photo pack 01 11zon 2

“นิด้า” สถาบันที่มากกว่า “สถาบันการศึกษา” นิด้า สถาบันการศึกษาระดับดีเยี่ยม


 

“นิด้า” สถาบันที่มากกว่า “สถาบันการศึกษา”  นิด้า สถาบันการศึกษาระดับดีเยี่ยม

          สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวที่ก่อตั้งขึ้นจากพระราชดำริของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 “นิด้า” จึงได้นำเอา “สีเหลือง” อันเป็นสีประจำพระองค์ มาเป็น “สีประจำสถาบัน” ประกอบกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีดอกไม้ประจำสถาบัน คือ “ดอกราชพฤกษ์” ตึกและอาคารต่าง ๆ ภายในสถาบันจึงถูกออกแบบให้เป็น “สีเหลือง” ซึ่งเป็นสีประจำสถาบัน

“นิด้า” สถาบันที่มากกว่า “สถาบันการศึกษา” นิด้า สถาบันการศึกษาระดับดีเยี่ยม

 

          ก่อนที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จะชื่อ “นิด้า” เคยมีชื่อเรียกว่า “จิด้า” Graduate Institute of Development Administration (GIDA) ต่อมา รัฐบาลในขณะนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาจัดตั้ง “สถาบันสอนวิชาการบริหารเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ” โดยได้นำโครงการ GIDA ของ ดร.สเตซี เมย์ มาศึกษา และได้เสนอมติต่อคณะรัฐมนตรีว่าควรจะตั้ง “สถาบันพัฒนาการบริหาร (Institute of Development Administration)” โดยดำเนินการสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก การศึกษาฝึกอบรม และการวิจัย ในที่สุด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ “National Institute of Development Administration (NIDA)” ทำให้ชื่อของสถาบันไม่มีคำว่า “มหาวิทยาลัย (University)” จึงทำให้บางคนไม่รู้ว่า “นิด้า” เป็นสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเมื่อไม่ได้เปิดสอนในระดับปริญญาตรี ทำให้นิด้าไม่สามารถเข้าไปถูกจัดอันดับมหาวิทยาลัยของโลก (University World Ranking) เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ

“นิด้า” สถาบันที่มากกว่า “สถาบันการศึกษา” นิด้า สถาบันการศึกษาระดับดีเยี่ยม

 

          สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษา “ในกำกับของรัฐ” พึ่งพาและอาศัยงบประมาณจากภาครัฐเป็นสำคัญ ไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ไม่ได้พึ่งพาเงินจากค่าเทอมนักศึกษาอย่างที่บางคนอาจจะเข้าใจผิด ดังนั้น อาคารสถานที่ที่สะอาดและสวยงามนี้ จึงมาจากงบประมาณแผ่นดิน

          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “นิด้า” ยังคงเป็นสถาบันการศึกษา ซึ่งมีสัดส่วนของอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการสูงที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งหลักสูตรการศึกษาก็ได้การรับรองมาตรฐานระดับสากล ได้แก่  AACSB, TedQual และ AUN-QA โดยมีหลักสูตรที่ได้รับการรับรองแล้ว 23 หลักสูตร จาก 11 คณะและ 1 วิทยาลัย ของสถาบัน

           “นิด้า” มีศูนย์ศึกษานอกที่ตั้ง (ที่อยู่นอกเขต กทม.) ซึ่งเป็นศูนย์ของคณะใดคณะหนึ่งเป็นผู้ดูแล โดยคณะที่มีการเปิดสอนในศูนย์ศึกษานอกที่ตั้ง ประกอบด้วย คณะรัฐประศาสนศาสตร์  คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และคณะการจัดการการท่องเที่ยว

          “นิด้าโพล” เป็นโพลสำรวจแรกของประเทศไทย และนับว่าเป็นอีก 1 หน่วยงานของสถาบัน ซึ่งช่วยให้บุคคลภายนอกรู้จักชื่อ “นิด้า” จากโพลต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้น โดยการสำรวจของโพลถูกต้องตามหลักวิชาการจริง บางคนไม่รู้ว่า นอกจากโพลสาธารณะที่ทำการสำรวจในเรื่องต่าง ๆ แล้ว นิด้าโพลยังมี “ฝ่ายธุรกิจโพล” ที่ให้บริการวิชาการด้านวิจัยเชิงสำรวจให้กับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน องค์การมหาชน องค์กรระหว่างประเทศ คณาจารย์ และหน่วยงานภายในสถาบัน การดำเนินงานด้านธุรกิจโพล ในช่วงแรกดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การให้บริการการวิจัย ทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ โดยสัมภาษณ์จากตัวอย่างหลักของนิด้าโพล ต่อมาขอบเขตการให้บริการวิชาการ ด้านวิจัยเชิงสำรวจของธุรกิจโพลขยายตัวมากขึ้น นิด้าโพล จึงเพิ่มการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการลงพื้นที่ภาคสนาม การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) การสนทนากลุ่ม (Focus Group) และการเก็บข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ด้วยโปรแกรมสำรวจออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด

 

“นิด้า” สถาบันที่มากกว่า “สถาบันการศึกษา” นิด้า สถาบันการศึกษาระดับดีเยี่ยม

          นอกจากการให้บริการด้านโพลแล้ว นิด้ายังมีการให้บริการด้านอื่น ๆ ทั้งด้านการฝึกอบรม โดย สำนักสิริพัฒนา เปิดให้บริการฝึกอบรมแก่บุคคลทั่วไป ฝึกอบรมเฉพาะหน่วยงาน ฝึกอบรมเฉพาะทาง ฝึกอบรมนานาชาติ การบริการวิชาการแก่สังคม โดยดำเนินการฝึกอบรมในด้านพัฒนบริหารศาสตร์ และด้านองค์ความรู้อื่น ๆ ในระดับบัณฑิตศึกษา

          ในด้านการให้บริการวิชาการ ศูนย์บริการวิชาการ มีความสามารถในการให้บริการวิชาการแก่องค์กรต่าง ๆ ผ่านความเชี่ยวชาญ 9 ด้าน คือ (1) การบริหารธุรกิจ การจัดการทั่วไปทางธุรกิจ (2) การตลาด (3) เศรษฐศาสตร์ (4) คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ (5) การเงิน การบัญชี (6) อุตสาหกรรม (7) สถิติ (8) การเมือง/การปกครอง นโยบายสาธารณะ และ (9) กฎหมาย ซึ่งการให้บริการวิชาการจะครอบคลุมงาน 3 ประเภท คือ (1) บริการที่ปรึกษา จากอาจารย์ หรือนักวิชาการของสถาบัน ที่มีความสามารถเฉพาะและมีประสบการณ์สูง ทั้งด้านทฤษฎีและด้านปฏิบัติ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแก่องค์กร (2) บริการด้านวิจัย การจัดทำงานวิจัย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ผลกระทบ แนวโน้ม และการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม ธุรกิจ การเมือง อื่น ๆ และ (3) บริการวิชาการในลักษณะอื่น ๆ ที่แตกต่างจากบริการที่ปรึกษา และบริการวิจัย เช่น การเป็นวิทยากร การแปลเอกสาร การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ และการจัดรายการโทรทัศน์

 

“นิด้า” สถาบันที่มากกว่า “สถาบันการศึกษา” นิด้า สถาบันการศึกษาระดับดีเยี่ยม

          บริการสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง (Sustainable Development and Sufficiency Economy Studies Center) ศูนย์ที่มีความโดดเด่นด้านเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล โดยมีงานวิจัยและพัฒนา รวมทั้งความร่วมมือทางวิชาการในระดับสากล เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารการพัฒนา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังให้บริการวิชาการแก่สังคมเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 6 ทศวรรษ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ “นิด้า” ได้ผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอกออกสู่สังคมมากกว่า 80,000 คน และมีคะแนนความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิตที่มีต่อทักษะของบัณฑิตในภาพรวม มากถึงร้อยละ 84 (ค่าเฉลี่ย 5 ปี จากปี 2558 – 2562) และยืนยันได้ว่าเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ จากคะแนนการได้งานทำของบัณฑิตที่มีมากถึงร้อยละ 91.5 การทำงานตรงสาขาที่เรียน ร้อยละ 90 และมีคะแนนการนำความรู้ไปใช้งานจริงสูงถึงร้อยละ 89.7 นั่นเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า “หลักสูตร” ของนิด้า ไม่ได้เป็นเพียงทฤษฎีที่แขวนไว้บนหิ้ง หรือปริญญาบัตรไม่ได้เป็นเพียงกระดาษใบหนึ่งในวันสำเร็จการศึกษา หากแต่ล้วนเป็นคุณภาพที่สัมผัสได้จากการสั่งสมความรู้และประสบการณ์ตลอดการศึกษาในรั้วของ “นิด้า

 

“นิด้า” สถาบันที่มากกว่า “สถาบันการศึกษา” นิด้า สถาบันการศึกษาระดับดีเยี่ยม

          ที่มากกว่าความภาคภูมิใจของชาวนิด้า ไม่ใช่เพียงแค่บัณฑิตประสบความสำเร็จในการทำงาน หรือการนำเอาความรู้จากนิด้าไปใช้ในการพัฒนาองค์กร สังคม ชุมชน และประเทศชาติ แต่ยังคงมีการให้บริการวิชาการ รวมถึงโครงการ กิจกรรมต่าง ๆ ที่ชาวนิด้าได้ทำเพื่อสังคม และประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง และจะยั่งยืนต่อไปสู่อนาคต

 

#นิด้า #เรียนโท #เรียนต่อโท #ต่อโท #เรียนเอก #เรียนต่อเอก #ต่อเอก

 

ข้อมูลบางส่วนจาก ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์
เรียบเรียงโดย
ส่วนสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์