nida home cover scaled

ที่มาของ “Wisdom for Sustainable Development” ปรัชญาใหม่ของ NIDA 

Authors

ศ.ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์


นับตั้งแต่ก่อตั้งสถาบันมาเมื่อปี 2509 ปรัชญาเริ่มต้นของเราคือ “นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา” เป็นพุทธศาสนสุภาษิตที่แปลว่า “ไม่มีแสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญา” จนกระทั่งประมาณสิบห้าปีที่แล้วในช่วงบริบทที่สังคมทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลง ทำให้สถาบันต้องการจะยกระดับเป็น World Class University เพื่อให้มีความเป็นสากลมากขึ้น และปรับเปลี่ยนปรัชญามาเป็น “Wisdom for Change” โดยยังคง คำว่า ปัญญา (Wisdom) ไว้ กล่าวคือ เป็นปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลง เห็นว่าคำว่า การเปลี่ยนแปลง เป็นคำที่กว้างมาก จึงน่าจะเน้นว่าเราต้องการการเปลี่ยนแปลงเพื่ออะไร ดังนั้น เราจึงนำเอาองค์ความรู้ของสถาบันเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งสั่งสมมานานมาใช้ กลายเป็นปรัชญาใหม่คือ “Wisdom for Sustainable Development” หรือการสร้างปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับ 17 เป้าหมายของ สหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งเป็นความพยายามที่จะสรรค์สร้างโลกและสังคมที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี คุณภาพการศึกษาที่ดี มีความเสมอภาค ธรรมาภิบาล ฯลฯ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทั่วโลกขานรับเพื่อจะเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาเอง

NIDA Impacts เกิดขึ้นได้อย่างไร

NIDA Impacts เกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ของ NIDA ซึ่งคือ “สถาบันสรรค์สร้างปัญญาของสังคม และสร้างผู้นำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล” ซึ่งมีคำสำคัญอยู่สองคำ หนึ่ง ในฐานะสถาบันการศึกษา เราต้องการสร้างปัญญาของสังคม กล่าวคือ องค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม ไม่ใช่ปัญญาที่มีความหมายแคบเพียงการตีพิมพ์งานวิจัยระดับนานาชาติ สอง การสร้างผู้นำ สถาบันของเราใช้คำว่า Change Agent หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง อาจารย์จะไม่ได้ทำหน้าที่แค่การเรียนการสอน แต่จะต้องใส่วิญญาณ ค่านิยม ความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้นำรุ่นใหม่เพื่อจะนำไปใช้ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล นี่คือวิสัยทัศน์ใหม่ของเรา 

ในเรื่องปัญญาของสังคม เนื่องจากเราได้รับการกำหนดให้เป็นสถาบันวิจัยชั้นนำในระดับสากล แต่ขณะเดียวกันเราก็มองว่าปัญหาของสังคมไทยเป็นสิ่งที่เราทอดทิ้งไม่ได้ และนี่คือพันธกิจของ NIDA ที่นักศึกษาจะต้องมีความผูกพันกับปัญหาทางสังคมของบ้านเราเช่นกัน ดังนั้น เราจึงเห็นว่าการสร้างความสมดุลระหว่างวิจัยนานาชาติกับวิจัยระดับชาติ (Glocal Research) เป็นพันธะที่เราจะต้องทำ วิจัยนานาชาติคือการสร้างองค์ความรู้ใหม่ซึ่งเป็นจุดแข็งของอาจารย์ของเราในการตีพิมพ์งานวิจัยลงวารสารระดับโลกให้ต่างประเทศได้รู้จักเรา และให้เท่าทันกับองค์ความรู้ในระดับสากล ขณะเดียวกันจะต้องมีวิจัยเพื่อสังคม เช่น เรื่อง ความเหลื่อมล้ำ สภาพเศรษฐกิจไทยยุคหลังโควิด-19 หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วย จึงเป็นที่มาของ “NIDA Impacts” ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในการสร้างสมดุลระหว่างวิจัยสองระดับที่ว่านี้ 

NIDA Impacts ทำหน้าที่เป็นสื่อที่เผยแพร่งานวิจัยของอาจารย์ของเราซึ่งก็มีจำนวนมาก แต่ข้อจำกัดของงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในระดับชาติหรือนานาชาติ คือ เต็มไปด้วยศัพท์เทคนิคมากมายที่เข้าใจยาก มีระเบียบวิธีการทำวิจัย หรือการวิเคราะห์เชิงสถิติ บางทีเป็นภาษาอังกฤษ อยู่ในวารสารซึ่งคนทั่วไปไม่มีโอกาสเข้าถึง เราจึงคิดว่าควรมีการย่อยงานวิจัยออกมาให้สามารถเข้าถึงง่าย เข้าใจได้ กลุ่มเป้าหมายของเราคือ หนึ่ง ประชาชนทั่วไป สอง หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนหรือภาคประชาสังคม  สาม กลุ่มที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายหรือนำไปปฏิบัติ โดยเนื้อหาที่คัดเลือกมานำเสนอจะมุ่งเน้นงานวิจัยที่มีผลกระทบต่อสังคม ต่อการพัฒนา (impacts) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สามารถต่อยอดไปสู่การกำหนดนโยบายหรือการปฏิบัติของหน่วยงานได้ โดยกระบวนการในการทำนิตยสาร NIDA Impacts จะเป็นการนำนักวิจัยที่มีความสนใจหัวข้อวิจัยเดียวกันมานั่งพูดคุยกันเพื่อสังเคราะห์งานวิจัยร่วมกัน นี่คือลักษณะของ NIDA Impacts ที่เราเปิดตัวขึ้นมานี้ 

NIDA Impacts กับ NIDA Poll มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร

NIDA Poll เป็นโพลแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นโพลที่มีชื่อเสียงในด้านความแม่นตรงในการคาดการณ์เกิน 90% อีกทั้งเลือกหยิบยกประเด็นที่สังคมสนใจ เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งที่ผ่านมา ซึ่งแม่นตรงกว่าสำนักโพลอื่นๆ จนได้รับการยอมรับจากสื่อต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การที่ NIDA Poll ทำได้แม่นตรงเพราะอาศัยองค์ความรู้ หรือ wisdom ในสาขาสถิติที่มีการสั่งสมมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องของการสุ่มตัวอย่าง และการมีฐานข้อมูลตัวอย่างจำนวนมากจนสามารถสะท้อนความคิดเห็นของประชากรได้จริงๆ 

NIDA Impacts กับ NIDA Poll เชื่อมโยงกันอย่างไร เมื่องานวิจัยถูกเผยแพร่ใน NIDA Impacts ออกสู่สาธารณะ ในประเด็นเรื่องข้อเสนอแนะต่างๆ จะเป็นหน้าที่ของ NIDA Poll ในการสำรวจความคิดเห็นประกอบหรือช่วยนำความเห็นต่างๆ กลับมาสู่ NIDA Impacts เพื่อพิจารณาว่าข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหรือเชิงปฏิบัติมีการตอบสนองกับสังคมมากน้อยเพียงไร อันจะทำให้ข้อเสนอแนะมีน้ำหนักและมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากขึ้น ขณะเดียวกัน NIDA Impacts ซึ่งเป็น E-Magazine ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่ผลสำรวจจาก NIDA Poll นั่นก็คือการทำงานร่วมกันสองทาง

เหตุผลที่เปิดตัวด้วย SDGs (13): Climate Action และ PM2.5 

จากเป้าหมายของ SDGs 17 เป้าหมาย เราเลือกเป้าหมายที่ 13 เป็นเล่มเปิดตัว เพราะอาจารย์ของ NIDA ที่ทำเรื่องเกี่ยวกับอากาศ คือ ศ. ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ รวมทั้งอาจารย์ท่านอื่น มีผลงานตีพิมพ์จำนวนมากติดระดับ Top 2% ของโลก หรือเป็นนักวิจัยที่มีผลงานตีพิมพ์สูงสุดในสาขาสิ่งแวดล้อมและได้รับการจัดอันดับมาสามปีต่อเนื่องแล้ว ถือว่าผลงานตีพิมพ์ของอาจารย์ของเราได้รับการยอมรับและยังสามารถผลักดันไปสู่นโยบายความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้

แล้วทำไมต้องเป็นเรื่อง PM2.5 ต้องบอกว่าสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปัจจัยที่ 5 เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัย 4 ที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์ โดยเฉพาะอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ วิกฤตของคุณภาพอากาศพวกเราสัมผัสโดยตรงเพราะต้องซื้อเครื่องฟอกอากาศ ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น และประสบโรคภัยต่างๆ เมื่อก่อนเวลาฟังข่าวพยากรณ์อากาศ จะเป็นเรื่องฝนฟ้า แต่ปัจจุบันต้องฟังว่าวันนี้ค่าฝุ่นเป็นเท่าไร สถิติของ WHO ที่เพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 23 มกราคมนี้เอง บอกว่าประชากร 7 ล้านคนทั่วโลกต้องเสียชีวิตเนื่องจากอากาศเป็นพิษ และ 91% ของประชากรทั้งหมดหายใจด้วยอากาศไม่บริสุทธิ์เกินค่ามาตรฐาน เมื่อดูการจัดอันดับเมืองที่มีอากาศเลวร้ายของโลก กรุงเทพฯ ของเราติดอันดับที่ 24 โดยมีเชียงใหม่ตามมาติดๆ อยู่ที่อันดับที่ 28 นั่นหมายความว่าสองเมืองใหญ่ในประเทศของเราติดอันดับเมืองที่มีอากาศไม่บริสุทธิ์ 30 อันดับแรกของโลก นี่คือปัญหาที่ร้ายแรงพอสมควร 

สมบัติสาธารณะอย่างอากาศกำลังถูกทำลายและถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ปัญหาก็จะแย่ลงเรื่อยๆ เราจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำองค์ความรู้ที่นักวิจัยของเรามีซึ่งเป็นนักวิจัยที่ได้รับการยอมรับและมีความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ หลายแห่งมาเผยแพร่ในฉบับแรก เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของอากาศและช่วยกันผลักดันวาระคุณภาพอากาศ เพราะอากาศบริสุทธิ์เป็นของทุกคนและจะต้องถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อๆ ไป เรากำลังอยู่ในบรรยากาศใกล้เลือกตั้งด้วย ก็เป็นเรื่องที่ดีหากพรรคการเมืองใดจะสนใจที่จะผลักดันเป็นนโยบายออกมา นี่คือสิ่งที่เราคาดหวังกับ NIDA Impacts ฉบับนี้

เราหวังว่า NIDA Impacts จะเป็นมิติใหม่ที่ทำให้คนตระหนักถึงบทบาทของสถาบันการศึกษากับการพัฒนา การสร้างงานวิจัยระดับชาติที่ตอบสนองสังคมไทยมีความจำเป็นมาก ขณะที่ในระดับนานาชาติ NIDA ก็มีโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยระดับโลกที่จะเชิญอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขามาร่วมทำวิจัยกับเราเพื่อสร้างองค์ความรู้หรือปัญญา เพราะองค์ความรู้นั้นมีวันหมดอายุได้ ดังนั้น เราจะอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องขยับให้ทันโลกเช่นเดียวกัน เพราะหลายปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเราในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น โควิด-19 หรือ PM2.5 ดังนั้น ทั้งงานวิจัยระดับชาติและระดับนานาชาติต้องเชื่อมโยงกัน และเราต้องผลักดันไปพร้อมกัน โดยเฉพาะอาจารย์หรือนักวิจัยต้องมีพันธะสัญญาในการทำประโยชน์ให้กับประเทศและกับโลก นี่คือหน้าที่ที่มหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องทำเพื่อความยั่งยืนของการพัฒนา