให้มีงานวิจัยที่เพิ่มผลิตภาพทางด้านการเกษตร เช่น งานวิจัยที่เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์หรือต้นพันธุ์ ที่จะพัฒนาให้พืชมีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น มีความทนทานต่อแมลงหรือศัตรูพืชได้มากขึ้น 4. รัฐจะเป็นบทบาทที่รัฐเข้าไปส่งเสริมโครงการบริหารจัดการน้ำภายในชุมชน ซึ่งจะช่วยให้ลดปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ การแย่งชิงทรัพยากรน้ำในชุมชนเกษตรกรรม ซึ่งจะสามารถส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคในการเข้าถึงทรัพยากรได้ด้วยเช่นกัน โดยที่โครงการจัดการบริหารน้ำสามารถที่จะต่อยอดไปถึงโครงการการสร้างอาชีพ คือพอเมื่อมีน้ำก็จะสามารถเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ดีขึ้น พอมีเงินมีอาชีพมีเงินมีรายได้แล้วก็ต่อยอดไปจนถึงโครงการที่ส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนให้เกิดกองทุนสวัสดิการ ซึ่งกองทุนสวัสดิการนี้ เงินส่วนหนึ่ง ก็จะนำมาเพื่อบริหารจัดการน้ำในชุมชน ซึ่งจะเป็นวัฏจักรหมุนเวียนในชุมชน ทำให้ลดการพึ่งพาเงินงบประมาณจากภาครัฐได้ 

            อย่างในกรณีของโครงการโคกหนองนา ซึ่งคณะพัฒนาการเศรษฐกิจได้มีโอกาสมีส่วนเข้าไปในเข้าไปในกระบวนการของการประเมินโครงการก็จะเห็นภาพของการช่วยเหลือจากภาครัฐ ในแง่ของการให้การสนับสนุนงบประมาณ โดยกิจกรรมที่เราเห็นอยู่ในโครงการของโคกหนองนาก็คือ รัฐจำเป็นจะต้องให้การช่วยเหลือเกษตรกร โดยการให้เงินทุนในการปรับปรุงพื้นที่ซึ่งในการปรับปรุงพื้นที่ก็เพื่อที่จะให้เกษตรกร มีพื้นที่ในการเก็บรักษา เก็บน้ำเอาไว้ใช้ทำให้พื้นที่การเพาะปลูกของเกษตรกรเองสามารถใช้เพาะปลูกได้ตลอดปี การใช้การเพาะปลูกก็เป็นการเพาะปลูกแบบผสมผสานทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่สม่ำเสมอ มีเสถียรภาพ สามารถที่จะพึ่งพาพืชที่ปลูกในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งเป็นการลดรายจ่ายของเกษตรกร การดำเนินการในลักษณะแบบนี้จะมีความยั่งยืนกว่าการใช้นโยบายในลักษณะที่เป็นการหยิบยื่นให้เกษตรกร อย่างเช่น การประกันราคาการจำนำราคา หรือแม้แต่การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 

            ตัวอย่างข้างต้นที่ได้กล่าวไปแล้ว ก็จะเป็นตัวอย่างที่เป็นบทบาทของภาครัฐที่ช่วยผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่สอง คือ การขจัดความหิวโหย

เริ่มที่รัฐ จบที่ความยั่งยืน part 1 ความยั่งยืน รัฐ

เริ่มที่รัฐ จบที่ความยั่งยืน part 3 ออกแบบแผนงาน