
โดย ศาสตราจารย์ ดร.เมธี ครองแก้ว อาจารย์คุณวุฒิ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หมายเหตุ: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หากไม่มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นท่านอธิการบดีของนิด้า (ศ.ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์) ท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนานาชาติ (รศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี) และ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนานาชาติ (ผศ.ดร.อารี มโนสุทธิกิจ) จะออกเดินทางในวันอาทิตย์ที่ 30 เม.ย. 2566 ไปประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยจะเข้าประเทศออสเตรเลียที่นครซิดนีย์ จากนั้นก็จะเดินทางต่อไปยังกรุงแคนเบอร์ร่าและนครเมลเบิร์น จากนั้นก็จะบินต่อไปยังกรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ และจะกลับประเทศไทยในวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค. 2566
วัตถุประสงค์หลักของการเดินทางครั้งนี้คือการไปเจรจาและลงนามในความตกลงร่วมกันในความร่วมมือทางวิชาการ (MEMORANDUM OF UNDERSTANDING ON ACADEMIC COOPERATION) ระหว่างนิด้ากับมหาวิทยาลัย 3 แห่งในประเทศออสเตรเลีย คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (AUSTRALIAN NATIONAL UNIVERSITY, ANU) มหาวิทยาลัยโมแนช (MONASH UNIVERSITY, MU) และมหาวิทยาลัยแห่งนครเมลเบิร์น (UNIVERSITY OF MELBOURNE, UM) และมหาวิทยาลัยอีก 1 แห่งในประเทศนิวซีแลนด์ คือ มหาวิทยาลัยวิคตอเลียแห่งกรุงเวลลิงตัน (VICTORIA UNIVERSITY OF WELLINGTON,VUW)
สำหรับผู้อ่านทั่วไปที่ไม่คุ้นเคยกับระบบมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ อาจจะมองว่านี่เป็นปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ตามปกติที่ผู้บริหารระดับสูงของแต่ละมหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเพื่อความก้าวหน้าของบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัยของตนแต่สำหรับผู้ที่รู้จักหรือคุ้นเคยกับชื่อเสียงและผลงานของมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แล้วน่าจะทึ่งและตื่นเต้นกับความสำเร็จในการติดต่อกับมหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่งในคราวเดียวกันเป็นอย่างยิ่ง เพราะมหาวิทยาลัยเหล่านี้ไม่ใช่มหาวิทยาลัยธรรมดาที่จะพบปะเจรจาทำข้อตกลงความร่วมมือในทางวิชาการกับใครได้ง่ายๆ สำหรับมหาวิทยาลัย 3 แห่งในออสเตรเลีย คือ ANU, MU, และUM คือมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด 3 อันดับแรกของออสเตรลียตามการจัดอันดับของหน่วยงานต่างๆ อาทิ QUACQUARELLI SYMONDS (QS) WORLD UNIVERSITY RANKINGS AND TIMES HIGHER EDUCATION UNIVERSITY RANKINGS, เป็นต้น สลับกันไปมา ส่วน VUW นั้นก็เป็นหนึ่งในสองมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในนิวซีแลนด์ คู่กับ UNIVERSITY OF AUCKLAND
ก่อนที่ผู้เขียนจะเล่าให้ฟังว่าการขยายความสัมพันธ์ครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรเราลองมาทำความรู้จักกับมหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่งนี้อย่างคร่าวๆก่อน เพื่อให้ซาบซึ้งถึงความสำคัญของกิจกรรมของท่านอธิการบดีของนิด้าและคณะในครั้งนี้มหาวิทยาลัยแห่งแรกที่คณะจากนิด้าจะไปพบในวันที่ 2 พฤษภาคม คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งเดียวในระดับสหพันธรัฐ (FEDERAL UNIVERSITY) ในขณะที่มหาวิทยาลัยของรัฐอื่นๆ เป็นมหาวิทยาลัยของแต่ละรัฐ (STATE UNIVERSITIES) ANU ได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1953 โดยเป็นทั้งมหาวิทยาลัยที่สอนในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกและเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยเป็นหลักด้วย สถานที่ตั้งของ ANU คือพื้นที่ที่อยู่ติดกับทะเลสาบ BURLEY GRIFFIN และใจกลางเมืองของกรุงแคนเบอร์ร่า เมืองหลวงของออสเตรเลีย มีบริเวณกว้างขวางและสามารถขยายพื้นที่ได้เรื่อยๆ ตามความต้องการของมหาวิทยาลัย จนในปัจจุบัน ANU เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความหลากหลายในสาขาวิชาการที่ทำการสอนและวิจัยมากที่สุดแห่งหนึ่ง คือทั้งสาขาทางวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์เช่นวิศวกรรมและการแพทย์สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และ ภาษา รวมทั้งสถาบันวิจัยในสาขาต่างๆมากมายก่ายกอง จนจำไม่ได้หมด อธิการบดีของ ANU คนปัจจุบัน คือ ศาสตราจารย์ BRYAN SCHMIDT ซึ่งเป็นอาจารย์ด้าน ASTRO PHYSICS ของมหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขา PHYSICS เมื่อปี 2011 และ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ชาวนิด้าหลายคนอาจไม่ทราบว่าท่านอาจารย์ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตคณบดีคณะ พ.ศ. และอดีตนายกสภาสถาบันนิด้าก็เคยเป็นศิษย์เก่า(ระดับปริญญาเอก) ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้
ความที่ ANU เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่มาก นิด้าจึงต้องเลือกว่าจะมีความสัมพันธ์ในทางวิชาการกับหน่วยงานใดที่มีกิจกรรมและวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกัน ซึ่งในที่สุดก็เลือกได้ CRAWFORD SCHOOL OF PUBLIC POLICY ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีทั้งการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา (เหมือนกับนิด้า) และการวิจัยในสาขาสังคมศาสตร์การพัฒนา การปกครอง การบริหารธุรกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับมหาวิทยาลัยต่อไปที่นิด้าจะไปพบปะเจรจาด้วยในวันที่ 3 พฤษภาคม คือมหาวิทยาลัยโมแนชที่นครเมลเบิร์น มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1958 โดยใช้ชื่อของ SIR JOHN MONASH อดีตผู้นำทางทหารของออสเตรเลียและแม่ทัพของกองทัพออสเตรเลียในสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นชื่อของมหาวิทยาลัยแทนที่จะใช้ชื่อของสถานที่ตั้งเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่สองของรัฐวิคตอเรียต่อจากมหาวิทยาลัยแห่งนครเมลเบิร์น ซึ่งตั้งมาก่อนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1853 แต่ถึงแม้จะตั้งมาได้ไม่นาน MU ก็สามารถบริหารจัดการมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี จนสามารถขยายกิจการได้อย่างมั่นคงและมีคุณภาพมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้มหาวิทยาลัยโมเนชเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียเมื่อนับจำนวนนักศึกษาทุกระดับทั้งในระดับวิทยาเขตต่างๆ ในประเทศออสเตรเลียและสาขาในต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยโมแนชในประเทศมาเลเซีย แอฟริกาใต้ และอินโดนีเซีย เป็นต้น สถาบันวิจัยทางด้านเซลล์ต้นกำเนิด (STEM CELL) ของ MU ถือได้ว่ามีชื่อเสียงระดับโลก และด้านความสัมพันธ์ทางการศึกษากับต่างประเทศก็ถือได้ว่าเข้มแข็งที่สุดกว่าทุกมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย
“อ ธิ ก า ร บ ดี ท่ า น ส น ใ จ แ ล ะ เ อ า จ ริ ง เ มื่ อ เ ป็ น เ ช่ น นั้ น ก ร ะ บ ว น ก า ร ติ ด ต่ อ ก็ เ กิ ด ขึ้ น อ ย่ า ง ข น า น ใ ห ญ่ จ น ค รึ่ ง ปี ต่ อ ม า ก็ บ ร ร ลุ ผ ล เ ป็ น ก า ร เ ดิ น ท า ง ใ น ค รั้ ง นี้ “
ส่วนมหาวิทยาลัยแห่งเมลเบิร์นซึ่งจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 3 ที่คณะของนิด้าจะไปพบปะเจรจาด้วยในวันที่ 4 พฤษภาคม นั้น จัดว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของรัฐวิคตอเรียโดยขณะนี้มีอายุถึง 170 ปี แต่ความเก่าไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความล้าสมัย ตรงกันข้าม UM กัน ANU จะผลัดกันชิงตำแหน่งมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของออสเตรเลียมาโดยตลอดในหลายสิบปีที่ผ่านมา อาจารย์หลายคนของ UM ก็ได้รางวัลโนเบลเหมือนกับอาจารย์ของ ANU เหมือนกัน
จากนั้น คณะของนิด้าก็จะบินข้ามทะเล TASMAN จากนครเมลเบิร์นไปยับกรุงเวลลิงตัน เมืองหลวงของประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อไปพบปะเจรจากับสำนักอธิการบดีของมหาวิทยาลัยวิคตอเรียแห่งกรุงเวลลิงตัน (VUW) ซึ่งตั้งขึ้นในระดับกว่าร้อยปีก่อนเหมือนกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1897 โดยเป็นส่วนหนึ่งของ UNIVERSITY OF NEW ZEALAND ต่อมาในปี ค.ศ. 1961 VICTORIA UNIVERSITY COLLEGE ก็ได้แยกตัวออกมาเป็น VUW เต็มตัว โดย UNIVERSITY OF NEW ZEALAND ได้ถูกยกเลิกไป VUW มีชื่อเสียงอย่างมากในทางสังคมศาสตร์และกฎหมาย และในทางวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ และมีบทบาทอย่างมากในช่วงทศวรรษ 1960 ในการเป็นมหาวิทยาลัยของนิวซีแลนด์ที่รับนักศึกษาที่ได้รับทุนโคลัมโบจากประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทยด้วยให้เข้าไปศึกษาในวิชาต่างๆมากที่สุด ซึ่งรวมถึงตัวผู้เขียนเองด้วยซึ่งได้รับทุนได้เข้าไปเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เมื่อปี ค.ศ. 1963 หรือเมื่อ 60 ปีที่แล้ว
เมื่อถึงตอนนี้คงจะพูดได้แล้วว่า ความเป็นมาของการเดินทางของคณะผู้บริหารนิด้าชุดนี้คืออย่างไร? ประวัติความผูกพันของผู้เขียนกับ VUW ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนมีความใกล้ชิดกับประเทศนิวซีแลนด์และต่อมาคือประเทศออสเตรเลียเป็นอย่างมากผู้เขียนได้เคยลาราชการมาทำวิจัยอย่างเป็นทางการกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียเป็นเวลาถึง 4 ปีระหว่างปี ค.ศ. 1990 ถึง 1994 และในหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้มีเพื่อนฝูงและคนที่รู้จักเป็นจำนวนมากในมหาวิทยาลัยในสองประเทศนี้ ผู้เขียนเองจะหาโอกาสเดินทางไปที่ ANU เกือบทุกปีในฐานะนักวิชาการรับเชิญ (VISITING SCHOLAR) เพื่อค้นคว้าวิจัยในเรื่องต่างๆโดยได้อาศัยบริการทางด้านวิชาการระดับโลกของ ANU จนกระทั่งเมื่อปลายปี 2565 ก็ได้กลับเมืองไทยหลังจาก “ติดเกาะ” อยู่ที่ออสเตรเลียกว่า 2 ปี เนื่องจากการปิดประเทศเพราะโควิด 19 ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันที่นิด้าได้อธิการบดีคนใหม่ คือ ท่านอาจารย์ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ และจากการที่ท่านเดินสายไปพูดคุยกับคณาจารย์คณะต่างๆ ในที่สุดก็ถึงคิวคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ เมื่อต้นเดือน ก.ย. 2565 ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาส “ขายไอเดีย” ให้ท่านอธิการบดีว่า นิด้าน่าจะเปิดการติดต่อกับมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพราะสองประเทศนี้มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศในอนาคตสูงมาก อีกทั้งนิด้าเองก็มีความพร้อมในเรื่องการติดต่อกับต่างประเทศอยู่แล้ว ขอให้ผู้บริหารมีความสนใจที่จะเริ่มต้นเท่านั้นเอง
ผู้เขียนขอแสดงความชื่นชมกับวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและความกล้าหาญในการตัดสินใจของท่านอธิการบดีที่จะออกตัวในนามของนิด้าอย่างแข็งขันในครั้งนี้ประโยชน์ที่เราจะได้รับจากมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทั้ง 4 แห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคตอนใต้ในครั้งนี้ น่าจะมีอย่างมหาศาลทั้งในรูปของการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา ความร่วมมือในการวิจัยและฝึกอบรม และการติดต่อในทางวิชาการในรูปแบบต่างๆเช่นการจัดการประชุมนานาชาติร่วมกัน และอื่นๆคุณประโยชน์อีกอย่างหนึ่งซึ่งอาจเกิดขึ้นได้โดยเราไม่ได้คาดคิดก็คือการที่เราได้รู้จักและเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษาในระดับภูมิภาคและในระดับโลกเช่นนี้จะทำให้เราต้องพัฒนาและปรับตัวให้ทันสมัยและทัดเทียมกับโอกาสและเกียรติที่เราได้รับจากความสัมพันธ์เช่นว่านี้
