โดย ผศ.ดร.ธีทัต ชวิศจินดา คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
เมื่อมีการพูดถึงองค์ความรู้นิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา สิ่งหนึ่งที่เราอาจใช้อ้างอิงได้ก็คือสิ่งที่เราเรียกกันว่า The Rule of Law Index หรือตัวชี้วัดว่าด้วยเรื่องระดับของหลักนิติรัฐนิติธรรมในประเทศไทยครับ
ในเชิงของวิธีวิทยาหรือเราเรียกกันว่า legal research methodology ก็คือเราจะศึกษาหรือวิจัยนิติศาสตร์เพื่อการพัฒนาเราควรทำอย่างไร ลักษณะของการวิจัยนิติศาสตร์โดยแท้แบบดั้งเดิม ก็เป็นแง่มุมหนึ่ง เช่น ลักษณะการศึกษาข้อกฎหมาย เหตุผลทางกฎหมาย และนำไปเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนกฎหมาย ก็ถือว่าเป็นแง่มุมหนึ่งของการศึกษานิติศาสตร์โดยแท้ ซึ่งตรงนี้จะนำไปสู่เรื่องวิธีวิทยาในทางนิติศาสตร์ ที่เราเรียกกันว่าการศึกษาแบบ Comparative Legal Study หรือการศึกษากฎหมายเปรียบเทียบนั่นเอง
การศึกษากฎหมายเปรียบเทียบเป็นเครื่องมือหนึ่งในการศึกษาข้อความคิดทางกฎหมาย เหตุผลทางกฎหมาย และเรื่องตัวอย่างการปรับใช้และการตีความกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นว่ารูปแบบของการตีความกฎหมายแตกต่างกันตามวัฒนธรรม ตามระบบกฎหมายในแต่ละประเทศ สิ่งนี้เวลาเราศึกษากฎหมายเปรียบเทียบจากระบบกฎหมาย common law หรือระบบกฎหมาย civil law เพื่อนำมาเป็นบทเรียนในการออกกฎหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตัวอย่างที่เห็นชัด เช่น ประเด็นการตีความกฎหมายเพื่อส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทางเพศ โดยเฉพาะการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องของ Same sex marriage หรือบางที่ก็เรียกว่า Partnership เพราะฉะนั้นกฎหมายในกลุ่มนี้ก็จะมีลักษณะของการศึกษากฎหมายเปรียบเทียบตามที่หลายท่านได้มีการยกตัวอย่างของต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนเวลาเราไปศึกษากฎหมายต่างประเทศ เวลาเอากลับเข้ามาประเทศไทยก็จะเกิดความท้าทายหนึ่ง ว่าสิ่งที่ต่างประเทศมี ประเทศไทยควรมีหรือไม่ อย่างไร แค่ไหน เพียงใด ซึ่งกรณีแบบนี้จำเป็นให้เราต้องศึกษาเพิ่มเติมในมุมมองของสังคมวิทยากฎหมาย หรือ Sociology of Law for Development นั่นเองครับ
จากเครื่องมือที่หนึ่งซึ่งเป็นรูปแบบการศึกษานิติศาสตร์โดยแท้ผ่านมุมมองของการศึกษากฎหมายเปรียบเทียบ ก็จะนำมาสู่การศึกษาข้อความคิด ถอดบทเรียนและนำมาออกกฎหมายของประเทศไทย เรื่องนี้ ก็จะนำไปสู่เรื่องของแนวคิดการปฏิรูปกฎหมาย หรือ law reform
ปัจจุบันเมื่อเราพูดถึงลักษณะการศึกษานิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา ความท้าทายหนึ่งที่มีการปรับใช้อยู่ในประเทศไทย ก็คือ มุมมองที่เรียกกันว่า human rights-based approach กล่าวคือ เราจะพิจารณาประเด็นปัญหาบนฐานคิดหลักสิทธิมนุษยชน โดยใช้คนเป็นตัวตั้งครับ โดยศึกษาข้อความคิดทางกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิมนุษยชน และใช้ประเด็นสิทธิมนุษยชนไปขับเคลื่อน ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเรานำเรื่อง human rights-based approach ไปใช้เพื่อตอบโจทย์การพัฒนา เราอาจจะเห็นถึงบทบาทของผู้มีส่วนร่วม stakeholders ต่างๆ
ที่ผ่านมา ประเทศไทยอาจจะถูกโจมตี แต่เราก็มีความพยายามที่จะส่งเสริมเรื่อง human rights-based approach โดยเฉพาะตัวอย่างที่ผมจะยกต่อไปนี้ซึ่งก็คือ เรามีการพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า Voice of the Voiceless หรือเสียงของคนทีไร้เสียง นั่นหมายความว่าที่ผ่านมา เวลาเราพูดถึงสังคม ก็จะมีสิ่งที่เราเรียกกันว่า marginalized person หรือคนชายขอบ ปัจจุบันคำนี้อาจจะถูกมองหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนจน ซึ่งเวลาเราพูดถึงคนจน ตามเกณฑ์ที่ใช้ดูกัน คือ คนที่มีรายได้ต่อวันน้อยกว่าหนึ่งดอลล่าร์สหรัฐ หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนที่เราเรียกกันว่า indigenous peoples หรือคนพื้นเมืองท้องถิ่นดั้งเดิมของประเทศไทย คนเหล่านี้ในอดีตก็จะไม่ค่อยได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าประเทศไทย มีแนวคิดของความพยายามที่จะ inclusive ตามแนวคิด inclusiveness คือนำคนเหล่านี้ที่เป็นกลุ่มคน marginalized person หรือคนชายขอบ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น สิ่งที่เห็นเด่นๆ เลย ก็คือ เรื่องของบทบาทของคนพื้นเมืองท้องถิ่นดั้งเดิมของประเทศไทย
แน่นอนครับเรื่องนี้ก็จะมีหลากหลายมุมมอง ที่ประเทศไทยกำลังพยายามทำอยู่ ยังไม่มากพอ เมื่อมีการพูดถึงองค์ความรู้ในศาสตร์เพื่อการพัฒนา สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะใช้อ้างอิงได้ก็คือสิ่งที่เราเรียกกันว่า The Rule of Law Index หรือตัวชี้วัดว่าด้วยเรื่องระดับของหลักนิติรัฐนิติธรรมในประเทศไทย ที่ผ่านมา จะมีการเก็บสถิติว่าด้วยเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายศึกษาเรื่องความมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย เราเรียกรวมๆ กันว่า Rule of Law มันมีหลายมิติ หนึ่งในนั้นก็มีการจัดลำดับ โดยล่าสุดปี 2022 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ลำดับที่ 80 ซึ่งในอดีตเราเคยอยู่ที่ลำดับ 70 กว่าๆ ปัจจุบันเราอยู่ที่ลำดับ 80 จากประเทศทั่วโลกประมาณ 150 ประเทศ ตัวชี้วัดตัวนี้บอกอะไรได้บ้างเกี่ยวกับเรื่องนิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา แน่นอนตัวรายงานที่เราเรียกกันว่า world justice report หรือรายงานความยุติธรรมของโลก จะมีการพูดถึงความท้าทายต่างๆของประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องประเด็นเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชั่น อันที่ สองจะมีการพูดถึงเรื่องระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และสุดท้ายก็ต้องมีการพูดถึงเรื่องของการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมครับ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคอร์รัปชันก็ดี human rights ก็ดี หรือ environmental ก็ดี ทั้ง 3 อันนี้ก็จะถือว่าเป็นหัวข้อหลักๆ ที่อยู่ในความท้าทายและอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยครับ