โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2520 เป็นแบบอย่างของการให้ผู้ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดารเข้าถึงการรักษาพยาบาล ด้วยแนวทางปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างในการเป็นโรงพยาบาลชุมชน เริ่มจากการให้บริการด้านการดูแลสุขภาพที่ทั้งรักษาและใส่ใจ ชุมชนรอบข้างยอมรับและสบายใจกับวิธีบำบัดที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติทางวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น นอกจากนี้แล้ว ‘โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช’ ยังมีแนวปฏิบัติที่สนับสนุนเศรษฐกิจ BCG เช่น ทำปุ๋ยหมักเศษอาหาร นำสมุนไพรในพื้นที่มาทำยาแผนไทยใช้เอง รับซื้อผักปลอดสารจากชุมชนมาทำอาหารในโรงพยาบาล ปัจจุบัน มีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ และใน BCG Series เราจะแนะนำตัวแทนจาก 4 ภูมิภาคของประเทศไทย
โรงพยาบาลปัว (Pua Crown Prince Hospital)
อำเภอปัว จังหวัดน่าน
โรงพยาบาลเพื่อราษฎร’ ที่ให้บริการผู้ยากไร้ในอำเภอปัว ด้วยแนวทางในการรักษาโรคเชิงพฤติกรรมด้วยจิตบำบัดแบบพุทธ สร้างสภาพแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะ และเพลิดเพลินกับบรรยากาศที่เป็นสุขภาวะ
วิถีองค์รวมสู่สุขภาวะ
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ปัว เริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2514 ในฐานะสถานีอนามัยชั้นหนึ่งประจำอำเภอปัว ซึ่งสมัยอดีตถือว่าอยู่ใน ‘เขตสีแดง’ หรือพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายจากความเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 110 เตียง ที่เสนอแนวทางในการรักษาโรคที่เป็นผลมาจากพฤติกรรมที่ป้องกันได้ด้วยจิตบำบัดแบบพุทธ เนื่องจากในปัจจุบันกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ส่วนใหญ่ เกิดจากพฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การสูบบุหรี่ จึงเน้นให้บุคลากรการแพทย์พูดคุยกับผู้ป่วยแต่ละราย ให้รู้จักอยู่กับตัวเองและค้นหาเป้าหมายของตนเอง เพื่อนำไปสู่ความรู้สึกรักตนเอง และดูแลสุขภาพตนเองให้ดีในที่สุด รวมถึงบริการอื่นๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
• พร้อมรับสังคมผู้สูงวัย ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว กว่าร้อยละ 22 เป็นผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจึงได้จัดหน่วยพิเศษเพื่อดูแลผู้สูงอายุ กว่า 20 ปีที่โรงพยาบาลได้จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ และให้สมาชิกเป็นแกนนำในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วม เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับผู้สูงวัยและโรคที่พบบ่อย การรำไทย
• โครงการ ‘ออกซิเจนเพื่อชีวิต’ — -การสูบบุหรี่จัดและไฟป่า ทำให้ชาวน่านป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) จำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องมีเครื่องให้ออกซิเจน โรงพยาบาลจึงได้รณรงค์สื่อสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียและขายเสื้อ จนได้รับบริจาคจากประชาชนทั่วไป ซื้อเครื่องผลิตออกซิเจน 40 เครื่อง ช่วยให้ผู้ป่วยบางรายสามารถนำถังออกซิเจนกลับบ้านได้ แบ่งเบาภาระจากโรงพยาบาล
• จากจุดพักคอยสู่ “ระเบียงกาด” สถาปนิกจากใจบ้านสตูดิโอออกแบบสถานพักคอย โดยได้รับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ญาติ และคนในชุมชน ทำให้เกิด “ระเบียงกาด” สำหรับนั่งพักผ่อนและรับประทานอาหาร โดยสร้างสภาพแวดล้อมบริเวณตลาดให้ถูกสุขลักษณะ ใช้พื้นที่เหลือ ส่งเสริมให้มีการจำหน่ายพืช ผัก ผลไม้ปลอดสารพิษจากวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่น พร้อมทั้งเสียงเพลงบรรเลงจากดนตรีพื้นบ้านอย่างเพลิดเพลิน
#SDG1 #SDG6 #SDG11 #SuDSESC #Nida #NIDAThailand
จากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ “Thailand’s BCG Transformation: 40 Case Studies on the Bio-Circular-Green Strategy and the Sufficiency Economy Philosophy In Action” หน้า 253 และเนื้อหาเพิ่มเติมจากหนังสือ “21 พื้นที่แห่งความสุข โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย” หน้า 47-51





