วิเคราะห์ผล NIDA Poll “การเลือกตั้ง 2566” หลากปัจจัยแห่งชัยชนะ โดย รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

วิเคราะห์ผล NIDA Poll “การเลือกตั้ง 2566” หลากปัจจัยแห่งชัยชนะ โดย รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

Authors

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา NIDA


ปัจจัยชี้ขาด ไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าปัจจัยใดมีอิทธิพลมากกว่าปัจจัยอื่น ๆ ยกตัวอย่าง ความคิดความเชื่อเชิงอุดมการณ์ของพรรค ซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยด้านนโยบาย จะเป็นปัจจัยสำคัญของคนที่อายุ 18-35 ปี และมักจะมีการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นต้นไป จำนวนมากเป็นนักศึกษาและคนที่อยู่ในวัยทำงานช่วงแรกที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ส่วนคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ นอกจากความคิดความเชื่อเชิงอุดมการณ์ของพรรคแล้ว นโยบายก็มีความสำคัญมาก หากเป็นคนที่สังกัดแถบชนบทจะให้ความสำคัญกับนโยบายประชานิยม

            ภายหลังผลสำรวจ “การเลือกตั้ง 2566” จาก NIDA Poll ทั้งระดับพื้นที่และภาพรวมของประเทศ ได้ทำนายอันดับคะแนนความนิยมไปในทิศทางที่เป็นแบบแผนค่อนข้างแน่นอนทั้งในตัวบุคคลและพรรค โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งครั้งสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ทุกพรรคการเมืองต่างแข่งขันกันอย่างเข้มข้นเพื่อโอกาสในการเป็นรัฐบาล รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา NIDA ได้ให้สัมภาษณ์ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยระบุว่าไม่มีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเป็นตัวชี้ขาดชัยชนะ ต้องพิจารณาบริบทในหลายมิติประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย ความนิยมในตัวบุคคล ยุทธศาสตร์การรณรงค์หาเสียง ทรัพยากรทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ ฯลฯ

– ด้วยความที่อาจารย์วิเคราะห์การเมืองโดยอาศัยข้อมูลจาก NIDA Poll จึงอยากให้อาจารย์กล่าวถึงบทบาทของ NIDA Poll รวมทั้ง impacts ที่มีต่อสังคม เพราะเหตุใดจึงได้ชื่อว่าเป็นโพลที่ได้รับความเชื่อมั่น จุดเด่นคืออะไร –
            ปัจจุบัน NIDA Poll ได้รับความสนใจจากประชาชน พรรคการเมือง รวมทั้งสื่อค่อนข้างมาก เนื่องจากสะท้อนความเป็นจริงของสังคมในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ใครก็ตามจึงสามารถจะนำข้อมูลจากโพลไปใช้โดยประยุกต์ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองได้ เช่น พรรคการเมืองสามารถนำข้อมูลไปวางแผนยุทธศาสตร์ในการหาเสียง ส่วนประชาชนก็นำข้อมูลไปใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจ NIDA Poll จึงมี impacts ต่อสังคม ไม่เพียงเฉพาะช่วงเลือกตั้ง แต่ในช่วงเวลาปกติที่มีการสำรวจความคิดเห็นด้านนโยบาย บรรดาผู้บริหารของกระทรวงหรือรัฐบาลก็สามารถจะนำข้อมูลไปปรับปรุงนโยบายหรือกฎหมายให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนได้ ในประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายมีการทำโพลลักษณะนี้อยู่เป็นระยะ ด้านหนึ่งเป็นการตรวจสอบความนิยมของรัฐบาลเพื่อให้ปรับปรุงการทำงาน นี่คือกระบวนการการมีส่วนร่วมที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่เสียงของประชาชนมีความสำคัญทั้งในช่วงก่อนเลือกตั้งและช่วงเลือกตั้ง ซึ่งหากรัฐบาลละเลยก็อาจจะประสบกับผลลัพธ์ที่ไม่พึงปรารถนา

            จุดเด่นของ NIDA Poll อย่างแรก มีความเป็นกลางและมีความเป็นมืออาชีพสูงโดยไม่นำอคติเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนโพลสาธารณะก็เป็นโพลที่ทำด้วยตัวเองโดยไม่มีพรรคการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดเข้ามาแทรกแซงได้ ทำให้รักษาจุดยืนได้ อย่างที่สอง วิธีการสุ่มตัวอย่างมีความเป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้ได้ตัวแทนของประชากรที่เป็นสัดส่วนที่แท้จริงกับประชากรรวมของประเทศ ทำให้ข้อมูลที่ได้ค่อนข้างถูกต้องแม่นยำ อย่างที่สาม วิธีการเก็บข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือและสะสมหมายเลขไว้ในฐานข้อมูลที่เรียกว่า Master Sample ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมดราว 3 แสนหมายเลขซึ่งถือว่าสูงมาก อย่างที่สี่ ความน่าจะเป็นของการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง โดยค่อนข้างอาศัยการกระจายอย่างอิสระซึ่งตัดอคติออกไปได้ค่อนข้างสูง แตกต่างจากโพลที่เจาะจงกลุ่มตัวอย่างซึ่งทำให้เกิดการบิดเบือนได้

– อยากให้อาจารย์อธิบายคร่าว ๆ เกี่ยวกับ “กติกาใหม่” ของ “การเลือกตั้ง 2566” ในส่วนที่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. คิดว่ามีผลกระทบต่อตัวพรรคการเมืองอย่างไร –
            มีผลกระทบมากทีเดียว เพราะระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่เราเรียกว่า ระบบคู่ขนาน ระหว่างเขตเลือกตั้งกับบัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคเล็กแทบจะหมดโอกาสมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต่างจากระบบจัดสรรปันส่วนผสมของการเลือกตั้ง 2562 ที่นำทุกคะแนนมาคำนวณและทำให้ได้พรรคที่เรียกว่า พรรคปัดเศษ จำนวนมาก ฉะนั้น พรรคที่มีคะแนนนิยมสูงก็จะได้เปรียบ ถ้าพรรคใดมีผู้สมัครที่มีฐานเสียงในเขตเลือกตั้งแน่นหนาก็ยิ่งจะได้เปรียบกว่าพรรคมีกระแสแต่ปราศจากฐานเสียง หรือกลับกันคือมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะเสียเปรียบ ยากที่จะเอาชนะในการเลือกตั้ง ยิ่งไม่มีทั้งสองอย่างเลยก็ค่อนข้างหมดหวัง

– ผลสำรวจ NIDA Poll “การเลือกตั้ง 2566” ที่ออกมาในช่วงเวลาก่อนหน้านี้จนถึงวันนี้สามารถสรุปแนวโน้มของผลการเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาทุกขณะได้อย่างไรบ้าง –
            ภาพรวมทั้งประเทศ สามปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนอันดับหนึ่งในภาพรวมหรือร้อยละ 49 จากการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคม ปัจจัยแรก พรรคเพื่อไทยมีฐานคะแนนนิยมเดิมซึ่งภักดีต่อพรรคมากพอสมควรหรือราวร้อยละ 25 ปัจจัยที่สอง นโยบายที่มีความดึงดูดใจ โดยเฉพาะนโยบายค่าแรง 600 บาท และเงินเดือน 25,000 บาท ที่ดึงดูดใจกลุ่มผู้ใช้แรงงานและผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา ปัจจัยที่สาม ผู้นำที่ชูเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คุณแพทองธาร ชินวัตร ถือเป็นคนรุ่นใหม่และเป็นทายาทของคุณทักษิณ ชินวัตร ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น ส่วนคุณเศรษฐา ทวีสิน ที่เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ยิ่งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มนักธุรกิจ ส่วนปัจจัยภายนอก คือประชาชนจำนวนมากต้องการเปลี่ยนรัฐบาลหลังจากที่อยู่กับรัฐบาลเดิมมาแล้วแปดปี ทำให้พรรคมีคะแนนเพิ่มขึ้น

            พรรคก้าวไกลได้คะแนนอันดับสอง ฐานคะแนนนิยมคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 18-35 ปี ทั้งที่เป็นนักศึกษาและคนที่อยู่ในวัยทำงานช่วงแรก ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือราชการ อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของพรรคคือไม่ค่อยได้รับความนิยมจากกลุ่มอาชีพเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานเท่าใดนัก รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ

            พรรครวมไทยสร้างชาติได้คะแนนอันดับสาม ฐานคะแนนนิยมคือกลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งพ่อบ้านแม่บ้าน และกล่าวได้ว่าคะแนนนิยมมาจากตัวบุคคล หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก นอกจากนี้ยังมี ส.ส. กลุ่มบ้านใหญ่เข้ามาสังกัด แต่มีจำนวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับพรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคที่มีคะแนนลดหลั่นลงมาอย่างพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนอันดับสี่ ถือว่ามีคะแนนนิยมลดลงจากในอดีตมากพอสมควรเพราะการเกิดขึ้นของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมาแย่งคะแนนนิยมในเขตภาคใต้ซึ่งเป็นฐานเก่าแก่ของพรรค ถัดมาคือพรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐซึ่งได้คะแนนใกล้เคียงกัน สองพรรคนี้เป็นพรรคที่อาศัยการเมืองบ้านใหญ่ คือใช้ฐานเสียงของ ส.ส. ในพื้นที่เป็นหลัก ความนิยมในภาพกว้างจึงไม่ค่อยมีนักแต่ก็มีโอกาสที่จะได้ที่นั่ง ส.ส. สูงกว่าเมื่อเทียบกับพรรคเสรีรวมไทยซึ่งมีความนิยมในภาพกว้างสูงกว่าทั้งสองพรรคนี้

            นโยบาย เกือบทุกพรรคใช้นโยบายประชานิยมเป็นนโยบายหลัก แต่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายประชานิยมที่ค่อนข้างดึงดูดใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่าพรรคอื่น ๆ แต่นโยบายประชานิยมนั้นไม่ว่าพรรคใดก็ตามหากเสนอไปแล้วหากได้เป็นรัฐบาลก็ต้องผลักดัน ซึ่งอาจจะสร้างผลกระทบในการบริหารงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินที่ก่อให้เกิดหนี้สาธารณะ การตัดงบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ หรือการขึ้นภาษี นโยบายประชานิยมยังมักเป็นนโยบายระยะสั้น แม้ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ แต่ในระยะยาวอาจจะสร้างปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาทางการคลังอื่น ๆ ตามมา

            นโยบายของพรรคก้าวไกลดูเผิน ๆ ก็เป็นประชานิยมเช่นกัน แต่มีระบบคิดที่ซับซ้อน อาจกล่าวได้ว่าใกล้เคียงกับนโยบายรัฐสวัสดิการ อีกทั้งยังเป็นนโยบายระยะยาว เช่น บำนาญ 3,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงพอสมควรเมื่อเทียบกับเบี้ยผู้สูงอายุในปัจจุบัน โดยพรรคได้แจกแจงที่มาที่ไปของแหล่งเงินอย่างชัดเจนว่างบประมาณที่ใช้ปีละประมาณ 5 แสนล้านบาทจะมาจากการตัดลดงบการทหารบางส่วน การขึ้นภาษีต่าง ๆ เป็นต้น

            ส่วนนโยบายของพรรคอื่น ๆ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ การประกันรายได้ก็เป็นนโยบายประชานิยมรูปแบบหนึ่ง หรือของพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติก็มาในรูปของนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แตกต่างกันที่ตัวเลข

            นอกจากนโยบายประชานิยมแล้วก็มีนโยบายอื่นที่ไม่ใช่ประชานิยม ที่เป็นกระแสมากก็คือนโยบายกัญชาเสรีของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ทำให้คะแนนของพรรคภูมิใจไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด

            นอกจากนี้ก็มีนโยบายสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง เช่น ยกเลิกการเกณฑ์ทหารของพรรคก้าวไกล โดยหันไปใช้ระบบสมัครใจแทน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบราชการทางการทหาร หรือนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าราชการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจตามหลักการขยายประชาธิปไตยให้กว้างขวางออกไปสู่ระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองที่สำคัญ นโยบายเหล่านี้สร้างทางเลือกให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนโดยรวมรู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเองมากขึ้น

            ปัจจัยชี้ขาด ไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าปัจจัยใดมีอิทธิพลมากกว่าปัจจัยอื่น ๆ ยกตัวอย่าง ความคิดความเชื่อเชิงอุดมการณ์ของพรรค ซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยด้านนโยบาย จะเป็นปัจจัยสำคัญของคนที่อายุ 18-35 ปี และมักจะมีการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นต้นไป จำนวนมากเป็นนักศึกษาและคนที่อยู่ในวัยทำงานช่วงแรกที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ส่วนคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ นอกจากความคิดความเชื่อเชิงอุดมการณ์ของพรรคแล้ว นโยบายก็มีความสำคัญมาก หากเป็นคนที่สังกัดแถบชนบทจะให้ความสำคัญกับนโยบายประชานิยม รวมทั้งปัจจัยทางทรัพยากรที่เราเรียกว่า การซื้อเสียง ก็มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องในเขตเลือกตั้งที่แข่งขันกันอย่างสูสี แต่มักจะเป็นนักการเมืองรุ่นเก่าหรือกลุ่มบ้านใหญ่ที่เลือกจะใช้ปัจจัยนี้ นอกจากนี้ในแต่ละภูมิภาคจะมีปัจจัยด้านความผูกพันต่อพรรคที่มองว่าเป็นพรรคของตัวเอง เช่น คนในภาคเหนือและอีสานจะผูกพันกับพรรคเพื่อไทย ส่วนภาคใต้จะผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์แต่ปัจจุบันก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยหันไปนิยมในตัวบุคคลที่เป็นแคนดิเดตฯ คือ พล.อ. ประยุทธ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ กรณีของปัจจัยด้านตัวบุคคลยังเห็นได้จากพรรคเล็กอื่น ๆ เช่น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พรรคเสรีรวมไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคไทยสร้างไทย

            การรณรงค์หาเสียง ในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตมาก โดยเฉพาะการแพร่หลายของโซเชียลมีเดียซึ่งช่วยให้พรรคต่าง ๆ มีช่องทางในการสื่อสารหลากหลายและกว้างขวาง โดยพรรคก้าวไกลถือเป็นพรรคแรก ๆ ที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างได้ผล เช่น Twitter ในช่วงการเลือกตั้ง 2562 และในการเลือกตั้งครั้งนี้ทุกพรรคก็เรียนรู้ที่จะใช้โซเชียลมีเดียในหลายแพลตฟอร์ม อีกอย่างคือการดีเบต ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้เข้มข้นมากกว่าครั้งก่อน สื่อมวลชนก็ช่วยกันจัดและมีการถ่ายทอดสดผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยิ่งเป็นการกระจายเนื้อหาสู่การรับรู้ของประชาชน สร้างความตื่นตัวทางการเมือง นอกจากนี้การใช้นโยบายประชานิยมโดยพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้ง 44 จนได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค ก็เป็นแนวทางให้พรรคต่าง ๆ หันมาใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป หลัก ๆ คือการสัญญาว่าจะแจกเงินลงไปยังประชาชนโดยตรงหากพรรคของตัวเองได้เป็นรัฐบาล

            การเลือกตั้งครั้งนี้ยังพบว่าบางพรรคที่ใช้กลยุทธ์การหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยมที่ไม่ใช่เชิงวัตถุ แต่เป็นประชานิยมเชิงโวหารในลักษณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เคยใช้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คือโวหารเชิงอารมณ์บนพื้นฐานของการแบ่งแยกประชาชน สร้างบรรยากาศของความขัดแย้งเกลียดชังกัน

– จะมีปัจจัยหรือตัวแปรใด ๆ หรือไม่ที่จะทำให้ผลสำรวจ NIDA Poll เปลี่ยนแปลงไปจากแบบแผนชนิดเปลี่ยนขั้วของคะแนนนำ –
            ไม่น่าจะมีปัจจัยหรือตัวแปรใดที่มีพลังเพียงพอ ยกเว้นกรณีเดียวคือการยุบพรรค เช่น เพื่อไทย หรือก้าวไกล แต่ในสภาวการณ์ปกติก็อาจจะมีการผันแปรอยู่บ้างในช่วงท้ายของการรณรงค์หาเสียง โดยจะผันแปรในขั้วการเมืองเดียวกัน ส่วนการผันแปรข้ามขั้วเกิดขึ้นได้บ้างแต่น้อยมาก

            ส่วนสวิงโหวตหรือบ้างเรียกว่า การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ โดยมากมีผลเฉพาะในเขตเลือกตั้งที่มี 2 พรรคแข่งขันกันอย่างสูสี เช่น ระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกลในบางเขตของกรุงเทพฯ และหากเกิดเหตุการณ์บางอย่างก็เป็นไปได้ว่าคะแนนจะสวิงไปยังอีกพรรคได้ ในขั้วรัฐบาลก็เกิดสวิงโหวตได้กรณีของคะแนนที่เทให้รวมไทยสร้างชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สวิงโหวตไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงแบบแผนของการผลการสำรวจได้

ที่มา : วารสาร NIDA Impacts ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2566)
อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่