ปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น ทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน

ปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น ทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน

Authors

รศ.ดร.วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล, ศ.ดร.ธีระพงษ์ วิกิตเศรษฐ และ ศ.ดร.จิราวัลย์ จิตรถเวช


1. ใครเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นในประเทศไทย?

          การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นอยู่ภายใต้แนวคิดของการแข่งขันเสรีที่ไม่มีผู้ใดเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันโดยตรง  ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือเอกชนรายใดรายหนึ่ง    การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นมาจากกลไกราคาในตลาดน้ำมันที่ทำให้ราคาเสนอซื้อและเสนอขายน้ำมันสำเร็จรูปมีความสมดุลกันในแต่ละวัน 

2. ตลาดน้ำมันดังกล่าวอยู่ที่ไหน  ใครเป็นผู้เสนอซื้อและใครเป็นผู้เสนอขาย?

          ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุดคือตลาด SIMEX ในประเทศสิงค์โปร์ ผู้เสนอขายน้ำมันสำเร็จรูปคือโรงกลั่นในสิงค์โปร์ที่นำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อเสนอขายในตลาด  ผู้ซื้อน้ำมันคือผู้ใช้น้ำมันในประเทศสิงค์โปร์  และประเทศที่อยู่ในภูมิภาคที่ใกล้กับสิงค์โปร์  รวมทั้งประเทศไทย    ราคาตลาดของน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นที่กำหนดจากตลาด SIMEX จึงเป็นราคาที่สะท้อนความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันสำเร็จรูปในแต่ละวัน

3. ทำไมต้องมีการอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นในประเทศไทยกับราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นในตลาดสิงค์โปร์?

          ก่อนที่จะมีโรงกลั่นในประเทศไทย  เรานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากตลาดสิงค์โปร์ในราคาตลาดของน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นที่สิงค์โปร์  ซึ่งเป็นราคานำเข้า CIF ที่ได้รวมค่าขนส่งและค่าประกันน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงค์โปร์มาที่ศรีราชา   เมื่อมีโรงกลั่นเกิดขึ้นในประเทศไทย  ในระยะแรก  กำลังการกลั่นน้ำมันในประเทศยังไม่พอที่จะสนองความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ  จึงยังต้องมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากตลาดสิงค์โปร์ในราคา CIF  ภายใต้แนวคิดของการแข่งขัน  น้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นจากโรงกลั่นในประเทศไทยต้องแข่งขันกับนำมันสำเร็จรูปที่นำเข้าจากสิงค์โปร์   ซึ่งนำไปสู่การอ้างอิงราคา ณ โรงกลั่นในประเทศไทยกับราคานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป CIF ในตลาดสิงค์โปร์   ภายใต้แนวคิดการแข่งขันดังกล่าว  ถ้าโรงกลั่นในประเทศขายน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นสูงกว่าราคาอ้างอิง  ก็จะไม่สามารถแข่งขันได้   ในทางตรงกันข้าม  ถ้าโรงกลั่นในประเทศมีต้นทุนการกลั่นที่ต่ำกว่าต้นทุนของโรงกลั่นในสิงค์โปร์  ก็จะสามารถขายน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาอ้างอิง CIF ในตลาด SIMEX  ซึ่งก็จะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น  การอิงราคา ณ โรงกลั่นกับราคา CIF ที่ตลาดสิงค์โปร์ (import parity price) จึงเป็นกลไกสำคัญที่เอื้ออำนวยให้มีการแข่งขันในตลาดน้ำมันสำเร็จรูป และทำให้โรงกลั่นในประเทศต้องพัฒนาประสิทธิภาพในการกลั่นให้ทัดเทียมหรือมากกว่าประสิทธิภาพของโรงกลั่นในสิงค์โปร์

 4. นอกจากราคา ณ โรงกลั่นแบบ CIF ในตลาดสิงค์โปร์แล้ว  ยังมีองค์ประกอบอื่นที่รวมอยู่ในราคา ณ โรงกลั่นในประเทศไทยหรือไม่?

          นอกจากราคา CIF ที่ได้รวมค่าขนส่ง และค่าประกันภัยน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงค์โปร์มาที่ศรีราชา   ยังมีองค์ประกอบอีก 3 องค์ประกอบในราคา ณ โรงกลั่น   กล่าวคือ

  • องค์ประกอบที่สะท้อนค่าใช้จ่ายในการปรับคุณภาพน้ำมันที่กลั่นในประเทศให้ได้มาตรฐานที่กำหนดโดยกรมธุรกิจพลังงานซึ่งสูงกว่าน้ำมันที่กลั่นในสิงค์โปร์ 
  • องค์ประกอบที่สะท้อนค่าสูญเสียน้ำมันสำเร็จรูปจากการขนส่งจากสิงค์โปร์มาที่ศรีราชา   และ
  • องค์ประกอบที่สะท้อนค่าใช้จ่ายในการสำรองน้ำมัน  ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกลั่นน้ำมัน  แต่เป็นนโยบายที่กำหนดขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงทางด้านพลังงาน

5. การใช้แนวคิด cost plus ในการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นในประเทศไทยมีความเหมาะสมหรือไม่?

          การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นในประเทศไทยภายใต้แนวคิด cost plus ไม่มีความเหมาะสมด้วยเหตุผลต่อไปนี้

  • โรงกลั่นในประเทศมีจำนวน 7 โรงด้วยกัน  แต่ละโรงมีต้นทุนการกลั่นที่แตกต่างกัน  จึงมีประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดต้นทุนมาตรฐานในการกลั่นของน้ำมันแต่ละชนิด และการกำหนดผลตอบแทนให้ป็นธรรมและยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
  • ไม่สามารถติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนการกลั่นได้ทุกวัน  จึงไม่สามารถกำหนดราคา ณ โรงกลั่นในแต่ละวัน
  • เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว  ราคาที่อิงราคา ณ โรงกลั่นในสิงค์โปร์ก็ตีความได้ว่าเป็นราคา cost plus  ที่กำหนดโดยกลไกราคา  เมื่อโรงกลั่นแต่ละโรงเสนอราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปในตลาด ก็ต้องเสนอราคาที่สูงกว่าต้นทุนการกลั่นและบวกค่าตอบแทนที่ต้องการ ซึ่งก็คือ cost plus  แต่ผลตอบแทนที่โรงกลั่นจะได้จริงขึ้นอยู่กับราคาตลาดที่ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในแต่ละวัน

6. การใช้ราคา ณ โรงกลั่น CIF ที่สิงค์โปร์ยังมีความเหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่?

          ในปัจจุบัน  โรงกลั่นในประเทศไทยได้มีการขยายกำลังการกลั่นจนสามารถกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปได้เกินความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปภายในประเทศ  จึงสามารถส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปได้  ภายใต้แนวคิดของการแข่งขัน การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปจากประเทศไทยเป็นการแข่งขันระหว่างโรงกลั่นในประเทศกับผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปรายอื่น  โดยราคาตลาดที่โรงกลั่นในประเทศไทยต้องแข่งขันด้วยยังเป็นราคาตลาด ณ โรงกลั่นในตลาดสิงค์โปร์    แต่จากระบบการค้าเสรีโดยทั่วไปแล้ว  ราคาส่งออกของน้ำมันสำเร็จรูปจะเป็นราคา ณ โรงกลั่นแบบ FOB ที่ผู้ซื้อน้ำมันสำเร็จรูปเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งเอง   ราคาน้ำมันสำเร็จรูป FOB จึงต่ำกว่าราคา CIF  เท่ากับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการขนส่ง  การใช้ราคา FOB อ้างอิงราคา ณ โรงกลั่นในประเทศไทยในสภาวะที่กำลังการกลั่นสูงกว่าความต้องการในประเทศจะสะท้อนลักษณะของการแข่งขันในตลาดน้ำมันสำเร็จรูปในปัจจุบัน   และจะมีผลทำให้ราคา ณ โรงกลั่นในประเทศไทย ลดลงเท่ากับค่าใช้จ่ายในการขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงค์โปร์มาศรีราชา

7. ค่าปรับคุณภาพน้ำมันและค่าสำรองน้ำมันยังควรเป็นองค์ประกอบในราคา ณ โรงกลั่นหรือไม่?

          การใช้จ่ายในการปรับคุณภาพน้ำมันสำเร็จรูปในโรงกลั่นไทยให้สูงกว่าคุณภาพในโรงกลั่นในสิงค์โปร์เป็นเรื่องของนโยบายทางมาตรฐานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูป  ซึ่งในปัจจุบันได้กำหนดให้มีการปรับกลุ่มน้ำมันเบนซินที่กลั่นในประเทศไทยให้มีคุณภาพสูงกว่าคุณภาพในสิงค์โปร์   ซึ่งควรพิจารณาทบทวนว่า ยังมีความเหมาะสมในสภาวะปัจจุบันที่การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันดิบทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน   ถ้ายกเลิกองค์ประกอบการปรับคุณภาพน้ำมันที่กลั่นในประเทศเพื่อให้คุณภาพน้ำมันทัดเทียมกับมาตรฐานของโรงกลั่นสิงค์โปร์   ก็จะทำให้ราคา ณ โรงกลั่นในประเทศลดลงได้  ซึ่งเป็นประเด็นเชิงนโยบายในการชั่งน้ำหนักระหว่างการลดต้นทุนการกลั่นกับการรับมลภาวะจากการใช้น้ำมันที่จะเพิ่มขึ้น

          ส่วนค่าใช้จ่ายจากการสำรองน้ำมันไม่ได้เป็นต้นทุนของการกลั่นน้ำมัน  แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการบริหารความเสี่ยงทางด้านความมั่นคง ไม่ให้เกิดความเสียหายจากกรณีที่เกิดสภาวะการขาดแคลนน้ำมัน ซึ่งสามารถพิจารณาแยกองค์ประกอบดังกล่าวออกมาจากราคา ณ โรงกลั่น  และบริหารค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วยทางเลือกอื่น

8. ค่าการกลั่นมีความหมายอย่างไร และสะท้อนกำไรของโรงกลั่นได้หรือไม่?

          ค่าการกลั่นที่เรียกกัน คือ Gross Refinery Margin (GRM) เป็นส่วนต่างระหว่างต้นทุนน้ำมันดิบที่โรงกลั่นใช้ในการกลั่นน้ำมันกับรายได้ที่ขายน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้ในราคา ณ โรงกลั่น     GRM ยังไม่ใช่กำไรของโรงกลั่น  เพราะยังไม่ได้คิดต้นทุนอื่นที่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าเสื่อมราคา ดอกเบี้ยเงินกู้ ฯลฯ และ GRM ไม่ใช่ค่าการกลั่น แต่เป็นกำไรเบื้องต้น

9. ธุรกิจของโรงกลั่นจะมีกำไรหรือขาดทุนได้หรือไม่?

          การดำเนินงานของโรงกลั่นสามารถมีได้ทั้งกำไรและขาดทุน  ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด   ในช่วงเวลาที่มีความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกำลังการกลั่นของโรงกลั่นทั้งหมดไม่สามารถสนองตอบได้ทั้งหมด  กลไกราคาก็จะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นเพิ่มขึ้นจนทำให้โรงกลั่นมีกำไรเพิ่มขึ้น  อีกกรณีหนึ่งที่ทำให้โรงกลั่นมีกำไรเพิ่มได้ก็คือสภาวะที่ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  เช่น  สถานการณ์วิกฤตพลังงานครั้งแรกในปี ค.ศ. 1973 ที่กลุ่มโอเป็คลดการผลิตน้ำมันดิบ ด้วยเหตุผลทางการเมือง  อีกตัวอย่างหนึ่งคือสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากสภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน  ทำให้ราคาตลาด ณ โรงกลั่นของน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราเพิ่มของราคาน้ำมันดิบ  ซึ่งทำให้ GRM เพิ่มขึ้นด้วย

          ในทางตรงกันข้าม  ถ้าความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปลดลงจนทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นลดลงในอัตราที่มากกว่าอัตราลดลงของราคาน้ำมันดิบ  GRM ก็จะลดลงและอาจทำให้โรงกลั่นประสบกับภาวะขาดทุนได้

10. ควรมีการเก็บภาษีกำไรส่วนเกินในสภาวะที่ทำให้โรงกลั่นมีค่าการกลั่นที่สูงขึ้นหรือไม่?

          การเก็บภาษีกำไรส่วนเกินในสภาวะที่ทำให้โรงกลั่นมีค่า GRM ที่สูงขึ้น  เช่น  ในกรณีที่เกิดสภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน  เป็นเรื่องของนโยบาย  GRM ยังไม่ได้สะท้อนกำไรสุทธิของโรงกลั่น  เพราะยังไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายอื่นๆ  แต่อาจพิจารณากำหนด ค่าเกณฑ์ (threshold) ของ GRM ในหน่วย บาท/ลิตร ถ้าโรงกลั่นใด มีค่า GRM สูงกว่าค่าเกณฑ์ ส่วนที่เกินจะต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนด   ประเด็นที่ควรพิจารณาคือ  จะกำหนดค่าเกณฑ์ของ GRM อย่างไร จึงเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

11. ในสภาวะการปัจจุบัน  (มิถุนายน 2565) จะมีแนวทางในการบริหารราคา  ณ โรงกลั่นอย่างไร?

          แนวทางการบริหารราคา ณ โรงกลั่นที่เป็นไปได้คือ

  • เปลี่ยนราคาอ้างอิง ณ โรงกลั่นจากราคา CIF ให้เป็นราคา FOB ที่ตลาดสิงค์โปร์  ซึ่งจะทำให้ราคา ณ โรงกลั่นลดลงเท่ากับค่าใช้จ่ายในการขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงค์โปร์มาศรีราชา
  • ไม่คิดค่าสำรองน้ำมันในราคา ณ โรงกลั่น
  • ไม่คิดค่าปรับคุณภาพน้ำมัน

12. ถ้ากำหนดราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันสำเร็จรูปตามแนวทางที่ได้นำเสนอจะทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้เท่าใด?

          ถ้ามีการกำหนดให้ราคา ณ โรงกลั่นคือราคา FOB ที่สิงค์โปร์แต่ยังมีค่าใช้จ่ายในการปรับคุณภาพน้ำมันจะทำให้ราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันสำเร็จรูปโดยเฉลี่ยลดลงประมาณ 1.3043 บาท/ลิตร  และถ้ายกเลิกการปรับคุณภาพน้ำมันจะทำให้ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และนำมันเบนซินแก็สโซฮอลสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นลดลงได้อีกดังต่อไปนี้ (อัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 33 บาท/ดอลลาร์สรอ.)

  • ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.05 เหรียญ สรอ./บาร์เรล ซึ่งเท่ากับ 0.4255 บาท/ลิตร รวมเป็น 1.729 บาท/ลิตร
  • ราคาน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล 95 ลดลง 1.57 เหรียญ สรอ./บาร์เรล ซึ่งเท่ากับ 0.3259 บาท/ลิตร รวมเป็น 1.6302 บาท/ลิตร

การปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น

รศ. ดร. วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล ศ. ดร. ธีรพงษ์ วิกิตเศรษฐ และ ศ. ดร. จิราวัลย์ จิตรถเวช

อาจารย์เกษียณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

          แนวคิด Import Parity มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้โรงกลั่นน้ำมันในประเทศแข่งขันกับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป จึงกำหนดให้ราคา ณ โรงกลั่นเท่ากับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่นำเข้า อาจมีความเหมาะสมในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นที่ต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อให้ราคานำเข้าเท่ากับราคา ณ โรงกลั่น แต่ในปี 2563 โรงกลั่นน้ำมันในประเทศ  มีความสามารถในการกลั่นน้ำมัน 1,244,500 บาร์เรล/วัน และมี Condensateอีก 84,835 บาร์เรล/วัน ซึ่งมากกว่าความต้องการภายในประเทศ 874,009 บาร์เรล/วัน และมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 188,594 บาร์เรล/วัน อุปสงค์รวมส่งออกและอุปทานรวมนำเข้า ได้แสดงไว้ในตารางที่ 1 ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ผลิตภายในประเทศซึ่งรวมที่กลั่นจากโรงกลั่นและ Condensate มีปริมาตรมากกว่าความต้องการภายในประเทศดังรายละเอียดของอุปสงค์และอุปทานจำแนกตามชนิดของผลิตภัณฑ์น้ำมัน ได้แสดงไว้ในภาคผนวก ผ1 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ประมวลจากรายงานสถิติพลังงานของประเทศไทย 2563 ปรากฎว่าอุปทานของน้ำมันดีเซล น้ำมันอากาศยาน และแอลพีจี น้อยกว่าอุปสงค์ดังที่ได้แสดงเป็นตัวเลขตัวเข้มในแถบสีไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ผลิตภายในประเทศ ยังสูงกว่าความต้องการภายในประเทศ

ตารางที่ 1 อุปสงค์และอุปทานผลิตภัณฑ์น้ำมัน

หน่วย: บาร์เรล/วัน

ปีผลิตภายในประเทศนำเข้าอุปทานความต้องการภายในประเทศส่งออกอุปสงค์
2559 1,277,944 59,144 1,337,088 920,089 175,803 1,095,892
2560 1,337,907 66,791 1,404,697 945,404 199,898 1,145,302
2561 1,389,527 59,944 1,449,471 974,096 213,922 1,188,018
2562 1,335,915 104,118 1,440,033 993,621 165,603 1,159,224
2563 1,261,893 45,193 1,307,086 874,009 189,120 1,063,129

แหล่งที่มา: ประมวลจากรายงานสถิติพลังงานของประเทศไทย 2563 สำนักนโยบายและแผนพลังงาน

          ดังนั้น จึงน่าพิจารณาทบทวนการใช้แนวคิด Import Parity ในการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นในสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศ ซึ่งมิได้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศ ในปี 2563 ประเทศไทย มีโรงกลั่นทั้งหมด 7 โรง มีความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบทั้งหมด 1,244,500 บาร์เรล/วันดังรายละเอียดในตารางที่ 2 ขนาดโรงกลั่นน้ำมันแตกต่างกันมาก โรงกลั่นน้ำมัน RRC/PTTAR/PTTGC มีความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบมากสุด 280,000 บาร์เรล/วันคิดเป็นร้อยละ 22.50 ของความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบทั้งหมด รองลงมาคือโรงกลั่นน้ำมัน TOP มีความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบ 275,000 บาร์เรล/วันคิดเป็นร้อยละ 22.10 โรงกลั่นน้ำมันฝาง มีความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบน้อยที่สุด เพียง 2,500 บาร์เรล/วันคิดเป็นร้อยละ 0.20 เท่านั้น เทคโนโยโลยีในการกลั่นของโรงกลั่นแต่ละแห่งยังแตกต่างกันอีกด้วย ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของโรงกลั่นน้ำมันแต่ละแห่งแตกต่างกันมากและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในโรงกลั่น เป็นข้อมูลที่โรงกลั่นฯ ไม่ต้องการเปิดเผยเพราะเป็นความลับทางธุรกิจ จึงไม่สมควรใช้แนวคิด Cost Plus ในการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นได้

ตารางที่ 2 ความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบ ปี 2563 จำแนกตามโรงกลั่น

โรงกลั่นความสามารถในการกลั่น (บาร์เรล/วัน)ร้อยละ
ESSO 177,00014.22
BCP 120,0009.64
TOP 275,00022.10
Fang 2,5000.20
TPI/IRPC 215,00017.28
RRC/PTTAR/PTTGC 280,00022.50
STAR Refinery 175,00014.06
รวม 1,244,500100.00

แหล่งที่มา: รายงานสถิติพลังงานของประเทศไทย 2563 สำนักนโยบายและแผนพลังงาน

          เมื่อมีอุปสรรคในการใช้แนวคิด Cost Plus ในการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นได้ จึงน่าใช้แนวคิดราคาอ้างอิงเป็นราคา ณ โรงกลั่นโดยราคาอ้างอิง ต้องเป็นราคาที่กำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานตามกลไกตลาดที่มีผู้ซื้อขายจำนวนมากจากประเทศต่าง ๆ มาดำเนินการซื้อขาย แต่ก่อนพิจารณาราคาอ้างอิงเป็นราคา ณ โรงกลั่น ควรพิจารณาโครงสร้างราคา ณ โรงกลั่นในปัจจุบันก่อน

โครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นในปัจจุบัน

          แนวคิด Import Parity กำหนดให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นในปัจจุบัน อยู่ในระดับเดียวกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่นำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ ประกอบด้วยราคาอ้างอิง ซึ่งเป็น Mean of PlattsSingapore (MOPS) และค่าพรีเมียม ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับคุณภาพน้ำมันเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด และค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์และการสำรองน้ำมันดิบ

          จากรายงานประจำปี 2563 สำนักนโยบายและแผนพลังงาน ค่าพรีเมียม ประกอบด้วย

  1. ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ซึ่งมีค่าคงที่สำหรับน้ำมันสำเร็จรูปแต่ละชนิดตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน
  2. ค่าขนส่ง World Scale ด้วยเรือบรรทุกน้ำมันดิบเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักขนาด VLCC:LR2 สัดส่วน 60:40 แบบ Long-Term Charter (สิงคโปร์-ศรีราชา)
  3. ค่าประกันภัยร้อยละ 0.084 ของ C&F น้ำมันดิบ
  4. ค่าสูญเสีย ร้อยละ 0.3 ของ CIF น้ำมันดิบ
  5. ค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง 0.68 เหรียญ สรอ./บาร์เรล (สำรองน้ำมันดิบร้อยละ 6) แต่สำหรับน้ำมันดีเซล ค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง กำหนดไว้ที่ 0.45 เหรียญ สรอ./บาร์เรล ตามมติ กบง. ครั้งที่ 6/2563 (ครั้งที่ 20) เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2563

          รายละเอียดการกำหนดราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น ได้แสงไว้ในภาคผนวก ผ2 ซึ่งสรุปได้ว่า

  1. ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ณ โรงกลั่น ประกอบด้วยราคาอ้างอิงน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ซึ่งเป็นราคา MOPS ของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์ และค่าพรีเมียมโดยมีค่าปรับคุณภาพน้ำมันตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน
  2. ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ณ โรงกลั่น ประกอบด้วยค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคา MOPS ของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์บวกค่าพรีเมียมโดยค่าปรับคุณภาพน้ำมัน และค่าผสม และราคาเอทานอลด้วยน้ำหนัก (1-X) และ X ตามลำดับ โดย X เป็นสัดส่วนของเอทานอลในน้ำมันแก็สโซฮอล ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ค่าผสม และสัดส่วน X เป็นไปตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน
  3. ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 และ E20 ณ โรงกลั่น ประกอบด้วยค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคา MOPS ของน้ำมันเบนซินออกเทน 91Non-Oxy ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์บวกค่าพรีเมียมโดยค่าปรับคุณภาพน้ำมันและค่าผสม และราคาเอทานอลด้วยน้ำหนัก (1-X) และ X ตามลำดับ โดย X เป็นสัดส่วนของเอทานอลในน้ำมันแก็สโซฮอลแต่ละชนิด ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ค่าผสมของน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 และ E20  และสัดส่วน X เป็นไปตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน   
  4. ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล E85 ณ โรงกลั่น ประกอบด้วยค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคา MOPS ของน้ำมันเบนซินออกเทน 91Non-Oxy ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์บวกค่าพรีเมียมโดยค่าปรับคุณภาพน้ำมัน และราคาเอทานอลด้วยน้ำหนัก (1-X) และ X ตามลำดับ โดย X เป็นสัดส่วนของเอทานอลในน้ำมันแก็สโซฮอล E85 ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน และสัดส่วน X เป็นไปตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน
  5. ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ โรงกลั่น เป็นค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคา MOPS ของGasoil 10 ppm และ Gasoil 500 ppm ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์ด้วยน้ำหนัก 0.9184 และ 0.0816 ตามลำดับ บวกด้วยพรีเมียมโดยไม่มีค่าปรับคุณภาพน้ำมัน และราคาไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันด้วยน้ำหนัก (1-X) และ X ตามลำดับ โดย X เป็นสัดส่วนของไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันเป็นไปตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน
  6. ราคาน้ำมันเตา 600 (2% Sulphur) ที่ 86 องศาฟาเรนไฮต์ ณ โรงกลั่น เท่ากับราคาอ้างอิงน้ำมันเตา 600 (2% Sulphur)t ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์ คูณด้วยค่าปรับอุณหภูมิจาก 60 องศาฟาเรนไฮต์ เป็น ที่ 86 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งเท่ากับ 0.9896 (ดูรายละเอียดของราคาอ้างอิงน้ำมันเตา 600 (2% Sulphur)t ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์ได้ในภาคผนวก ผ2
  7. ราคาน้ำมันเตา 1500 (2% Sulphur) ที่ 86 องศาฟาเรนไฮต์ ณ โรงกลั่น เท่ากับราคาอ้างอิงน้ำมันเตา 1500 (2% Sulphur)t ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์ คูณด้วยค่าปรับอุณหภูมิจาก 60 องศาฟาเรนไฮต์ เป็น ที่ 86 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งเท่ากับ 0.9896 (ดูรายละเอียดของราคาอ้างอิงน้ำมันเตา 1500 (2% Sulphur)t ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์ได้ในภาคผนวก ผ2)

          ราคาอ้างอิงในหลักเกณฑ์กำหนดราคา ณ โรงกลั่นตามรายละเอียดในภาคผนวก ผ2 เป็นราคา MOPS ซึ่งเป็นราคาซื้อขายในตลาด SIMEX เนื่องจาก

  1.  โรงกลั่นในประเทศสิงคโปร์ มีความสามารถในการกลั่น 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน โดยมีโรงกลั่นหลัก 3 โรงคือ ExxonMobil ขนาด 605,000 บาร์เรล/วัน Royal Dutch/Shell ขนาด 500,000 บาร์เรล/วัน และ Singapore Refining Co. ขนาด 290,000 บาร์เรล/วัน เป้าหมายหลักธุรกิจการกลั่นน้ำมันในประเทศสิงคโปร์ คือการส่งออก
  2. Singapore International Monetary Exchange (SIMEX) เป็นตลาดซื้อขายพลังงานล่วงหน้าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก New York Mercantile Exchange และ London International Petroleum Exchange มีบริษัทประมาณ 325 บริษัทที่ซื้อขายน้ำมันใน SIMEX ราคา MOPS จึงถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานตามกลไกตลาด
  3. สิงคโปร์นำเข้าน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลางประมาณ 2/3 ของการนำเข้าโดยปริมาตร (https://oec.world>crude-petroleum>reporter>sgp) ส่วนประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลางร้อยละ 43.38-50.80 ของความต้องการทั้งหมดในช่วงปี 2559-2563 (ดูตารางที่ 3)
  4. ประสิทธิภาพโรงกลั่นในประเทศสิงคโปร์อยู่ในระดับสูง เป็นที่ยอมรับในวงการกลั่น
  5. ตลาด SIMEX อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด

ตารางที่ 3 แหล่งน้ำมันดิบภายในประเทศและการนำเข้า

ปีภายในประเทศนำเข้ารวม
แหล่งน้ำมันCondensateตะวันออกกลางตะวันออกไกลอื่น ๆ
บาร์เรล/วันร้อยละบาร์เรล/วันร้อยละบาร์เรล/วันร้อยละบาร์เรล/วันร้อยละบาร์เรล/วันร้อยละบาร์เรล/วันร้อยละ
2559 163,08014.66 94,4898.50 564,95750.80 165,79614.91 123,83411.13 1,112,157100.00
2560 141,34812.32 98,5728.59 559,56448.79 180,66815.75 166,77814.54 1,146,930100.00
2561 129,20010.96 99,0108.40 575,86648.83 141,89412.03 233,34819.79 1,179,318100.00
2562 125,88911.61 102,3329.44 490,78845.26 126,43611.66 239,01822.04 1,084,463100.00
2563 117,02911.24 84,8358.15 451,53243.38 115,61411.11 271,84626.12 1,040,856100.00

แหล่งที่มา: รายงานสถิติพลังงานของประเทศไทย 2563 สำนักนโยบายและแผนพลังงาน

พรีเมียม

          ในแนวคิด Import Parity พรีเมียม เป็นองค์ประกอบหนี่งในโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นในปัจจุบันของน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิด ยกเว้น น้ำมันเตา ตามรายละอียดในภาคผนวก ผ2  เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น สูงกว่าราคาอ้างอิง จึงควรพิจารณาแต่องค์ประกอบในพรีเมียมโดยละเอียดดังนี้

          ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน คงต้องมีอยู่เพราะคุณภาพน้ำมันในประเทศไทย แตกต่างจากคุณภาพน้ำมันในประเทศสิงคโปร์ หากเปลี่ยนการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นจากแนวคิด Import Parity เป็นแนวคิดราคาอ้างอิง ค่าพรีเมียมจะไม่มีค่าขนส่ง ค่าประกันภัยและค่าสูญเสีย

          ส่วนค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง ซึ่งในปัจจุบันได้เก็บในอัตราคงที่ 0.68 เหรียญ สรอ./บาร์เรลสำหรับน้ำมันเบนซินและ 0.45 เหรียญ สรอ./บาร์เรลสำหรับดีเซล และไม่ควรเป็นองค์ประกอบในโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น ด้วยเหตุผลต่อไปนี้ 

          ในปัจจุบัน ปริมาณสำรองน้ำมันดิบจะต้องอยู่ระดับร้อยละ  6 ของความต้องการน้ำมันดิบตามที่รัฐบาลกำหนด ปริมาณสำรองนี้ จะต้องนำออกมาใช้เมื่อได้สำรองไว้ในระยะเวลาหนึ่งเพื่อรักษาคุณภาพของน้ำมันดิบ และโรงกลั่นน้ำมัน จะต้องนำเข้าน้ำมันดิบมาชดเชยปริมาณน้ำมันสำรองที่ได้นำไปใช้ มูลค่าในการนำเข้าน้ำมันดิบมาชดเชยของโรงกลั่นน้ำมัน เท่ากับมูลค่าของน้ำมันดิบที่นำเข้าใหม่ลบด้วยมูลค่าตามบัญชีของน้ำมันดิบที่สำรองนำไปใช้  ซึ่งเป็นผลบวกของมูลค่าน้ำมันสำรอง ณ เวลาที่นำเข้า ค่าใช้จ่ายอื่นซึ่งเป็นค่าดอกเบี้ยของมูลค่าน้ำมันดิบสำรองและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษาเกี่ยวกับการสำรอง มูลค่านี้ อาจเป็นรายจ่ายในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นมากกว่าค่าใช้จ่ายอื่น หรืออาจเป็นรายได้ในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าค่าใช้จ่ายอื่น ดังนั้น การสำรองน้ำมันดิบ จึงไม่ควรเป็นองค์ประกอบหนึ่งในค่าพรีเมียมซึ่งเป็นภาระของผู้ใช้น้ำมันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ควรศึกษาวิธีการทางการเงิน (financing) ที่ใช้ในการเก็บสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงในต่างประเทศ เช่น การระดมทุนจากสาธารณะ (Public Capitalization) การออกพันธบัตร (Debt Financing) การใช้เงินทุนของผู้นำเข้าน้ำมัน ฯลฯ ทั้งนี้เพราะการสำรองน้ำมัน อาจมีผลตอบแทนทางการเงินได้ หากสามารถบริหารการจัดหาน้ำมันดิบให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบ

          โดยสรุป ในกรณีที่โรงกลั่นมีกำลังการผลิตเกินความต้องการใช้นำมันในประเทศดังในตารางที่ 4  ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่โรงกลั่นควรเป็นราคาอ้างอิงที่ตลาดสิงค์โปร์  การคิดค่าพรีเมียม จึงควรมีเพียงค่าปรับคุณภาพน้ำมันเท่านั้น

ตารางที่ 4 อุปสงค์อุปทานผลิตภัณฑ์น้ำมัน

หน่วย:ล้านลิตร

ปีผลิตภายในประเทศนำเข้าอุปทานรวมอุปสงค์ภายในประเทศส่งออกอุปสงค์รวม
20161,462,155178,2601,640,4161,099,856234,5421,334,398
20171,516,484184,9521,701,4361,117,808260,6821,378,490
20181,583,269189,2371,772,5061,141,936284,2371,426,173
20191,557,263233,7701,791,0341,165,928224,0591,389,987
20201,469,510245,1921,714,7021,050,795232,0241,282,819
20211,435,057314,2331,749,2911,057,138247,3301,304,468

          ภายใต้ราคาน้ำมันดิบ 120 $/บาร์เรล และค่าขนส่งน้ำมัน สิงคโปร์-ศรีราชา ไป-กลับ 4.7 $/บาร์เรล ค่าพรีเมียมจะลดลงได้ 5.87 เหรียญ สรอ./บาร์เรล ซึ่งเท่ากับ 1.2189 บาท/ลิตร ที่อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาท/เหรียญ สรอ. ดังรายละเอียดในตารางที่ 5 เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีก จะลดลง 1.3043 บาท/ลิตร

ตารางที่ 5 ค่าพรีเมียมที่ลดลงจากระบบราคาอ้างอิงที่สิงค์โปร์

รายการเหรียญ สรอ./บาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบ120
ค่าขนส่งน้ำมัน สิงคโปร์-ศรีราชาไป-กลับ4.71
C&F124.71
ค่าประกันร้อยละ 0.084 C&F 0.10
ค่าสูญเสียร้อยละ 0.3 CIF0.37
ค่าสำรอง0.68
ค่าพรีเมียมที่ลดลง5.87

สรุป

          โครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จ ณ โรงกลั่น ตามที่ได้นำเสนอซึ่งกำหนดขึ้นบนพื้นฐานของราคาอ้างอิง MOPS โดยมีพรีเมียมเพียงค่าปรับคุณภาพน้ำมันเท่านั้น สามารถลดราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปได้ 1.3043 บาท/ลิตร การกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ดังเช่นที่เคยมีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซิน ในการประชุม กบง. ครั้งที่ 7/2562 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 การปรับโครงสร้างราคา ณ โรงกลั่น มติการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ในการประชุม กบง. ครั้งที่ 6/2563 (ครั้งที่ 20) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของกลุ่มน้ำมันเบนซินและกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็จตามโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จ ณ โรงกลั่น ตามที่ได้นำเสนอ จึงสามารถกระทำได้ ซึ่งจะลดลง 1.3043 บาท/ลิตร ทำให้ลดภาระของผู้ใช้น้ำมันได้ประมาณปีละ 59,305 ล้านบาทต่อปี ซึ่งประมาณจากการใช้น้ำมันที่ไม่รวม แอลพีจี 45,470 ล้านลิตร ในปี 2562 ก่อนการระบาดโควิค 19

          หากในช่วงวิกฤตพลังงานและเศรษฐกิจ ประเทศไทยลดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันสำเร็จรูปเท่ากับคุณภาพน้ำมันในตลาด SIMEX  ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น จะลดลงมาเท่ากับราคา MOPS โดยไม่มีค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.05 เหรียญ สรอ./บาร์เรล ซึ่งเท่ากับ 0.4255 บาท/ลิตร ราคาน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล 95 ลดลง 1.57 เหรียญ สรอ./บาร์เรล ซึ่งเท่ากับ 0.3259 บาท/ลิตร อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ คือ 33 บาท/เหรียญ สรอ.        ทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.3043 +1.070.4255 = 1.7596 บาท/ลิตร และราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล 95 ลดลง 1.3043 +1.070.3259 = 1.6530 บาท/ลิตร ส่วนราคากลุ่มเบนซินแก๊สโซฮอลอื่น ราคาขายปลีกลดลง 1.3043 บาท/ลิตร คงเดิม เพราะค่าปรับคุณภาพน้ำมันสำหรับเบนซินแก๊สโซฮอล 91 และเบนซินแก๊สโซฮอล E20 มีค่า -0.63 เหรียญ สรอ./บาร์เรลตามมติ กบง. ครั้งที่ 2/2563 (ครั้งที่ 16) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ส่วนเบนซินแก๊สโซฮอล E85 ไม่มีค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ส่วนราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ก็ลดลง 1.3043 บาท/ลิตร คงเดิม เพราะไม่มีค่าปรับคุณภาพน้ำมัน

ภาคผนวก ผ.1

อุปสงค์และอุปทานผลิตภัณฑ์น้ำมันจำแนกตามชนิดผลิตภัณฑ์

แหล่งที่มารายงานสถิติพลังงานของประเทศไทย 2563 สำนักนโยบายและแผนพลังงาน

หมายเหตุ: ตัวเลขตัวเข้มในแถบสีในตารางในภาคผนวกนี้ เป็นกรณีที่อุปทานน้อยกว่าอุปสงค์

ตารางที่ ผ1.1 อุปสงค์และอุปทานของน้ำมันเบนซิน

หน่วย: บาร์เรล/วัน

ปีผลิตภายในประเทศนำเข้าอุปทานความต้องการภายในประเทศส่งออกอุปสงค์
2559 308,424 26,659 335,083 182,304 24,109 206,412
2560 217,616 30,429 248,045 189,079 27,906 216,985
2561 226,879 27,017 253,896 195,315 29,455 224,770
2562 225,487 38,689 264,176 202,485 21,113 223,598
2563 223,738 24,212 247,950 199,490 25,176 224,666

ตารางที่ ผ1.2 อุปสงค์และอุปทานของน้ำมันแก๊ส

หน่วย: บาร์เรล/วัน

ปีผลิตภายในประเทศนำเข้าอุปทานความต้องการภายในประเทศส่งออกอุปสงค์
2559 38,205 –   38,205 190 461 651
2560 33,944 –   33,944 133 213 346
2561 36,941 –   36,941 132 83 215
2562 35,319 –   35,319 130 34 164
2563 28,478 –   28,478 111 140 252

ตารางที่ ผ1.3 อุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดีเซล

หน่วย: บาร์เรล/วัน

ปีผลิตภายในประเทศนำเข้าอุปทานความต้องการภายในประเทศส่งออกอุปสงค์
2559 426,950 14,244 441,194 389,554 82,656 472,209
2560 454,308 14,011 468,319 401,106 90,378 491,484
2561 466,269 100,328 566,597 406,991 95,341 502,331
2562 441,806 40,905 482,711 424,167 65,074 489,241
2563 474,393 952 475,345 411,727 98,910 510,636

ตารางที่ ผ1.4 อุปสงค์และอุปทานของน้ำมันอากาศยาน

หน่วย: บาร์เรล/วัน

ปีผลิตภายในประเทศนำเข้าอุปทานความต้องการภายในประเทศส่งออกอุปสงค์
2559 113,058 1,513 114,571 111,150 9,554 120,704
2560 119,834 839 120,673 116,194 13,068 129,261
2561 130,124 970 131,094 122,269 17,388 139,658
2562 122,498 6,560 129,058 123,261 14,364 137,625
2563 51,750 2,494 54,244 47,171 11,783 58,954

ตารางที่ ผ1.5 อุปสงค์และอุปทานของน้ำมันเตา

หน่วย: บาร์เรล/วัน

ปีผลิตภายในประเทศนำเข้าอุปทานความต้องการภายในประเทศส่งออกอุปสงค์
2559 97,359 2,061 99,420 39,151 55,923 95,074
2560 101,290 1,016 102,306 36,584 60,661 97,245
2561 103,036 158 103,194 38,113 59,429 97,542
2562 94,434 421 94,855 34,226 55,470 89,696
2563 81,630 399 82,028 30,398 45,182 75,581

ตารางที่ ผ1.6 อุปสงค์และอุปทานของแอลพีจี

หน่วย: บาร์เรล/วัน

ปีผลิตภายในประเทศนำเข้าอุปทานความต้องการภายในประเทศส่งออกอุปสงค์
2559 182,984 14,502 197,486 195,206 2,614 197,820
2560 193,250 20,494 213,744 202,263 7,669 209,932
2561 199,348 21,765 221,113 211,247 12,217 223,464
2562 190,832 17,540 208,372 209,324 9,544 218,867
2563 174,898 17,011 191,909 182,680 7,403 190,083

ภาคผนวก ผ2

หลักเกณฑ์การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นตามแนวคิด Import Parity

แหล่งที่มา: รายงานประจำปี 2563 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

หลักเกณฑ์การกำหนดราคาน้ำมันเบนซินและราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล ณ โรงกลั่น              

          ราคาอ้างอิงน้ำมันเบนซินออกเทน 95  เป็นราคา MOPS ของน้ำมันเบนซินออกเทน 95  ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์

                   ราคาอ้างอิงน้ำมันเบนซินออกเทน 91  เป็นราคา MOPS ของน้ำมันเบนซินออกเทน 91 Non-Oxy  ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์

                   ราคาอ้างอิงน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เป็นค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคา MOPS ของGasoil 10 ppm และ Gasoil 500 ppm ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์ด้วยน้ำหนัก 0.9184 และ 0.0816 ตามลำดับ

          ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ณ โรงกลั่น (บาท/ลิตร) เท่ากับ (ราคาอ้างอิงน้ำมันเบนซินออกเทน 95  บวกค่าพรีเมียมโดยค่าปรับคุณภาพน้ำมันตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน)อัตราแลกเปลี่ยน/158.984

          ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ณ โรงกลั่น เท่ากับ[(1-X1)ราคาอ้างอิงน้ำมันเบนซินออกเทน 95  บวกค่าพรีเมียมโดยค่าปรับคุณภาพน้ำมันตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน+ ค่าผสม Yเหรียญ สรอ.]อัตราแลกเปลี่ยน/158.984+X1ราคาเอทานอล

          ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ณ โรงกลั่น เท่ากับ[(1-X2)ราคาอ้างอิงน้ำมันเบนซินออกเทน 91  บวกค่าพรีเมียมโดยค่าปรับคุณภาพน้ำมันตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน+ ค่าผสม Yเหรียญ สรอ.]อัตราแลกเปลี่ยน/158.984+X2ราคาเอทานอล

          ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล E20 ณ โรงกลั่น เท่ากับ[(1-X3)ราคาอ้างอิงน้ำมันเบนซินออกเทน 91  บวกค่าพรีเมียมโดยค่าปรับคุณภาพน้ำมันตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน+ ค่าผสม Yเหรียญ สรอ.]อัตราแลกเปลี่ยน/158.984+X3ราคาเอทานอล

          ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล E85 ณ โรงกลั่น เท่ากับ[(1-X4)ราคาอ้างอิงน้ำมันเบนซินออกเทน 91  บวกค่าพรีเมียมโดยค่าปรับคุณภาพน้ำมันตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน]อัตราแลกเปลี่ยน/158.984+X4ราคาเอทานอล

เมื่อ

          X1 คือสัดส่วนโดยปริมาตรเอทานอลแปลงสภาพอัตราต่ำของน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน

          X2 คือสัดส่วนโดยปริมาตรเอทานอลแปลงสภาพอัตราต่ำของน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน

          X3 คือสัดส่วนโดยปริมาตรเอทานอลแปลงสภาพอัตราต่ำของน้ำมันแก๊สโซฮอล E20 ตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน

          ค่าผสม Y1, Y2 และ Yให้เป็นไปตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน ซึ่งในปัจจุบันมีค่าเท่ากับ 0

หลักเกณฑ์การกำหนดราคาน้ำมันดีเซล ณ โรงกลั่น

          ราคาอ้างอิงน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เท่ากับ ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคา MOPS Gasoil 10 ppm และราคา MOPS Gasoil 500 ppm ด้วยน้ำหนัก 0.9184 และ 0.0816 ตามลำดับ

          ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ โรงกลั่น (บาท/ลิตร) เท่ากับ (1-X)  (ราคาอ้างอิงน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว + พรีเมียมโดยไม่มีค่าปรับน้ำมัน) อัตราแลกเปลี่ยน/158.984+ X  ราคาไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน

เมื่อ X คือสัดส่วนโดยปริมาตรของราคาไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันอัตราเฉลี่ยของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน

หลักเกณฑ์การกำหนดราคาน้ำมันเตา ณ โรงกลั่น           

          ราคาอ้างอิงน้ำมันเตา 600 (2% Sulphur)t เท่ากับ ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคา AFO180 cst (2% Sulphur)t และราคา MOPS Gasoil 50 ppm ด้วยน้ำหนัก 0.836 และ 0.164 ตามลำดับ ราคา AFO180 cst (2% Sulphur)tเป็นราคาถ่วงน้ำหนักของ FO180cstt-1 และ FO180cstt-2 ด้วยน้ำหนัก 2/3 และ 1/3 ตามลำดับ และราคา FO180cstt เป็นค่าเฉลี่ยของราคาต่ำสุดและสูงสุดของวัน

          ราคาน้ำมันเตา 600 (2% Sulphur) ที่ 86 องศาฟาเรนไฮต์ ณ โรงกลั่น (บาท/ลิตร)  เท่ากับราคาอ้างอิงน้ำมันเตา 600 (2% Sulphur)t ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์  0.9896 อัตราแลกเปลี่ยน/158.984

          ราคาอ้างอิงน้ำมันเตา 1500 (2% Sulphur) เท่ากับ ราคา AFO180 (2% Sulphur)

          ราคาน้ำมันเตา 1500 (2% Sulphur) ที่ 86 องศาฟาเรนไฮต์ ณ โรงกลั่น (บาท/ลิตร)  เท่ากับราคาอ้างอิงน้ำมันเตา 1500 (2% Sulphur) ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์ 0.9896อัตราแลกเปลี่ยน/158.984

          เป็นที่น่าสังเกตุว่า ราคาน้ำมันเตา ณ โรงกลั่น ทั้ง 2 ชนิด ไม่มีค่าพรีเมียมใด ๆ เลย