โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง
BCG series เดือนสิงหาคมนี้ จะนำเสนอเรื่องราวการคืนคุณค่าให้ผืนป่า ที่สร้างประโยชน์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม พร้อมๆ กับรักษามรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอันล้ำค่าของชาติ และเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ BCG อาทิ โครงการหลวง โครงการพัฒนาดอยตุง
ระบบนิเวศป่าไม้ที่เคยอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยได้ลดลงอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ การขยายตัวของเมืองและการทำการเกษตรที่ไม่ยั่งยืน แต่ความหวังก็ไม่ได้สูญสิ้น มีตัวอย่างการฟื้นฟูผืนป่า ที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและความหลากหลายทางชีวภาพ และให้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ด้วยการควบคุมดูแลอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ชนกลุ่มน้อยที่มีความใกล้ชิดกับป่ามาแต่เดิมใช้ชีวิตต่อไปได้ และคนทั่วไปก็มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น
เป้าหมายสำคัญเกี่ยวกับป่าไม้ในยุทธศาสตร์ BCG
1. ป้องกันและอนุรักษ์ป่าไม้ รวมถึงพื้นที่ป่าที่เคยถูกทำลาย ให้กลับกลายเป็นป่า พื้นที่สันทนาการของชุมชน หรือแม้แต่ป่าเทียมและทะเลสาบ การคืนคุณค่าให้กับป่าเป็นการปกป้องแหล่งน้ำ ต้นน้ำและป้องกันการเสื่อมโทรมของดิน แต่น่าเสียดายที่ ‘ป่าเสื่อมโทรม’ มักถูกขายให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกหรือรีสอร์ท
2. ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าที่สมบูรณ์ตามธรรมชาติจะสนับสนุนระบบนิเวศที่ซับซ้อน ความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ ส่งเสริมระบบอาหารเพื่อสุขภาพและผลผลิตทางการเกษตรท้องถิ่น
ความท้าทายหลักสำหรับป่าไม้ของประเทศไทย
1. การทำการเกษตรที่ไม่ยั่งยืนและการตัดไม้ทำลายป่า เป็นความท้าทายอันดับต้นๆ ของผืนป่าไทย รวมถึงการเกษตรเชิงพาณิชย์ (เช่น การปลูกพืชเชิงเดี่ยว) การใช้สารเคมีทางการเกษตร การทำฟาร์มแบบเผา
2. การลักลอบตัดไม้ป่า การลักลอบตัดไม้ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ทำให้ไม้พะยูงหายากของไทยใกล้สูญพันธุ์ สิ่งนี้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจากความต้องการเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่หรูหรา
3. ผู้มีส่วนได้เสีย ภาครัฐหละหลวมในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างโปร่งใส มีบ่อยครั้งที่ผู้สนับสนุน EIA เป็นกลุ่มเดียวกับที่ได้รับประโยชน์จากการประเมินโครงการ
กลยุทธ์ BCG เพื่อฟื้นฟูป่าไม้
1. อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดแข็งและทรัพยากรหลักของประเทศ แนวทางสำคัญคือการพัฒนาธนาคารชีวภาพ ซึ่งเป็นที่เก็บตัวอย่างทางชีวภาพเพื่อใช้ในการวิจัย
2. สร้างกรอบการกำกับดูแลในการใช้ประโยชน์ป่าชุมชน กุญแจสำคัญในการฟื้นฟูป่าคือการทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในหรือใกล้ผืนป่าเป็นเจ้าของป่า การให้สถานะทางกฎหมายแก่หมู่บ้านกว่า 9,000 แห่งที่ตั้งอยู่ในหรือใกล้กับป่า ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 7 ของพื้นที่ป่าทั้งหมดทั่วประเทศ เพื่อให้พวกเขามีส่วนร่วมในจัดการระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
3. การเสริมสร้างศักยภาพของคนทำงานในป่า ที่จะนำไปสู่การจัดการป่าไม้ที่ดีขึ้นและยังยืน อาทิ การพัฒนาหลักสูตรทักษะเฉพาะทาง เช่น การอนุรักษ์ป่าในแหล่งกำเนิด ชีววิทยาของระบบ และชีวสารสนเทศ การสนับสนุนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าภาคพื้นดินให้มีอุปกรณ์ที่ดีขึ้น สภาพการทำงานที่เป็นมิตรและค่าตอบแทนที่สูงขึ้น
#SuDSESC #Nida #NIDAThailand
รายละเอียด สามารถอ่านเพิ่มเติมจาก “Thailand’s BCG Transformation: 40 Case Studies on the Bio-Circular-Green Strategy and the Sufficiency Economy Philosophy In Action” หน้า 222-225 ข้างล่าง และสัปดาห์หน้าจะนำเสนอตัวอย่างปฏิบัติที่เป็นเลิศในการคืนคุณค่าให้ผืนป่า ได้แก่ โครงการหลวง และโครงการพัฒนาดอยตุง



