โดย ผศ.ดร.ธีทัต ชวิศจินดา คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
นิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา เราจะมีลักษณะของการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อตอบโจทย์บางอย่าง นักนิติศาสตร์ในปัจจุบันจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนากรอบความคิดให้ครอบคลุมมิติที่หลากหลาย
ความท้าทายหนึ่ง ซึ่งเป็นประเด็นสุดท้าย เรากำลังพูดถึงอนาคตของนิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา ในลักษณะของการใช้นิติศาสตร์เป็นเครื่องมือเพื่อการพัฒนานั้น ปัจจุบันเวลาเราทำความเข้าใจ เราจะเจอคำหลักที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกัน ผมขอยกตัวอย่าง 3 คำ
อันที่หนึ่ง เราจะพูดถึง Rule of Law หรือหลักนิติรัฐนิติธรรม สิ่งนี้ก็ยังมีการถกเถียงกันครับ ว่าประเทศไทยเข้าใจหลักนิติรัฐนิติธรรมว่าอย่างไร ตลอด 30 กว่าปีถึง 50 กว่าปี ที่ประเทศไทยมีการปฏิรูปกฎหมายเรามักจะได้ยินคำนี้
หลักการก็คือเมื่อเราใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อการพัฒนา ด้วยเหตุนี้เราจะต้องมีการเคารพสิ่งที่เรียกว่า กฎหมาย ประเด็นนี้ที่นำมาสู่การถกเถียงในทางปฏิบัติของประเทศไทย ว่าคนไทย สังคมไทย ระบบกฎหมายของไทยให้น้ำหนัก หรือคุณค่า เรื่องของ Rule of Law หรือที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหลายท่านอาจจะมีคำพูดว่าประเทศไทยมีกฎหมายที่ดี แต่ปัญหาหนึ่งที่มีความท้าทายก็คือ ทำอย่างไรให้ระบบการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยมีประสิทธิภาพในทุกมิติ ซึ่งตัวนี้ก็เป็นมุมมองจากการศึกษาแบบนิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา โดยเชื่อมโยงกับเรื่องของ effectiveness หรือความมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องนี้ก็จะทำให้หลายท่านที่หากไม่มีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับหลักเศรษฐศาสตร์ หรือความคุ้มค่า ก็จะไม่สามารถมองประเด็น หรือการขับเคลื่อนบทบาท Law and Economics เพื่อการพัฒนาในประเด็นว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายได้
คำที่สอง ที่มีการพูดถึงนอกจาก Rule of Law ก็คือ ปัจจุบันจะมีการพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า Governance หรือธรรมาภิบาล ในองค์ประกอบของ Governance เวลาเราศึกษาข้อความคิดทางกฎหมาย เราจะเห็นว่าในรัฐธรรมนูญไทยเองก็มีการพูดถึง Governance หรือหลักธรรมาภิบาลไว้ ซึ่งในธรรมาภิบาลอาจมีองค์ประกอบย่อยๆ เช่น หลักความโปร่งใส และหลักการมีส่วนร่วม (transparency กับ Participation) นั่นเอง
ในกลไกต่างๆ ที่ผมเล่ามา ในวันนี้อาจจะไม่ได้ลงลึกแต่จะให้เห็นภาพ ว่าเวลาเราพูดถึงเรื่องนิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา สิ่งที่สำคัญ และควรทำความเข้าใจอันดับแรกก็คือ เราจะมีลักษณะของการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อตอบโจทย์บางอย่าง ด้วยเหตุนี้ ผู้ศึกษาหรือคนที่สนใจเกี่ยวกับนิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา จะมีลักษณะของการบูรณาการองค์ความรู้ทำให้ต้องไปเข้าใจ ไปศึกษาศาสตร์อื่น เพื่อนำมาใช้บูรณาการร่วมกับองค์ความรู้นิติศาสตร์ และเอาไปใช้ตอบโจทย์เป้าหมายที่เราต้องการ
ในแง่นี้ลักษณะของการศึกษานิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา จึงทำให้มีลักษณะ Interdisciplinary หรือลักษณะของสหวิทยาการในตัวของมัน
สุดท้าย ถ้ามีคนถามผมว่าการศึกษานิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา บทบาทของนักกฎหมายเพื่อการพัฒนา และลักษณะของ Legal Agent หรือตัวแทนทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ นักนิติศาสตร์ ตำรวจ ราชทัณฑ์ กลไกตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำที่เราเรียกรวมๆกันว่าเป็นระบบนี้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า institution หรือ การศึกษาเชิงสถาบัน บทบาทของผู้เล่นเหล่านี้จะมีการขับเคลื่อนนิติศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างไร
ประเด็นนี้ ผมขอทิ้งท้ายเกี่ยวกับเรื่องความท้าทายสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะการมองกฎหมาย และการเรียนการสอนกฎหมาย สิ่งสำคัญที่จะต้องเข้าใจก็คือ ปัจจุบันโลกมีการพัฒนา หรือไหลไปในทิศทางที่ต้องการการบูรณาการศาสตร์มากขึ้น ด้วยเหตุนี้นักนิติศาสตร์ในปัจจุบัน จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนากรอบความคิด Legal Framework ให้ครอบคลุมมิติที่หลากหลาย ทั้ง 3 ด้าน ก็คือทั้งระดับ international หรือเวทีในระหว่างประเทศ ระดับที่สอง คือ regional หรือระดับภูมิภาค และ ระดับที่สาม ก็คือเรื่องของ national ก็คือระดับภายใน ดังนั้น นักกฎหมายไทยหลายท่าน ที่กำลังอยู่ในเส้นทางของนักนิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา และเปิดโลกสู่อนาคตโดยเฉพาะในการขับเคลื่อน SDG นอกจากต้องมีองค์ความรู้กฎหมาย และบูรณาการได้แล้ว สิ่งสำคัญก็คือเรื่องภาษาอังกฤษ ซึ่งทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ จะช่วยทำให้สามารถเป็นนักนิติศาสตร์เพื่อการพัฒนา สามารถใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนนั่นเอง