ปัจฉิมนิเทศ นิด้า

ปัจฉิมนิเทศในงานพระราชทานปริญญาบัตร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ปัจฉิมนิเทศในงานพระราชทานปริญญาบัตร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

มหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตทุกท่าน

          ในนามของตัวแทนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ขอแสดงความยินดีและความชื่นชมเป็นอย่างยิ่งกับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตทุกท่านที่สำเร็จการศึกษาในครั้งนี้  การเดินทางของการเรียนรู้ของทุกท่านได้ถึงจุดมุ่งหมายที่ท่านคาดหวังไว้แล้ว  ท่านจึงเป็นความภาคภูมิใจของนิด้าในการใช้ความอุตสาหะเพื่อนำไปสู่ปัญญา  ทุกท่านเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ของนิด้าที่จะแพร่กระจายออกไปในสังคม  เป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพที่จะช่วยในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาสังคมต่อไป 

          คำว่า “ปัจฉิมนิเทศ”แปลว่า การกล่าวหรือการอธิบายครั้งสุดท้าย  ซึ่งตรงข้ามกับภาษาอังกฤษคือคำว่า Commencement แปลว่า การเริ่มต้น คือ การเริ่มต้นชีวิตใหม่เพื่อเข้าสู่โลกที่มีความท้าทาย เพื่อจะเป็นคนของนิด้า เป็นคนของสังคม และคนของโลกต่อไป  แม้ว่าปริญญาบัตรที่ท่านจะได้รับเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความพร้อมในการเป็นมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต แต่อาจารย์ขออนุญาตให้ข้อคิดเกี่ยวกับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ดังนี้

1. ปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Wisdom for Sustainable Development)

          การเป็นคนของนิด้ามีลักษณะเป็นอย่างไร  หัวใจของความเป็นนิด้าเป็นเรื่องของปัญญา เพราะเดิมปรัชญาของสถาบันคือ นตฺถิ ปญฺญา สมา อาภา ไม่มีแสงสว่างใดเสมอเท่าปัญญา  ต่อมาเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว  เมื่อสถาบันได้จัดทำแผนพัฒนาสถาบันในระยะยาว  ได้มีการเสนอปรัชญาของสถาบันว่า ปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Wisdom for Change)  และได้มีการใช้ต่อเนื่องกันมา เมื่อปีที่แล้วอาจารย์ได้เสนอปรับให้มีความชัดเจนขึ้นเป็น ปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Wisdom for Sustainable Development)

          ปัญญาเป็นการสะสมความรู้กระทั่งเราเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง  ประเทศและโลกในปัจจุบันมีปัญหามากมายที่รายล้อมเข้ามาซึ่งต้องการปัญญาไปใช้ในการแก้ไขและพัฒนา นอกจากนี้ ปัญญายังหมายรวมถึงความมีเหตุผล มีหลักการ และมีความกล้าหาญในสิ่งที่ถูกที่ควร  พวกเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันซึ่งเป็นผลจากคนที่กล้าหาญในอดีตที่ยืนหยัดในการทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม  ทำให้ประเทศของเราเจริญพัฒนาได้มาถึงทุกวันนี้  และตอนนี้ต้องเป็นภารกิจของพวกเราทุกคนที่จะรับช่วงต่อในการนำปัญญาที่ได้จากนิด้าไปใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

2. เรียนรู้ทุกสิ่งด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility in Learning)

          ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ซับซ้อน กำกวม และยากที่คาดเดาได้ ความรู้ที่สมบูรณ์ (perfect knowledge) เป็นเพียงอุดมคติ  ความรู้ก็มีวันหมดอายุได้เช่นกันถ้าไม่เรียนรู้เพิ่มเติม  ดังที่มหาตมคานธี กล่าวว่า  

Live as if you were to die tomorrow;  

Learn as if you were to live forever.  

          ให้ใช้ชีวิตเสมือนว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้ายของชีวิต  เราจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าได้อย่างไร และให้เรียนรู้เสมือนว่าเราจะมีชีวิตที่เป็นนิรันดร์

ปัจฉิมนิเทศในงานพระราชทานปริญญาบัตร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

          ในโลกสมัยนี้ไม่เพียงแต่ต้องเรียนรู้จากทุกคน  แม้แต่ลูกน้อง ผู้รับบริการและประชาชน  และต้องเรียนรู้จากทุกสิ่ง (everything) ไม่ว่าจะเป็น  ดิน น้ำ ลม ไฟ ฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้เราสามารถเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น  ความอ่อนน้อมถ่อมตนจะทำให้เราไม่หยิ่งยโสในความรู้ที่เรามี  ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นวิถีแห่งชีวิตในการเรียนรู้เพิ่มเติม เป็นการเปิดรับมุมมองหลายมิติเพื่อจะช่วยให้การนำปัญญาที่ได้ร่ำเรียนมาไปปรับประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทต่างๆ ได้ดีขึ้นและช่วยให้การทำงานประสบความสำเร็จ

ปัจฉิมนิเทศในงานพระราชทานปริญญาบัตร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

3. รับผิดชอบต่อสังคมด้วยความเห็นอกเห็นใจ (Social Responsibility with Empathy)

          สถานการณ์โควิดทำให้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมมีมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น  ความเหลื่อมล้ำทางสังคมขยายกว้างขึ้น จึงขอให้พวกเราใช้ความได้เปรียบในเชิงความรู้ที่พวกเรามีและให้ความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นที่ไม่มีโอกาสอย่างเรา  โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาเดือดร้อนในสังคม  เพื่อที่จะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก ปัญหาและความทุกข์ของคนอื่น  จะทำให้พวกเราซึ่งจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอนาคตสามารถเชื่อมโยงผู้คนในสังคมได้  เพื่อช่วยให้สังคมมีความหวัง เป็นแหล่งพึ่งพาทางปัญญาของสังคม  และร่วมรับผิดชอบต่อสังคม  อาจารย์อยากเห็นคนของนิด้าเริ่มจากความเห็นอกเห็นใจ  แล้วความรับผิดชอบต่อสังคมจะตามมาเพื่อพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน

ปัจฉิมนิเทศในงานพระราชทานปริญญาบัตร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

          ขอเป็นกำลังใจให้มหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตทุกท่านประสบความสำเร็จในชีวิตและการทำงาน ขอให้เป็นพลังที่สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเพื่อความยั่งยืนของการพัฒนาต่อไป

ศ.ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์
อธิการบดี
เมษายน 2565