โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง
BCG Series เดือนสิงหาคม นำเสนอเรื่องราวการคืนคุณค่าให้ผืนป่า พร้อมตัวอย่างปฏิบัติที่ดี ได้แก่ โครงการหลวง โครงการพัฒนาดอยตุง ที่สร้างประโยชน์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม พร้อมๆ กับรักษามรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอันล้ำค่าของชาติ และเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนกลยุทธ์ BCG
โครงการหลวง Royal Project Foundation
แรกเริ่ม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงก่อตั้งโครงการหลวงขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี รับผิดชอบในการดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ความยากจน และการปลูกฝิ่นของชนกลุ่มน้อยบนภูเขาในภาคเหนือของประเทศไทย ต่อมา ในปี พ.ศ. 2535 โครงการหลวงได้กลายเป็นมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อต่อยอดงานวิจัยและงานพัฒนาที่กำลังดำเนินการอยู่ ปัจจุบันเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ซึ่งยังคงสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์บนดอยทางภาคเหนือ ให้ร่วมป้องกันและอนุรักษ์ป่าไม้ ด้วยการหยุดการทำการเกษตรที่ไม่ยั่งยืน เช่นการตัดไม้และเผา และฟื้นฟูป่าต้นน้ำในพื้นที่สูงของประเทศไทย โครงการนี้เป็นที่รู้จักในฐานะโครงการแรกที่ประสบความสำเร็จในการกำจัดการปลูกฝิ่นโดยแทนที่ด้วยพืชที่ถูกกฎหมายและแนวทางการพัฒนาทางเลือก ขับเคลื่อนกลยุทธ์ BCG โดยการเสริมสร้างศักยภาพ ให้ผู้คนได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการทำการเกษตรที่ยั่งยืนมากขึ้นโดยไม่ทำลายป่า สร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม โดยสนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยทำไร่ผลไม้ที่ให้รายได้สูงกว่าฝิ่น เช่น ต้นท้อ สตรอว์เบอร์รี อีกทั้งแปรรูปผลิตผลเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์ดอยคำ เช่น กาแฟ ชา น้ำผลไม้ และกรีกโยเกิร์ต
#SDG1 #SDG8 #SDG15 #SuDSESC #Nida #NIDAThailand
โครงการดอยตุง
เริ่มแรก ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เป็นที่รู้จักในการช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเลิกตัดไม้ทำลายป่า ด้วยการโน้มน้าวให้เปลี่ยนจากการปลูกและค้าขายฝิ่น มาทำมาหากินอย่างถูกกฎหมาย เช่น เปลี่ยนมาปลูกถั่วแมคคาเดเมีย กาแฟอาราบิก้า และทำหัตถกรรมพื้นเมือง ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่นำมาขายภายใต้แบรนด์ดอยตุง โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ให้การรับรองผลิตภัณฑ์ดอยตุงว่าเป็น “ความสำเร็จในการแก้ปัญหาของชาติพันธุ์ด้วยแนวทางการพัฒนาอย่างสันติและยั่งยืน” ร่วมขับเคลื่อนกลยุทธ์ BCG ด้วยผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม ที่มีการคัดสรรพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงมาเพาะปลูกและแปรรูป เช่น มะคาเดเมีย และกาแฟอาราบิก้า สร้างการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ เนื่องจากหมู่บ้านชาติพันธุ์ได้เปลี่ยนไป ทำให้เกิดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่สมจริงสำหรับผู้มาเยือน และเสริมสร้างศักยภาพเยาวชนในพื้นที่ให้มีการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ยุวมัคคุเทศน์ รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว โดยกิจกรรมธุรกิจของดอยตุง ได้แก่ หัตถกรรม อาหารแปรรูป ร้านกาแฟ การเกษตร และการท่องเที่ยว สร้างความสมดุลอย่างสอดคล้องกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
#SDG1 #SDG3 #SDG10 #SuDSESC #Nida #NIDAThailand
ท่านใดสนใจรายละเอียด สามารถอ่านเพิ่มเติมจาก “Thailand’s BCG Transformation: 40 Case Studies on the Bio-Circular-Green Strategy and the Sufficiency Economy Philosophy In Action” หน้า 226-227 ข้างล่าง

