Sustainable Development Goals Ep.4 กฏหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน Part 1 : ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นของกฎหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

Sustainable Development Goals Ep.4 กฏหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน Part 1 : ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นของกฎหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดย ผศ.ดร.ธีทัต ชวิศจินดา คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

การศึกษากฎหมายเพื่อการพัฒนาจะมีลักษณะเฉพาะ และแตกต่างจากการศึกษากฎหมายทั่วไป กล่าวคือ การศึกษากฎหมายเพื่อการพัฒนาจะเป็นการศึกษาแบบบูรณาการศาสตร์ และสหวิทยาการนิติศาสตร์ โดยมองกฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อตอบโจทย์ หรือเป้าหมายการพัฒนานั่นเอง

สวัสดีครับผม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีทัต ชวิศจินดา ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายเพื่อการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งคณะนิติศาสตร์ของนิด้านั้นมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเป้าหมายการพัฒนา โดยที่ผ่านมาการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในประเทศไทย จะมุ่งเน้นเรื่องของการใช้กฎหมาย การตีความตัวบทกฎหมาย อย่างไรก็ตามในการเรียนการสอน และการวิจัยนิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา เราจำเป็นที่จะต้องมีมุมมองเกี่ยวกับกฎหมายในลักษณะที่แตกต่างจากเดิม ด้วยเหตุนี้ Motto แรกของคณะนิติศาสตร์ นิด้าในการก่อตั้งก็คือ เราพูดถึงเรื่องการนำนิติธรรมสร้างความรู้สู่การพัฒนา

ในเรื่องของการนำนิติธรรม คำว่า “นิติธรรม” นี้ จะเป็นเรื่องของ “Rule of Law” ที่หลายๆ คนคุ้นชิน เวลาเราพูดถึงหลักนิติรัฐ หรือนิติธรรมนั้น เราจะนำมันมาใช้อย่างไรเพื่อการพัฒนา สิ่งนี้ คือพันธกิจของคณะนิติศาสตร์นิด้า ซึ่งวันนี้ผมจะมาพูดเกี่ยวกับเรื่องของนิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา หรือ Law for development โดยเชื่อมโยงกับเรื่อง SDG goals ครับ

ลักษณะของการศึกษานิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา จะมีความแตกต่างจากลักษณะของการศึกษากฎหมาย การใช้และตีความกฎหมาย ซึ่งลักษณะแบบดั้งเดิม ในการเรียนกฎหมายตามที่หลายท่านเข้าใจ จะมีลักษณะของการศึกษาตัวบทกฎหมาย หลักการทางกฎหมาย เหตุผลทางกฎหมาย ซึ่งเหล่านี้เราเรียกรวมๆ กันว่าเป็น ลักษณะการศึกษานิติศาสตร์โดยแท้ หรือ Doctrine Legal Studies

อย่างไรก็ตามเวลาเราพูดถึงนิติศาสตร์เพื่อการพัฒนาโดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับเรื่องของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ลักษณะสำคัญของการศึกษาและการวิจัยจะมีความแตกต่างครับ โดยในการศึกษานิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา เป็นเรื่องของการใช้ Law as a Means to an End หรือการใช้กฎหมายในฐานะเครื่องมือเพื่อตอบโจทย์การพัฒนา ด้วยเหตุนี้เวลาเราทำความเข้าใจ เรื่องนี้ จึงต้องแยกคำออกเป็นสองส่วน คือ ตัว Law ว่าคืออะไร กับส่วนที่สองก็คือเรื่องของ development ว่าการพัฒนาที่ว่านี้ สามารถตีความหรือถูกมองจากแง่มุมอะไรได้บ้าง จากนั้นเราจะดูความเชื่อมโยงระหว่าง Law กับ Development ซึ่งก็คือการใช้ Law โดยในความหมายคำว่า Law ตัวนี้จะไม่ได้หมายถึงตัวบทกฎหมายอย่างเดียวเท่านั้น แต่เรามีการพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า “Legal Institution” หรือสถาบันทางกฎหมาย

ทั้งนี้ เวลาเรายืมเครื่องมือของศาสตร์อื่นมาช่วยในการตีความหรือทำความเข้าใจกฎหมาย หรือ อธิบายบทบาทของกฎหมายเพื่อการพัฒนา เราจึงจำเป็นต้องมองกฎหมายจากแง่มุมสถาบัน หรือ institution analysis หรือการวิเคราะห์เชิงสถาบันนั่นเอง ลักษณะของการศึกษา Legal Institution หรือสถาบันทางกฎหมาย ก็คือ การศึกษากฎหมาย ในความหมายแบบกว้างครอบคลุมทั้งสิ่งที่เรียกว่า Formal Law หรือกฎหมายตามรูปแบบ ตามแบบแผน ซึ่งก็คือตัวบทกฎหมาย กับสิ่งที่เรียกว่า Informal Law ซึ่งก็คือกฎหมายที่ไม่เป็นทางการหรือไม่เป็นแบบแผน ซึ่งกินความรวมถึง จารีตประเพณี ความคิดความเชื่อ ทางปฏิบัติต่างๆ ที่ไม่เป็นทางการ สิ่งนี้จะมีลักษณะที่ผสมผสานอยู่ในโครงสร้างของสังคม

ดังนั้นเวลาเราพูดถึงลักษณะของ Law for development จึงมีความหมายทั้งสองมุม ก็คือ ทั้งกฎหมายที่เป็นแบบแผนและที่ไม่เป็นแบบแผน ส่วนที่สอง เวลาเราพูดถึงคำว่า development หรือการพัฒนาคำว่า development เป็นคำที่กว้าง เวลาใช้กฎหมายเพื่อตอบโจทย์ของการพัฒนานั้น จึงขึ้นอยู่กับการกำหนดเป้าหมาย หรือกำหนดนิยามของการพัฒนา ซึ่งโดยทั่วไปคำนี้จะหมายถึงเรื่องของความเป็นธรรม โดยปัจจุบันมีการใช้คำนี้ในบริบทที่แตกต่างกัน เช่น เราพูดถึงเรื่องความเลื่อมล้ำ เป็นต้น นอกจากนี้หากพูดถึงในแง่ของสังคมศาสตร์ ก็จะมีการพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า social justice หรือความยุติธรรมทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น development เป็นเรื่องของ justice เป็นเรื่อง equity เป็นเรื่อง fairness หรือเป็นเรื่องของ social justice เหล่านี้ ก็คือ เป้าหมาย หรือ development goals นั่นเองครับ