โดย รศ.ดร.อนุกัลยณ์ จีระลักษณกุล
อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
กลุ่มวิสาหกิจชุมชน “เทียนต่อเทียน”
ชุมชนพิบูลทรัพย์ 17 หรือชุมชนเทียนต่อเทียน เป็นชุมชนในเขตหนองจอก (ห่างไปทางด้านตะวันออก ประมาณ 25 กิโลเมตร จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) บนถนนเชื่อมสัมพันธ์ สมาชิกของชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านพิบูลทรัพย์ 17 และบริเวณใกล้เคียงสมาชิกของชุมชนส่วนหนึ่งได้เข้าไปรับการฝึกอบรมการนวดแผนไทยจากสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียนเขตหนองจอกเพื่อให้บริการนวดแผนไทยในนาม “กลุ่มอาชีพนวดหนองจอก” เพื่อเป็นการหารายได้เสริม แต่เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2563 – 2565 ทำให้การหารายได้เสริมจาการให้บริการนวดแผนไทยต้องหยุดดำเนินการ ส่งผลให้สมาชิกในกลุ่มประสบปัญหาขาดรายได้เสริม สมาชิกในกลุ่มอาชีพนวดแผนไทยหนองจอกส่วนหนึ่งจึงร่วมกันจัดตั้งกลุ่มแปรรูปสมุนไพรเทียนต่อเทียนขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2564 และขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเทียนต่อเทียนในเดือนมีนาคม 2565
ชื่อของกลุ่มที่ใช้คำว่า “เทียนต่อเทียน” นั้นก็เพื่อให้สื่อความหมายถึงการส่งมอบแสงสว่างให้แก่กันและกัน เนื่องจากสมาชิกของกลุ่มมีหน้าที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขของชุมชนและต้องการที่จะส่งเสริมงานสุขภาพในชุมชนโดยการพึ่งพาการใช้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร สมาชิกส่วนใหญ่ที่เข้ามาร่วมดำเนินการวิสาหกิจชุมชนนี้จะเป็นเกษตรกร ผู้ว่างงาน และผู้สูงอายุที่เกษียณแล้ว สมาชิกทุกคนต้องการมีรายได้หรืออาชีพเสริมเพื่อใช้ในการดำรงชีพ ประธานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน คือ นายปริญญา มะสกุล และมีเลขานุการเพื่อประสานงานชุมชน คือ นายวิโรจน์ นิ่มเรือง ผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มเทียนต่อเทียนได้เริ่มพัฒนาขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์แรก คือ น้ำมันเหลือง โดยใช้สูตรของนายใจเพชร กล้าจน หรือ หมอเขียว โดยทางกลุ่มได้ทำการทดลองผลิต โดยมีการแจกจ่ายและจำหน่ายให้สมาชิกชุมชนและผู้ที่เคยใช้บริการนวดแผนไทยของกลุ่มอาชีพนวดหนองจอก
“น้ำมันเหลือง” ไม่ได้มาตรฐาน ต้อง “ปรับ” เพื่อ “ขยาย” ตลาด
ผลตอบกลับจากสมาชิกชุมชนและผู้ที่เคยใช้บริการนวดแผนไทยให้ความเห็นว่าผลิตภัณฑ์ของชุมชนยังไม่ได้คุณภาพที่เทียบเคียงกับผลิตภัณฑ์ที่มีขายอยู่ในตลาด ผลิตภัณฑ์น้ำมันเหลืองของกลุ่มเทียนต่อเทียนมีสีเข้ม มีกลิ่นหืน มีตะกอน และมีความเหนียวหรือหนืดกว่าปกติ และภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ดูไม่น่าใช้ ทำให้การจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเหลืองยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายและมีผลิตภัณฑ์เหลือคงคลังเป็นจำนวนมาก (ดูรูปเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์น้ำมันเหลืองดั้งเดิมของกลุ่มเทียนต่อเทียนเทียบเคียงกับน้ำมันเหลืองที่ขายในตลาด) นอกจากปัญหาของตัวผลิตภัณฑ์แล้ว กลุ่มเทียนต่อเทียนยังมีปัญหาในด้านของกระบวนการผลิตที่ไม่มีการดำเนินการตามสูตรการผลิตที่แน่นอน เช่น ไม่มีการชั่งตวงสมุนไพรตามสูตรแต่จะใช้วิธีในการประมาณการส่วนผสม หรือ การควบคุมอุณภูมิของการต้มน้ำมันไม่ได้ตามสูตร ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ส่งผลให้คุณสมบัติหรือผลลัพธ์ในด้านการรักษาของน้ำมันเหลืองอาจจะไม่เป็นไปตามหลักของแพทย์แผนไทย สูตรของการผลิตที่ไม่แน่นอนยังส่งผลต่อประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตยังทำให้ได้ผลผลิตในระดับต่ำ คือ ได้ผลผลิตน้ำมันเหลืองในปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนของการผลิตต่อหน่วยมีค่าสูงขึ้น
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เข้าไปศึกษาการดำเนินการของกลุ่มวิสาหกิจเทียนต่อเทียนผ่านโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นเมื่อเดือนมกราคม 2565 และได้ดำเนินการร่วมกับผู้นำและสมาชิกชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นโดยนำองค์ความรู้ด้านบริหารธุรกิจและความยั่งยืนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของกลุ่มเทียนต่อเทียน การดำเนินการเริ่มต้นจากการค้นคว้าสูตรและกระบวนการผลิตที่เป็นมาตรฐานของการผลิตน้ำมันเหลือง (โดยได้ปรึกษากับแพทย์แผนไทย) จากนั้นจึงได้จัดทำคู่มือในการผลิตน้ำมันเหลือง (ที่มีการระบุการปริมาณน้ำหนักของวัตถุดิบในการผลิต วิธีการชั่งตวงวัดสมุนไพรที่ถูกต้อง) เพื่อนำมาสอนและสาธิตการผลิตน้ำมันเหลืองตามสูตรมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้กับกลุ่มเทียนต่อเทียน การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลสำหรับผู้ผลิตสมุนไพร (โดยนักศึกษาของนิด้าที่มีประสบการณ์ด้านพยาบาลชุมชน) รวมทั้งการสาธิตวิธีการดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้เป็นไปตามหลักสุขอนามัยตามกฎกระทรวงสาธารณสุข ในการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานของชุมชน
นิด้าได้ให้คำแนะนำในเรื่องการจัดการและการตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบเพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากการเก็บสินค้าคงคลังของวัตถุดิบที่ไม่ถูกต้อง อาทิ จากเดิมที่มีการจัดเก็บวัตถุดิบสมุนไพรใส่ถุงพลาสติกรวมกัน นิด้าได้แนะนำให้ปรับเป็นการจัดเก็บในกล่องพลาสติกเพื่อลดการหักร่อนของสมุนไพร และควรจะมีการระบุเวลาที่เก็บสมุนไพรเพื่อจะได้ทราบถึงอายุของสมุนไพรที่จัดเก็บไว้ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้กระบวนการผลิตของชุมชนมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีสุขอนามัยที่ถูกต้อง มีสี กลิ่น และคุณสมบัติในการบำบัดที่คงที่สม่ำเสมอจากการผลิตแต่ละรอบ รวมทั้งปริมาณของผลผลิตก็เพิ่มมากขึ้น และสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้อย่างสม่ำเสมอ
นิด้าได้ช่วยในการศึกษาและรวบรวมข้อมูลทางด้านตลาดที่เกี่ยวกับน้ำมันเหลืองและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องและนำเสนอให้กับกลุ่มเทียนต่อเทียนเพื่อร่วมกันวิเคราะห์และกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของผลิตภัณฑ์น้ำมันเหลือง มีการร่วมกันในการออกแบบและจัดหาบรรจุภัณฑ์ ตราสินค้า (Logo) และฉลากสินค้า เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์น้ำมันเหลืองดูน่าใช้และเทียบเคียงได้กับผลิตภัณฑ์ที่มีขายอยู่ในตลาด การดำเนินการทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการร่วมกันกับชุมชนเพื่อให้ชุมชนได้ร่วมเรียนรู้ไปด้วยเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองในอนาคต ประเด็นที่ต้องการการตัดสินใจ ทางนิด้าจะอธิบายให้ชุมชนเข้าใจถึงข้อดีข้อเสียและให้ชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจในการดำเนินการนอกจากนั้นแล้ว นิด้ายังได้นำเสนอทางเลือกในการนำวัตถุดิบและสมุนไพรที่ชุมชนมีอยู่แล้วมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นเพิ่มเติมเพื่อสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เช่น สบู่สมุนไพร พิมเสนน้ำ เป็นต้น จากการทำงานร่วมกันดังที่กล่าวมา ทำให้คุณภาพ สุขอนามัย และภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์น้ำมันเหลืองได้รับการยอมรับจากผู้ใช้มากขึ้น โดยสามารถเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมได้จากยอดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกำไรที่เพิ่มสูงขึ้นจากทั้งยอดขายที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนที่ลดลงจากการวางแผนการผลิตสินค้า การควบคุมคุณภาพ และการผลิตที่มีประสิทธิภาพที่มากขึ้น ที่สำคัญ คือ ในระยะยาวชุมชนก็มีความเข้าใจในการดำเนินวิสาหกิจชุมชนให้เป็นระบบและมองเห็นโอกาสอื่นที่อาจจะต่อยอดไปได้ในอนาคต
ปัจจัยความสำเร็จของการดำเนินการของกลุ่มเทียนต่อเทียนประกอบด้วยสามส่วน ส่วนแรก คือ การนำองค์ความรู้ทางวิชาการของนิด้าโดยเฉพาะในด้านการบริหารธุรกิจไปประยุกต์ใช้เป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพราะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการแข่งขันในทางการตลาดจำเป็นต้องมีกรอบแนวคิดในการกำหนดเป้าหมาย วิธีการ และแนวทางในการพัฒนาเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ให้สามารถเทียบเคียงกับผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาดได้
ส่วนที่สอง คือ การทำความเข้าใจถึงความต้องการและปัญหาที่ชุมชนเผชิญอยู่อย่างรอบด้าน และการสร้างความเชื่อใจให้กับชุมชนเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังในการพัฒนา การสร้างความเชื่อใจนั้นจำเป็นจะต้องมีการถ่ายทอดและให้ข้อมูลเชิงวิชาการที่ครบถ้วน รอบด้าน และเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย วิเคราะห์ และตัดสินใจในการดำเนินการร่วมกัน ส่วนสุดท้าย คือ ความพร้อม ความมุ่งมั่น และความใส่ใจในการทำงานและติดตามงานของทั้งทีมงานของนิด้าและของชุมชน ชุมชนต้องมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ รับฟัง จริงจังในการดำเนินการ และความสามัคคีของชุมชน ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้เป็นการส่งเสริมให้สมาชิกของชุมชุนที่ต้องการรายได้เสริมโดยเฉพาะผู้สูงวัยและผู้ที่เกษียณอายุแล้วแต่ยังมีสุขภาพที่แข็งแรงได้มีโอกาสในการเข้าถึงการทำงานตามความสมัครใจและมีรายได้เสริมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพื่อให้สามารถดูแลตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงครอบครัว ซึ่งเป็นผลสำเร็จที่จะช่วยตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจให้กับประชากรในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับประเทศไทย