แมนคราฟท์ Made in a Slow and Sustainable Fashion อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

“BCG พอเพียง” Series EP:14 แมนคราฟท์ Made in a Slow and Sustainable Fashion อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง

            ผู้ผลิตผ้าทอย้อมครามธรรมชาติที่ใช้แนวคิดการทำธุรกิจอย่างพอดี ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าให้มีมูลค่าสูง เพื่อสร้างสรรค์และสืบสานงานหัตถกรรมอีสานศิลป์ พร้อมๆ กับสร้างอาชีพให้เกษตรกรในชุมชน บนฐานของความเชื่อใจและสามัคคีกัน

จุดเริ่มต้น
            ผู้ก่อตั้งหนึ่งในแบรนด์สิ่งทอบูติกชั้นนำของภาคอีสาน ที่ผสมผสานภูมิปัญญาการทอผ้าท้องถิ่นกับสีย้อมที่ทำจากไม้และพืชที่หาได้ในสวน โดยนำเสนอทางเลือกแฟชั่น “ช้าแต่ยั่งยืน” ขายทางออนไลน์และที่ร้านในตัวเมืองสกลนคร “ผลงานศิลปะที่สวมใส่ได้ของร้าน สร้างสรรค์ขึ้นแบบออร์แกนิคและยั่งยืน ปราศจาก carbon footprint สูงแบบอุตสาหกรรม fast fashion” ปราชญ์ นิยมค้า ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Mann Craft อธิบาย

หมุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในท้องถิ่น
            คุณปราชญ์ ทดลองย้อมสีจากธรรมชาติ โดยต่อยอดจากการหมักใบสีเขียวและก้านของไม้พุ่ม ‘คราม’ ที่เติบโตในป่าโปร่งและริมแม่น้ำ แล้วเพิ่มใบมะขามลงไปพร้อมกับไม้ฝาน ย้อมเปลือกต้นประดู่สีน้ำตาลแดง ไปจนถึงย้อมสีเหลืองอ่อนจากใบมะขามแขก (สมุนไพรที่ขึ้นชื่อเรื่องฆ่าเชื้อรา) ไปจนถึงย้อมสีส้มจากดอกคอสมอส เพื่อให้ได้สีย้อมที่หลากหลาย ปัจจุบัน Mann Craft ใช้เส้นใย 4 ชนิด ได้แก่ ฝ้ายปั่นมือ ฝ้ายโรงงาน เรยอน และไหม และวางแผนที่จะทดลองใช้ใยสับปะรดหรือใยกัญชง “เราใช้วัสดุในท้องถิ่นจากรอบๆ ตัวได้ทุกอย่าง”

ก้าวไปอย่างช้า ๆ แต่ยั่งยืน
            ในช่วงแรกที่เขาทำงานจากสตูดิโอที่บ้านมุ่งสร้างอุตสาหกรรมครัวเรือน เพื่อเปลี่ยนความหลงใหลในวัยเยาว์ให้กลายเป็นอาชีพ เขาประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องด้วยการทำงานอย่างหนัก ผสมผสานไหวพริบในการทดลองสีย้อม “ผมทำสิ่งต่างๆ ทีละเล็กละน้อยเพราะร้านของผมมีขนาดเล็กมาก” เขากล่าว และเร็วๆ นี้ ผู้เข้าชม ‘ศูนย์งานฝีมือสร้างสรรค์’ จะได้เรียนรู้ว่าผลงานศิลปะที่สวมใส่ได้ของ Mann Craft สร้างสรรค์ขึ้นมาได้อย่างไร และสามารถเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทุกรูปแบบ ตั้งแต่วิธีทำน้ำมันหอมระเหยหรืออาหารท้องถิ่น ไปจนถึงวิธีการปั่นฝ้ายแบบดั้งเดิมโดยใช้แกนหมุน และส่งต่อความลับอันเก่าแก่ของคราม “เมื่อผู้คนมาที่นี่ ผมอยากให้พวกเขามีประสบการณ์หลากหลาย ได้รู้สึกใกล้ชิดและคุ้นเคยกับงานฝีมือ และสร้างแรงบันดาลใจให้คนในท้องถิ่นทำงานศิลปะผ่านงานฝีมือ”

ผลิตอย่างพอดี พอเหมาะกับสิ่งที่มีอยู่
            สำหรับคุณปราชญ์ การฝึกฝนใส่ใจในทุกขั้นตอนและทุกแง่มุมของงาน ความว่องไวและความหลากหลายเป็นหัวใจของการทำงาน “ผมใช้ของที่มีอยู่ และถ้าผมขาดแคลนทรัพยากรเหล่านั้น ผมต้องมีความยืดหยุ่นและหาสื่อหรือวัสดุอื่นมาทดแทน” เขาอธิบาย “ความยั่งยืนหมายถึงการมองเห็นศักยภาพในบริบทของตัวเอง ทั้งในแง่ทุนมนุษย์และวัตถุดิบ วิธีที่ดีที่สุดจึงไม่ใช่การทำงานเพียงลำพัง แต่ต้องแสวงหาและบ่มเพาะภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้ด้านช่างฝีมือรอบตัวเรา”

SDG12 #SDG13 #SDG15 #SuDSESC #Nida #NIDAThailand

            ท่านใดสนใจรายละเอียด สามารถอ่านเพิ่มเติมจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ “Thailand’s BCG Transformation: 40 Case Studies on the Bio-Circular-Green Strategy and the Sufficiency Economy Philosophy In Action” หน้า 154-159 ข้างล่างได้เลยค่ะ