ผู้สำเร็จการศึกษา ครั้งที่ 43

เราอยู่ร่วมกัน เป็นสังคมที่ต้อง “พัฒนาอย่างยั่งยืน”

องค์ความรู้จะเปลี่ยนเป็นปัญญา ที่จะไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน เราควรทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด นำองค์ความรู้และปัญญาไปปฏิบัติ พัฒนาตนเอง ในการทำงานและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด สิ่งเหล่านั้นจะส่งต่อทำให้สังคมเราอยู่กันได้อย่าง “ยั่งยืน”

          มาร่วมเปิดมุมมอง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ไปด้วยกัน ผ่านบทสัมภาษณ์จากผู้สำเร็จการศึกษา หลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการพัฒนาอาชีพ คณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ “นายแพทย์ยอด ปิ่นโรจน์” นายแพทย์เชี่ยวชาญประสาทวิทยา โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

เราอยู่ร่วมกัน เป็นสังคมที่ต้อง “พัฒนาอย่างยั่งยืน”

          “เราต้องเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง เมื่อมีความพร้อมก็จะเกิดสติปัญญา ใช้สติปัญญาในการทำหน้าที่ของเราให้ดี และพร้อมที่จะช่วยเหลือคนในสังคมต่อไป” นายแพทย์ยอด ปิ่นโรจน์ ตัวแทนผู้สำเร็จการศึกษา คณะภาษาและการสื่อสาร สะท้อนมุมมองการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของการมีสุขภาพที่ดีและการสื่อสารสุขภาพ เพื่อที่จะได้มีความพร้อมก่อนช่วยเหลือผู้อื่น

          โดยมองว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เราต้องเตรียมพร้อมตัวเองก่อน ทั้งร่างกายและจิตใจ ให้เป็นคนที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง เมื่อเรามีความพร้อมก็จะเกิดสติปัญญา ใช้สติปัญญาทำหน้าที่ของเราให้ดี เมื่อเรามีหน้าที่การงานที่ดีแล้ว เราก็มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือคนที่อยู่ในสังคมต่อไปได้ เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนคือการที่เราจะต้องเติบโตก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง โดยใช้ความรู้ความสามารถที่มีทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อทำประโยชน์ต่อสังคมและให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างยืนยาว เพราะเราอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เราต้องพัฒนาอย่างยั่งยืน การเตรียมพร้อมให้เป็นคนที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง จึงเป็นสิ่งแรกที่ง่ายที่สุดในการเริ่มต้น

          ขณะที่เรียนต่อที่นิด้า ได้มีโอกาสทำงานวิจัยเกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม ในบริบทของการสนทนาของแพทย์และผู้ป่วย (Intercultural in case studies of small talk) หรือการพูดคุยแบบสับเพเหระ เราจะดูการใช้การพูดคุยแบบสับเพเหระในบริบทของแพทย์ที่สื่อสารกับคนไข้ที่ข้างเตียงผู้ป่วยว่าคุยอะไรกัน มีเนื้อหาเป็นอย่างไร แพทย์ผู้ป่วยใช้ Small Talk หรือการพูดคุยสับเพเหระมากน้อยแค่ไหน ซึ่งผลงานวิจัยได้นำประโยชน์ไปใช้ได้เป็นอย่างดี พบว่า ทั้งแพทย์และผู้ป่วยมีการใช้ Small Talk ที่แตกต่างกัน แพทย์จะใช้ Small Talk มากกว่าผู้ป่วย โดยใช้ในการเบี่ยงเบนความสนใจ และร่วมกันสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่น ให้ความไว้วางใจซึ่งจะนำไปสู่การที่ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ แพทย์ก็จะทำงานง่ายขึ้น ในการที่จะวินิจฉัยดูแลผู้ป่วย เมื่อมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ป่วย ผู้ป่วยก็จะทำตามคำแนะนำแพทย์ได้ง่ายขึ้น 

          ในปัจจุบันทั่วโลกกำลังก้าวสู่สังคมของผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันการแพทย์ของประเทศไทยเองก็มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก แพทย์มีโอกาสที่จะได้รองรับการรักษาผู้ป่วยจากหลากหลายชาติมากขึ้น การมีความเข้าใจในภาษาของชาวต่างชาติอย่างลึกซึ้ง สามารถทำให้เราสื่อสารกับพวกเขาได้ง่ายขึ้น นำไปสู่การดูแลรักษาที่ดี ผู้ป่วยชาวต่างชาติเกิดความประทับใจ ก็จะพากันเข้ามารักษา ทำให้สามารถสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศและชุมชนโดยรอบพื้นที่ได้ ก่อให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน

เรียนต่อกับนิด้าเป็นอย่างไร

          ส่วนตัวมองนิด้าเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง สิ่งที่ยิ่งใหญ่ก็คือ คุณค่าของชีวิต ที่นิด้าสามารถผลิตบัณฑิต ให้ปัญญา ให้สิ่งที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือนิด้าให้องค์ความรู้ทางภาษาอังกฤษ ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยที่ต้องคุยสื่อสารกันเป็นภาษาอังกฤษ ในทางการแพทย์เราไม่ใช่แค่ต้องฟังเขาออกเท่านั้น แต่เราต้องฟังจากข้างในส่วนลึก ถ้าเข้าใจภาษาอังกฤษได้ดี เราจะไม่ได้รู้แค่ความหมาย แต่เราจะรู้ถึงจิตใจของเขา ความเข้าอกเข้าใจเหล่านี้จะนำไปสู่การดูแลรักษา และสร้างความสัมพันธ์อันดีและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยได้ 

“เพราะนิด้าคือที่บ่มเพาะปัญญาให้บัณฑิต และปัญญานี้ก็จะนำไปสู่การพัฒนาตนเอง สังคม และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้อย่างยั่งยืน”