แนวคิดที่ทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง

แนวคิดที่ทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง

Authors

รศ.ดร.วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล, ศ.ดร.ธีรพงษ์ วิกิตเศรษฐ และ ศ.ดร.จิราวัลย์ จิตรถเวช อาจารย์เกษียณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริการศาสตร์


1. มีมาตรการอะไรที่จะสามารถนำมาใช้ปรับลดค่าไฟฟ้าได้บ้าง?

          มาตรการที่สามารถใช้ลดอัตราค่าไฟฟ้าได้เลย  คือ การปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ส่วนการลดปริมาณไฟฟ้าสำรองรวมทั้งการแก้ปัญหา take or pay ไม่สามารถทำได้ในระยะสั้น เพราะสัญญา PPA ผูกพันไว้

2. การปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะไม่เป็นการบิดเบือนราคาก๊าซธรรมชาติหรือ?

          การลดราคาก๊าซธรรมชาติจะเป็นการบิดเบือนราคาหรือไม่ขึ้นอยู่กับมาตรการที่ใช้ในการปรับลดราคา  มาตรการที่จะนำเสนอไม่ใช่มาตรการที่ทำให้ให้มีการบิดเบือนราคา  แต่เป็นการเปลี่ยนแนวคิดในการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติให้สะท้อนต้นทุนการผลิตตามแหล่งอุปทานของก๊าซธรรมชาติ

3. การกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติตามแหล่งอุปทานจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในราคาก๊าซธรรมชาติอย่างไร?

          ก๊าซธรรมชาติที่ใช้สนองความต้องการในประเทศไทยมาจากแหล่งอุปทานที่ผลิตได้เองในประทศ  คือ จากอ่าวไทยและจากที่ผลิตได้บนบก จากประเทศเมียนมาร์และจากการนำเข้าในรูปแบบแอลเอ็นจี  ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ผลิตได้ในปี 2565 มีปริมาณ 2,356 ล้านลูกบาศก์ต่อวัน  และมีราคาอยู่ที่ระดับ 230-235 บาทต่อล้านบีทียู  ปริมาณก๊าซธรรมชาติบนบกมีปริมาณ 94 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งมีราคาต่ำกว่า 230 บาทต่อล้านบีทียู  รวมเป็นปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศในปี 2565 ประมาณ 2,477 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน  ราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศจึงมีราคาประมาณ 230 บาทต่อล้านบีทียู 

          เนื่องจากก๊าซธรรมชาติในประเทศมีปริมาณไม่พอที่จะสนองตอบความต้องการในประเทศ  จึงต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติในรูปแบบของ LNG   ในปัจจุบัน ราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศถูกกำหนดจากการนำราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศมา “เฉลี่ย” กับราคาก๊าซธรรมชาติที่นำเข้า เรียกว่าราคา pool gas  ซึ่งมีราคา 397.76 บาทต่อล้านบีทียูในเดือนมกราคมและ 495.84 บาทต่อล้านบีทียูในกุมภาพันธ์  ราคา pool gas เป็นราคาที่ขายให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งหมดในประเทศไทย         

4. การกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติตามแหล่งอุปทานจะช่วยลดค่าไฟฟ้าอย่างไร?

          ถ้ามีแนวคิดว่า ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและบนบก เป็นทรัพยากรของคนไทยทุกคน จึงควรนำมาใช้ในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ของคนไทยทุกคนก่อนเป็นอันดับแรก ถ้ายังมีก๊าซธรรมชาติเหลือ ค่อยนำไปใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไป  ก็จะพิจารณาได้ว่า  ไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคที่คนไทยทุกคนต้องใช้  ภายใต้แนวคิดดังกล่าว  ก็สมควรนำก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นลำดับแรก  เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศต่ำกว่าราคาก๊าซธรรมชาติจาก pool gas ก็จะทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลง  เป็นการลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้า

5. ค่าไฟฟ้าจะลดลงประมาณเท่าใดจากมาตรการดังกล่าว?

          ในปี 2566  คาดว่าความต้องการก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าจะเท่ากับ 2,743 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศประมาณ 266 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน  ส่วนของก๊าซธรรมชาติที่ยังขาดไปสามารถชดเชยได้จากการนำก๊าซธรรมชาติจากประเทศเมียนมาร์ที่มีราคาประมาณ 350-360  บาทต่อล้านบีทียู   ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ประเทศรวมกับก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจึงมีราคาอยู่ที่ประมาณ 242.61 บาทต่อล้านบีทียู  ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคา pool gas ประมาณ 200 บาทต่อล้านบีทียู

          ในปี 2565 พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ 114,637 ล้านหน่วย ใช้ก๊าซธรรมชาติโดยเฉลี่ย 2,437,000 ล้านบีทียูต่อวัน ซึ่งเป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติ 7,759.33 บีทียูต่อหน่วย หากราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลดลง 100 บาทต่อล้านบีทียู ค่าพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงจะลดลง 0.7148 บาท/หน่วย  ถ้าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงอยู่ที่ร้อยละ 53 ในปี 2566 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับในปี 2565 ก็จะสรุปได้ว่า ทุก ๆ 100 บาทต่อล้านบีทียูที่ราคาก๊าซธรรมชาติลดลง ค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. จำหน่ายให้ กฟน. และ กฟภ. จะลดลง 0.3788 บาทต่อหน่วย  ดังนั้น  ถ้าราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศต่ำกว่าราคาจาก gas pool ประมาณ 200 บาทต่อล้านบีทียู ก็จะสามารถลดค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. จำหน่ายให้ กฟน. และ กฟภ. ได้ถึง 0.7576 บาทต่อหน่วย เป็นการลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้า

          การกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นราคาที่คำนวณจากราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศและประเทศเมียนมาร์ตามปริมาณที่ใช้ จะทำให้ค่าไฟฟ้ามีความเสถียรมากขึ้น ไม่ขึ้นอยู่กับราคา LNG ที่มีความผันผวนมากในช่วงที่ผ่านมา

6. การกำหนดให้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นลำดับแรกจะทำให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายอื่นต้องซื้อก๊าซธรรมชาติในราคาที่สูงขึ้นหรือไม่?

          การกำหนดให้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นลำดับแรกจะทำให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายอื่น  เช่น  ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมต้องซื้อก๊าซธรรมชาติในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นราคาที่เฉลี่ยจากก๊าซธรรมชาติจากประเทศเมียนมาร์ที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้า และจากแอลเอ็นจีที่นำเข้า  องค์ประกอบต้นทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่มาจากก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้น  แต่องค์ประกอบต้นทุนที่มาจากไฟฟ้าของโรงงานอุตสาหกรรมจะลดลง   ผลกระทบสุทธิต่อต้นทุนของโรงงานอุตสาหกรรมจึงขึ้นอยู่กับสัดส่วนต้นทุนที่มาจากก๊าซธรรมชาติและสัดส่วนต้นทุนที่มาจากไฟฟ้า

 7. มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าสามารถลดค่าไฟฟ้าได้หรือไม่?

          การเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า  ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง  แต่อาจใช้เวลามากกว่ามาตรการลดราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งทำได้ทันที   ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าที่พิจารณาจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ 7,759.33 บีทียูต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าในประเทศโดยเฉลี่ย ยังต่ำกว่าประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าในประเทศอื่น  เช่น โรงไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาใช้ก๊าซธรรมชาติ 7,148 บีทียูต่อหน่วยต่อการผลิตไฟฟ้าโดยเฉลี่ยในปี 2563[1]  การใช้ก๊าซธรรมชาติต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าจึงสูงกว่าในสหรัฐอเมริกาประมาณร้อยละ 8.55 

          ถ้าสามารถปรับประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติให้ทัดเทียมกับมาตรฐานในสหรัฐอเมริกา  ก็จะสามารถลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าได้อีกประมาณ 0.2445 บาท/หน่วย  เมื่อรวมกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ลดลงจากการปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติอีก 0.7576 บาท/หน่วย  ก็จะสามารถค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 1 บาท/หน่วย  เป็นการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้า

8. มีมาตรการอื่นที่จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าได้อีกหรือไม่?

          สาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น คือ สาเหตุในเชิงนโยบาย  ซึ่งทำให้การสำรองไฟฟ้าในประเทศสูงเกินความจำเป็น  เหตุผลสำคัญในการสำรองไฟฟ้า คือ การทดแทนโรงไฟฟ้าในระบบในช่วงเวลาที่โรงไฟฟ้าบางโรงต้องหยุดเดินเครื่องเพื่อทำการบำรุงรักษา  เนื่องจากไม่สามารถเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องได้ทั้งปี   จึงต้องมีการจัดตารางการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าแต่ละโรง   การสำรองไฟฟ้าด้วยเหตุผลดังกล่าวสามารถประมาณได้ที่ประมาณร้อยละ 15 ของความต้องการไฟฟ้าทั้งหมด   มาตรการที่สำคัญและเร่งด่วน คือ การปรับแผนการขยายระบบผลิตและระบบส่งในแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าหรือ PDP  ให้สอดคล้องกับหลักการในการสำรองไฟฟ้า และในระหว่างนี้ ไม่ควรจัดหาไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกโดยเฉพาะจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงจนกว่า PDP ฉบับใหม่จะแล้วเสร็จ


[1] (https://www.eia.gov/todayinenergy/detail.php?id=52158)