ที่มา : https://thaipublica.org/2023/04/nida-sustainable-move28
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กุสุมาวลี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนานาชาติ และอาจารย์ประจำ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ในขณะที่มีมายาคติในโลกสารสนเทศ สื่อสังคมที่แชร์กันไปทั่วว่า ในโลกแห่งอนาคตยุคดิจิทัล มนุษย์จะถูกพลิกผันแทนที่ (Disrupt) ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น หุ่นยนต์ จักรวาลนฤมิตร อุปกรณ์ดิจิทัล ฯลฯ กำลังเข้ามาแย่งชิงงานของชาวโลกไปทำ
รายงานชื่อดังคือ Future of Jobs ที่จัดทำมาอย่างต่อเนื่องโดย World Economic Forum (WEF) พยายามชี้ให้เห็นว่าในโลกยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอย่างรวดเร็วของระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์จะถูกนำมาใช้มากขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงกระบวนการของธุรกิจบริการ เช่น การเงินการธนาคาร การขนส่งและการดูแลสุขภาพรักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งมีผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการจ้างงาน สภาพแวดล้อมของการทำงาน วิธีการทำงานที่ยืดหยุ่นหลากหลาย และงานและอาชีพที่มีอยู่เดิมจำนวนหนึ่งจะหายไป ประมาณการว่า กว่าร้อยละ 60 ของพนักงานบริษัทและหน่วยงานรัฐของไทย เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีความเสี่ยงที่จะไม่มีงานทำ
ในขณะที่มีงานใหม่และความต้องการทักษะใหม่ (New jobs and new skills) หลายอย่างกำลังจะเกิดขึ้น ในขณะที่งานแบบเก่าที่ใช้ทักษะต่ำกำลังจะหายไปและถูกทดแทน ด้วยงานและการทำงานแบบใหม่ ควบคู่ไปกับความรู้และทักษะการทำงานในโลกของการทำงานแบบใหม่ จะเกิดปรากฏการณ์การปรับเปลี่ยนและยกระดับ (Re-skill and up-skill for future skills) เพื่อรองรับทักษะใหม่ในอนาคต
อะไรคือ “งานและทักษะใหม่”?
รายงานล่าสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เรื่อง World Employment and Social Outlook ชี้ให้เห็นว่า ในยุคแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน หากประเทศต่างๆในโลกนี้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว” (Green Economy) และจะก่อให้เกิดการสร้างงานใหม่กว่า 24 ล้านงานใหม่ในทศวรรษ 2030
งานใหม่เหล่านี้จะถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยการนำเอาแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนไปใช้ในภาคส่วนด้านพลังงาน (Energy sector) เช่นการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในบรรดาอาคารที่มีอยู่ในปัจจุบันและในอนาคต
ในการขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนี้ มีทั้งข่าวร้ายและข่าวดี ข่าวร้าย คือ คาดกันว่าจะมีงานจำนวนหนึ่งสูญหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมด้านการสกัดและกลั่นปิโตรเลียม การทำเหมืองถ่านหิน และการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน ประมาณการกันว่าจะมีงานจำนวนกว่า 6 ล้านตำแหน่งที่จะหายไป แต่ข่าวดี คือ หากมีการออกแบบและกำหนดนโยบายที่ดี กล่าวคือหากมีการออกแบบนโยบายที่จะเสริมสร้างระบบการปกป้องคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการทางสังคมที่เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุนระบบเศรษฐกิจสีเขียวที่เหมาะสมทั้งด้านการเงินและช่วยสนับสนุนไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็จะนำไปสู่การสร้างงานที่มีนัยสำคัญพร้อมไปกับการกระจายรายได้ที่มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การมีนโยบายที่สร้างสรรค์ย่อมมิใช่เป็นเพียงคำตอบเดียวสำหรับการเปลี่ยนผ่านอย่างเหมาะสม เนื่องจาก ยังจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคธุรกิจเอกชนที่จะต้องมีพันธกิจที่เข้มแข็งในการร่วมสนับสนุนให้บรรลุการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ILO เชื่อว่า เศรษฐกิจสีเขียวจะช่วยทำให้ผู้คนจำนวนหลายล้านสามารถเอาชนะก้าวข้ามความยากจนและส่งมอบชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้แก่คนทั้งในรุ่นปัจจุบันและอนาคต งานจำนวน 1.2 พันล้านงานทั่วโลกที่มีอยู่ในปัจจุบันจะมีความมั่นคงปลอดภัยได้ ต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่มีความมั่นคงและความรุ่มรวยของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นงานในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการเกษตร การประมง ป่าไม้ รวมถึง การท่องเที่ยวและกระทั่งอุตสาหกรรมยา ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาอาศัยระบบนิเวศน์และกระบวนการทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การคาดการที่เกี่ยวกับ สภาพภูมิอากาศที่ปลี่ยนแปลง (Climate change) ภาวะโลกร้อน (Global warming) อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น และความร่อยหรอ เสื่อมสลาย ถูกบุกรุกทำลายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ล้วนแล้วแต่ส่งผลเสียต่อความมั่นคงของงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
จริงๆแล้ว ILO ทำนายว่า งานประเภทจ้างเต็มเวลา (Full-time jobs) จำนวนกว่า 72 ล้านงานจะสูญหายไปในทศวรรษ 2030 อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน (Heat stress) และการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิจะนำไปสู่การลดชั่วโมงการทำงานลง โดยเฉพาะในภาคการเกษตร
อีกภาคส่วนหนึ่งที่จะเป็นโอกาสในการสร้างงานในยุคเศรษฐกิจยั่งยืน คือ ภาคพลังงานทดแทน (Renewable energy) ในช่วงปี 2020-2021 พบว่า การจ้างงานในภาคพลังงานทดแทน มีเพิ่มมากขึ้นกว่า 7 แสนงาน ทำให้มีงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ถึง 12.7 ล้านงานทั่วโลก มีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆทั่วโลกจำนวนเพิ่มมากขึ้นที่มีการสร้างงานในภาคพลังงานทดแทนนี้ คาดกันว่า ปรากฏการณ์การเพิ่มขึ้นของงานแบบ ‘Jobs boom’ จะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นทั่วโลกในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนมากกว่า 38 ล้านงานภายในปี 2030
ภาคอุตสาหกรรมโซลาร์เซลแสงอาทิตย์ (Solar photovoltaic (PV)) ถือเป็นภาคส่วนที่มีสัดส่วนการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ 4.3 ล้านงาน โดยเฉพาะในเอเชียมีการจ้างงานถึงร้อยละ 79 ของจำนวนรวมทั้งโลก
ที่เหลือ ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างงานในอุตสาหกรรมด้านพลังงานทดแทน คือ การผลิตไฟฟ้าจากจากพลังงานน้ำ (Hydropower) และ เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuels) อย่างละ 2.4 ล้านงาน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม มีการจ้างงาน 1.3 ล้านตำแหน่ง ส่วนที่เหลือ เช่น พลังงานความร้อนสจากใต้พิภพ (geothermal), ปั๊มความร้อนอุณหภูมิสูง (heat pumps) และ พลังงานจากคลื่นมหาสมุทร (ocean energy) ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญในการสร้างงานประเภทใหม่ ๆ ขึ้นมา
ที่น่าสนใจคือ เกือบ 2 ใน 3 ของงานในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนอยู่ในทวีปเอเชีย จีนถือเป็นประเทศที่มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมประเภทพลังงานทดแทนมากที่สุดคิดเป็น ร้อยละ 40 ของทั้งโลก ตามมาด้วยสหภาพยุโรปและบราซิล อย่างละร้อยละ 10 สหรัฐอเมริกาและอินเดีย แห่งละร้อยละ 7 โดยที่ บราซิลมีการจ้างงานในด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) มากที่สุด ในแง่ความเสมอภาคทางเพศ พบว่า มีการจ้างงานสตรีเพศถึง 1 ใน 3 ของการจ้างงานทั้งหมดในอุคสาหกรรมนี้
คำถามที่สำคัญสำหรับเราชาวไทยคือ แนวโน้มการจ้างงานในเศรษฐกิจยั่งยืนของไทยเป็นอย่างไร?
ที่ผ่านมามีการกำหนดนโยบายที่น่าสนใจคือการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมุ่งเน้นเศรษฐกิจ BCG (Bio, Circular and Green economy) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งไปในอนาคต บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้อง กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการเพื่อยกระดับเข้าสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามองคือ แนวนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งซึ่งจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน และออกแบบแนวนโยบายที่ส่งเสริมการจ้างงานอย่างยั่งยืนตามแนวทางของเศรษฐกิจยั่งยืนหรือไม่?
เท่าที่ผมติดตามฟังนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆที่หาเสียงกันอยู่ในตอนนี้ ขอเรียนตามตรงว่า “ยังไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องนี้ครับ”
ข้อมูลประกอบ:
World Economic Forum (2016, 2020) The Future of Jobs Report. (www.weforum.org)
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570)