โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง
ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ส่งเสริมการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร สุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระดับครัวเรือน ด้วยระบบนิเวศเกษตรธรรมชาติ การหมุนเวียนทรัพยากร และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้ผืนป่าต้นน้ำ เป็นต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านการแบ่งปันองค์ความรู้สู่สาธารณะ
จุดเริ่มต้น
“ในจังหวัดน่าน พื้นที่ร้อยละ 87.2 ของภูมิประเทศเป็นภูเขา เป็นป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญ ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว” กุล ปัญญาวงค์ กล่าวถึงปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การพังทลายของดินและดินถล่ม สารเคมีที่ใช้ในการทำการเกษตรที่ถูกชะล้างลงสู่ทางน้ำ ที่ทำให้เธอตัดสินใจลาออกจากงานที่กรุงเทพฯ แล้วกลับมาน่านในเดือนกรกฎาคม 2556 เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ 50 ไร่ในอำเภอท่าวังผา ให้เป็น ศูนย์การเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ ด้วยการนำเกษตรทฤษฎีใหม่ และหลักการ “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการทำเกษตรยั่งยืน “โคก หนอง นา โมเดล ช่วยแก้ไขปัญหานี้ด้วยการจัดการพื้นที่กักเก็บน้ำโดยใช้หลักการกสิกรรมธรรมชาติ” เธอกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
วิถีเศรษฐกิจหมุนเวียน เปลี่ยนความคิดด้วยการกระทำ
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติน่าน มุ่งให้เกษตรกรฝึกทำการเกษตรผสมผสาน ผลิตอาหารเองโดยใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด สร้างรายได้จากผลผลิตส่วนเกิน ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ นำความอุดมสมบูรณ์กลับคืนสู่จังหวัดน่านและหล่อเลี้ยงต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภายในเวลาไม่ถึง10 ปี มีผู้มาเรียนรู้กว่า 4,000 คนได้กลับไปทำฟาร์มผสมผสานและสร้างวิถีชีวิตเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการขยะเป็นศูนย์ “สิ่งสำคัญที่สุดของการเรียนรู้คือการเห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ..อาหารทั้งหมดที่บริโภคในศูนย์มาจากผลิตผลที่ปลูกที่นี่ และของเหลือทั้งหมดจะถูกนำไปหมักเพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์” กุล อธิบายหลักการฝึกอบรม “งานจัดเลี้ยงได้รับการออกแบบมาไม่ให้สร้างเศษอาหาร บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง เมนูเป็นอาหารที่ทำง่ายจากวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ปลาที่จับได้จากบ่อใกล้ๆ หรือผักปลอดสารพิษจากสวน และสนับสนุนให้คนกินในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาหารเหลือทิ้ง ห้องครัวของศูนย์ฯ ใช้ถ่านชีวภาพในการประกอบอาหาร เราใช้ไฟจากพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ในขณะที่น้ำถูกหมุนเวียนโดยปั๊มพลังงานแสงอาทิตย์…นี่คือวิธีที่เราเปลี่ยนความคิดของผู้คน โดยทำตัวอย่างให้เห็น” กุล เขียนหนังสือและสคริปต์สำหรับรายการทีวีที่คำนึงถึงระบบนิเวศแบบองค์รวม “การเปลี่ยนความคิดเป็นเรื่องยาก การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนเกิดขึ้นเมื่อผู้คนเห็นว่าคุณทำบางอย่างและประสบความสำเร็จ การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้เกิดขึ้นจากการระดมทุนและการเรียนรู้เท่านั้น การสร้างเครือข่ายและระบบสนับสนุนก็เป็นสิ่งสำคัญ”
SDG2 #SDG3 #SDG15 #SuDSESC #Nida #NIDAThailand
ท่านใดสนใจรายละเอียด สามารถอ่านเพิ่มเติมจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ “Thailand’s BCG Transformation: 40 Case Studies on the Bio-Circular-Green Strategy and the Sufficiency Economy Philosophy In Action” หน้า 112-117 ข้างล่างได้เลยค่ะ





