Authors
ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์
ต่อความเชื่อมั่นและความแม่นยำของผลสำรวจ NIDA Poll ภายใต้ปรัชญาที่ว่า “ถูกต้อง เที่ยงตรง ด้วยคุณภาพตามหลักวิชาการ” ในการสำรวจและทำนายผลการเลือกตั้ง กรณี การเลือกตั้ง 2566 NIDA Impacts ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อยู่เบื้องหลัง NIDA Poll ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ในการให้ข้อมูลเจาะลึกถึงวิธีการทำงานของ NIDA Poll รวมทั้งให้ความเห็นเกี่ยวกับโอกาสที่แต่ละพรรคจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง 2566
โดย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ เกริ่นถึงความเป็นมาของ NIDA Poll เริ่มจากปี 2550 ที่กลับมาดำเนินการอีกครั้งโดยการริเริ่มของ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีในสมัยนั้น โดยเสนอวิธีการเก็บข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือ เนื่องจาก ศ. ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เชื่อว่าคนไทยใช้โทรศัพท์มือถือกันโดยทั่วไปแล้ว หรือประมาณร้อยละ 70-80 ในการนี้ ศ. (เกียรติคุณ) ดร.ประชุม สุวัตถี อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ ได้ช่วยวางกรอบแนวคิดให้ NIDA Poll ทำการย่อประเทศไทยลงมาจากประชากร 60 กว่าล้านคนให้มาอยู่ที่หลักหมื่นถึงแสนเพื่อที่จะสามารถจัดการกับข้อมูลได้ จากนั้น รศ.ดร.ปราโมทย์ กั่วเจริญ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ ได้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อจัดเก็บหมายเลขโทรศัพท์มือถือและการสุ่ม (random) จากฐานข้อมูล (data base) ที่เรียกว่า Master Sample (ตัวอย่างหลัก) โดยโปรแกรมจะสุ่มหมายเลขโทรศัพท์มือถือออกมาเพื่อนำไปใช้ดำเนินการในการสำรวจต่อไป
“พนักงานเก็บข้อมูลของ NIDA Poll จะสอบถามผู้ให้ข้อมูลเป็นอันดับแรกว่ายินดีจะร่วมแสดงความคิดเห็นกับNIDA Poll หรือไม่ ถ้ายินดีจึงจะสอบถามต่อไป โดย NIDA Poll ไม่เคยขอชื่อ เลขบัตรประชาชน หรือเลขบัญชีธนาคารใด ๆ ทั้งสิ้น เราต้องการเพียง bio data (ข้อมูลย่อเกี่ยวกับชีวประวัติ) เช่น เพศ อายุ ศาสนา ภูมิลำเนา ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน เป็นต้น หลังจากเก็บที่ข้อมูลตัวอย่างหลักสะสมถึง 4 – 5 หมื่นราย NIDA Poll ก็จะเริ่มทำโพล ระบบนี้มีข้อดีตรงที่สามารถกำหนดได้ว่าต้องการประชากรและกลุ่มเป้าหมายใด ในเรื่องการทำโพลนั้นถ้าเก็บข้อมูลถูกกลุ่มเป้าหมายคำตอบก็ถือว่าถูกไปครึ่งหนึ่งแล้ว ที่เหลือก็เป็นเรื่องของคำถามที่เราถาม ความไว้วางใจระหว่างผู้ถามกับผู้ตอบ ผู้ที่ไว้วางใจเราก็จะตอบตามความเป็นจริง ดังนั้น การจัดเก็บหมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือที่เรียกว่า Master Sample ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงถือว่าเป็นการสร้างความไว้วางใจในเบื้องต้น เพราะเมื่อมีการสำรวจความคิดเห็นในครั้งต่อไปผู้ตอบก็จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นสมาชิกและยินดีที่จะสนทนาด้วย ถ้าเราเป็นคนแปลกหน้าโทรไปผู้ตอบอาจจะไม่ยินดี หรือถ้าเป็นการลงพื้นที่การเป็นคนแปลกหน้าอาจจะทำให้เขาไม่ไว้วางใจ ไม่ให้คำตอบ การสุ่มหมายเลขโทรศัพท์มือถือจึงเป็นวิธีการที่ดีในการที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากัน ยิ่งเป็นสมาชิกเดิมก็จะไว้วางใจเรา”
เมื่อถามถึงวิธีการกำหนดกลุ่มตัวอย่างที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ได้ยกตัวอย่างการทำนายผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2556 ว่า NIDA Poll เป็นโพลสำนักเดียวที่สามารถทำนายได้อย่างถูกต้องว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร จะได้รับชัยชนะ เนื่องจากอาศัยโปรแกรมเป็นตัวกำหนดเฉพาะหมายเลขโทรศัพท์มือถือของคน กทม. ออกมา จึงไม่มีคนจังหวัดอื่นเข้ามาในผลสำรวจ
“เปรียบเทียบกับการลงพื้นที่ เช่น ตลาดบางกะปิ ถ้าลงไปเก็บแบบสอบถาม 100 ชุด ก็อาจจะได้คำตอบจากคน กทม. สัก 70 ชุด ที่เหลือเป็นประชากรแฝงที่ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม. เป็นต้น หรือถ้าต้องการกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้หญิงที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคอีสาน อายุ 40 ปีขึ้นไป โปรแกรมก็สามารถที่จะกำหนดเฉพาะหมายเลขโทรศัพท์มือถือของคนกลุ่มนี้ออกมา”
ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ได้เสริมถึงวิธีการเก็บข้อมูลของ bio data ที่มีความละเอียดซึ่งเป็นส่วนได้เปรียบในความแม่นยำของผลสำรวจ NIDA Poll ว่า สำนักโพลทั่วไปมักจะเก็บข้อมูลที่แจกแจงองค์ประกอบของเพศกับพื้นที่เป็นหลัก ขณะที่ NIDA Poll ได้เก็บข้อมูลเพิ่มเติมในองค์ประกอบของ generation (รุ่น) หรืออายุ สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งล่าสุดที่ NIDA Poll ถูกจัดว่าเป็นสำนักที่ทำนายผลได้อย่างแม่นยำที่สุด การเก็บข้อมูลได้แบ่งสัดส่วนกลุ่มตัวอย่างของอายุ 5 ช่วง ได้แก่ 18-25 ปี 26-35 ปี 36-45 ปี 46-59 ปี และ 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งสัดส่วนของเพศชาย-หญิง แต่ละเขตทั้ง 50 เขต ตามสัดส่วนของประชากรทั้ง กทม. โดยหลังจากได้ข้อมูลทั้งสามองค์ประกอบ คือ เพศ อายุ และพื้นที่ ครบแล้ว จึงทำการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ตรงกับทั้งสามองค์ประกอบออกมาเพื่อเก็บข้อมูลต่อไป
“การเก็บข้อมูลที่กระจายสัดส่วนให้เท่าเทียมกับจำนวนประชากรทั้งหมดเป็นเรื่องที่ยาก เพราะต้องใช้เวลาในการดำเนินการหาตัวอย่างที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย แต่ระบบโทรศัพท์มือถือช่วยให้ NIDA Poll เข้าถึงตัวอย่างได้ ไม่ว่าท่านนั้นจะอยู่ในบ้านมีรั้ว ชุมชน คอนโดมิเนียม หรือห้องแถว”
สำหรับเสียงตอบรับที่มีต่อ NIDA Poll ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ กล่าวว่า NIDA Poll ทำการวัดความนิยมของตัวเองเสมอโดยใช้วิธีการคิดจากมูลค่าสื่อของสื่อต่าง ๆ ที่นำผลโพลไปเผยแพร่เป็นปัจจัยหลัก ในส่วนของ NIDA Poll เอง มูลค่าสื่ออยู่ที่ราว 200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งนับว่าสูงมากและถือเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์องค์กรโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยคาดว่าในปี 2566 มูลค่าสื่อของ NIDA Poll จะสูงขึ้นมากกว่าปีก่อน
“Impacts ที่มีต่อสังคม คือ ประชาชนจำนวนมากจะรอดูผล NIDA Poll รวมถึงพรรคการเมืองและสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องความนิยมทางการเมืองในรายจังหวัด รายภาค และทั้งประเทศ เพราะความน่าเชื่อถือของผลสำรวจของเราที่มีความเป็นกลาง แสดงถึงความเป็นมืออาชีพ ผมเน้นเสมอเรื่องความเป็นมืออาชีพ นอกจากระเบียบวิธีวิจัย เทคนิค โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ดีของเราแล้ว NIDA Poll ยังมีความเป็นกลางในการเก็บข้อมูล ยกตัวอย่าง ผู้เก็บข้อมูลของนิด้าโพลเองแม้ว่าจะรู้อยู่แล้วว่า 14 พ.ค. นี้จะกาหมายเลขผู้สมัครและพรรคใด แต่ในการทำงานทุกคนต้องลงข้อมูลจริงตามที่ตัวอย่างตอบมา ทำให้ NIDA Poll มีความแม่นยำขึ้น และเริ่มแม่นยำขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ซึ่งมีประชาชนติดตามโพลเกี่ยวกับความนิยมทางการเมืองรายไตรมาสที่ทำมาตั้งแต่ปี 2563 เป็นจำนวนมาก ว่าผลจะออกมาอย่างไร พลิกผันหรือไม่”
ว่าด้วยโอกาสในการที่แต่ละพรรคจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง 2566 ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ทิ้งท้ายไว้ว่า มีความมั่นใจในผลสำรวจอย่างต่อเนื่องของ NIDA Poll โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ กทม. ทั้ง 33 เขต ที่ NIDA Poll มีกลุ่มตัวอย่างที่เชื่อถือได้ว่าเป็นตัวแทนที่สะท้อนเสียงของประชากรทั้งหมดได้เป็นอย่างดี
“ปัจจัยภายนอกไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผลโพลเท่าใดนัก โดยปัจจัยที่จะทำให้พรรคนั้น ๆ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งได้มีอยู่สี่ปัจจัยหลัก หนึ่ง กระแส หรือโพลที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ สอง นโยบายพรรค สาม ตัวบุคคล เช่น เป็นบ้านใหญ่ เป็นผู้มีอิทธิพล เป็นอดีต ส.ส. หรือไม่ สี่ ทรัพยากรทางการเมือง สำหรับเขตเมืองของจังหวัดใหญ่ ๆ ปัจจัยสำคัญคือกระแสกับนโยบาย ส่วนนอกเขตเมืองออกไปผลโพลจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ อย่างตัวบุคคลและทรัพยากรทางการเมือง ทั้งสี่ปัจจัยนี้ถ้ามีผลอย่างมีนัยสำคัญก็จะส่งผลต่อผลโพลของเราได้”
ที่มา : วารสาร NIDA Impacts ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2566)
อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่