Thaipublica 11zon

ปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สุวิทย์ เมษินทรีย์

ถึงเวลาที่พวกเราต้องเปิดมุมมองใหม่ มองประเทศไทยใน “แง่บวก” มากกว่ามองใน “แง่ลบ” มองจาก “โอกาส” มากกว่ามองจาก “วิกฤติ” ใช้การ “วิเคราะห์” ด้วยข้อมูลและตัวเลข มากกว่าการ “วิจารณ์” ด้วยอารมณ์และความรู้สึก

          ถึงเวลาที่ต้องช่วยกันค้นหา “จุดพลิกเกม” (Game Changer) ต้องกล้าที่ผลักดันและขับเคลื่อน “การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างและพฤติกรรม” มากกว่าเพียงแค่ “การปฏิรูปเชิงฟังก์ชันรายสาขา” แบบค่อยเป็นค่อยไป ที่สำคัญ ต้องมีความมุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง กัดไม่ปล่อย ไม่ใช่ทำแบบ Business as Usual อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

          การปรับเปลี่ยนดูจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ภายใต้ VUCA World อย่างที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน แต่ข้อต่อที่ขาดหายไป (Missing link) ก็คือ “Wisdom for Sustainable Development” หรือ “ปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ความไม่สมดุลเชิงระบบกับอนาคตที่มืดมน

          พวกเรากำลังอยู่ในโลกที่ต้องเผชิญกับคลื่นวิกฤติเชิงซ้อน ทั้งวิกฤติโควิด-19 วิกฤติซับพลายเชนต์ วิกฤติพลังงาน วิกฤติอาหาร รวมถึงวิกฤติเงินเฟ้อ ที่อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยตามมา รากเหง้าของการเกิดคลื่นวิกฤติเชิงซ้อน มาจาก “ความไม่สมดุล” ใน 3 เรื่องหลัก คือ

 1) ความไม่สมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ ที่นำมาสู่ “ความขัดแย้ง”

 2) ความไม่สมดุลระหว่างมนุษย์ ที่นำมาสู่ “ความเหลื่อมล้ำ”

 3) ความไม่สมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ที่นำมาสู่ “ความไม่ยั่งยืน”ทำให้เราต้องเผชิญกับภาวะ “หนึ่งโลก หนึ่งชะตากรรมร่วม” หรือ “One World, One Destiny”

 ในบริบทของประเทศไทย ความไม่สมดุลที่เรื้อรังก่อให้เกิดการกัดเซาะทุนสำคัญ ๆ ของประเทศลงอย่างมากมาย เรากำลังเผชิญกับ

 – ทุนมนุษย์ที่อ่อนแอ ทั้งในแง่ของคุณภาพคนที่ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบการศึกษาที่ไม่ได้ปรับให้สอดรับกับพลวัตโลกที่เปลี่ยนไปและการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยไม่ได้มีการตระเตรียมการที่ดีพอ

 – ทุนเศรษฐกิจที่อ่อนด้อย พลังขับเคลื่อนโลกในศตวรรษที่ 21 มาจาก 2 ทุนสำคัญคือ ทุนมนุษย์และทุนเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยมีความอ่อนด้อยทั้งคู่ เราจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปพร้อม ๆ กับการยกระดับทั้ง2 ทุนนี้ได้อย่างไร

 – ทุนสังคมที่เปราะบาง สังคมจะอยู่อย่างปกติสุขได้ด้วยทุนสังคม ซึ่งประกอบด้วย 2 มิติ คือ 1) การเชื่อมโยงของคนในกลุ่มเดียวกัน (Bonding) และ 2) การเชื่อมโยงของคนระหว่างกลุ่ม (Bridging) ความเหลื่อมล้ำที่สูงในสังคมไทยส่งผลให้ Bonding ภายในกลุ่มเข้มแข็งขึ้น ในขณะที่ Bridging ระหว่างกลุ่มอ่อนแอลง เกิดเป็นสังคมที่เปราะบาง ที่มีพื้นที่ขัดแย้งมากกว่าพื้นที่ร่วม มองความแตกต่างเป็นความแตกแยก

 – ทุนคุณธรรม จริยธรรม ที่เสื่อมทราม มนุษย์จะอยู่ได้นั้น ต้องมีความเป็นมนุษย์ควบคู่ไปกับความเจริญทางวัตถุ แต่ในปัจจุบันสังคมไทยเน้นวัตถุนิยม บริโภคนิยม และสุขนิยมมากกว่ามนุษยนิยม นำมาสู่สังคมที่ผู้คนเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้มากขึ้น แตกต่างจากในอดีตที่เคยเป็นสังคมที่เกื้อกูลแบ่งปัน

 – ทุนทรัพยากรที่เสื่อมโทรม การพัฒนาทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการเสื่อมโทรมลงของทรัพยากรสิ่งแวดล้อม โดยมีอัตราการทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่สูงมาก ในขณะที่มีอัตราการฟื้นฟูที่ต่ำมาก

 

นี่คือความไม่สมดุลเชิงระบบ (Systemic Imbalance) ประเด็นท้าทายคือ เราจะจัดการกับความไม่สมดุลเชิงระบบนี้อย่างจริงจังและเป็นระบบได้อย่างไร

 หากพิจารณาความไม่สมดุลเชิงระบบในบริบทโลก จะพบว่าทั้งโลกกำลังตกอยู่ในความไม่สมดุล 7 ประการด้วยกัน คือ

 1) ใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดมากเกินไป ใช้ศักยภาพอันไร้ขีดจำกัดของมนุษย์น้อยเกินไป

2) เห็นแก่ผู้คนปัจจุบันมากเกินไป คิดเผื่อคนรุ่นหลังน้อยเกินไป

3) เน้นหนักการบริโภคมากเกินไป เน้นหนักคุณภาพชีวิตน้อยเกินไป

4) ตอบสนองต่อความต้องการที่ล้นเกินของคนรวยมากเกินไป ตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐานของคนจนน้อยเกินไป

5) ให้ค่ากับความชาญฉลาดในการดำเนินธุรกิจมากเกินไป ให้ค่ากับคุณธรรมจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจน้อยเกินไป

6) เรียนรู้จากความสำเร็จมากเกินไป ถอดบทเรียนจากความผิดพลาดและความล้มเหลวน้อยเกินไป

7) ให้ความสำคัญกับปัญญาประดิษฐ์มากเกินไป ให้ความสำคัญกับปัญญามนุษย์น้อยเกินไป

Thomas Berry นักประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมชาวอเมริกัน ได้กล่าวไว้ว่า “You cannot have well humans on a sick planet” ดังนั้นประเด็นท้าทายคือ พวกเราจะร่วมกันสร้างโลกให้น่าอยู่กว่าเดิม มีอนาคตที่สดใสกว่านี้ได้อย่างไร

 

ปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

          ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกดิจิทัลเชื่อมั่นในการสร้างองค์ความรู้และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อหวังที่จะเอาชนะคลื่นวิกฤตเชิงซ้อนที่เกิดขึ้น แต่อย่างที่พวกเราทราบกันดี องค์ความรู้เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ การมีองค์ความรู้อาจทำให้เราอยู่รอดในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ได้ทำให้ชีวิตมีความหมายหรือสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

           โดยทั่วไปเรามักจะวางกลยุทธ์เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย และเมื่อเป้าหมายไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ก็กลับมาทบทวนกลยุทธ์ ผ่านการแปลงดาต้าเป็นข้อมูลสารสนเทศและพัฒนาเป็นองค์ความรู้ในที่สุด แต่องค์ความรู้เหล่านี้ไม่เพียงพอที่จะนำพาพวกเราไปสู่ความยั่งยืนได้ ณ วันนี้โลกมีพลวัตการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ดังนั้นเราต้องหันกลับมาทบทวนสมมติฐานที่เราตั้งไว้ ว่ายังคงสอดรับกับพลวัตโลกอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งข้อต่อที่ขาดหาย (Missing Link) ที่จะต่อเชื่อมสมมติฐาน กลยุทธ์ และเป้าหมายก็คือ “ปัญญา” หรือ “Wisdom” ที่เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นและเพียงพอที่จะนำพาพวกเราไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องมี“ปัญญา” เพื่อชี้นำแนวทางในการสร้างองค์ความรู้ ข้อมูลสารสนเทศ และดาต้า เพื่อที่จะทำให้พวกเราสามารถรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ในทุกสถานการณ์

           คลื่นวิกฤติเชิงซ้อนโลกอาจเป็น Blessing in Disguise ที่ทำให้พวกเราต้องกลับมาช่วยกันขบคิด เพื่อสร้าง A Better World & a Brighter Future เพราะหากไม่มีวิกฤติโลก เราก็จะยังคงดำรงชีพและทำงานกันแบบเดิม ๆ (Business as Usual) การสร้าง A Better World & a Brighter Future ต้องเริ่มด้วย “ปัญญา” อันประกอบด้วย การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm) แนวคิดและปรัชญา (Philosophy)แพลตฟอร์มการขับเคลื่อน (Platform) ตลอดจนแนวทางปฏิบัติให้เกิดผล (PracticalSolutions)

           กระบวนทัศน์ในการพัฒนาได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากโลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความทันสมัยและมุ่งเน้นการสร้าง “สุขภาวะส่วนบุคคล”(Individual Wellbeing) จนนำมาสู่ความไม่สมดุลเชิงระบบ (Systemic Imbalance) ก่อเกิดเป็นโลกที่ไม่พึงประสงค์ในที่สุด

           ดังนั้นหากเราต้องการโลกที่พึงประสงค์ เราจะต้องแก้ที่รากของปัญหา ด้วยการปรับสมดุลเชิงระบบ (Systemic Rebalance) ครอบคลุมทั้งสมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มประเทศต่าง ๆ สมดุลระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ รวมถึงการเปลี่ยนมาเน้นการสร้าง “สุขภาวะแบบองค์รวม” (Total Wellbeing) จึงจะนำมาสู่โลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความยั่งยืนอย่างสมบูรณ์

           การปรับเปลี่ยนจาก “สุขภาวะส่วนบุคคล” ที่เน้นการเอาชนะธรรมชาติด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พยายามที่จะควบคุมธรรมชาติและมีอิทธิพลเหนือผู้อื่น มาสู่การมี “สุขภาวะแบบองค์รวม” ที่เน้นการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติและผู้อื่น เราจะต้องมองออกจากตนเองด้วยการสร้าง “สุขภาวะร่วมกับผู้อื่น” (Collective Wellbeing) เพื่อที่จะไปสู่สังคมที่เท่าเทียม (Equitable Society) ควบคู่ไปกับการสร้าง “สุขภาวะร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” (Planetary Wellbeing) เพื่อที่จะไปสู่โลกที่ยั่งยืน (Sustainable World)

           นอกจากการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ มนุษย์เรานั้นอยู่ได้ด้วยคุณค่าและปรัชญา ซึ่งคุณค่าและปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนการพัฒนาสู่ความทันสมัยกับการพัฒนาสู่ความยั่งยืนนั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนี้

 – ปรัชญาของการพัฒนาสู่ความทันสมัยเน้นความอยู่รอดของตนเอง ในขณะที่การพัฒนาสู่ความยั่งยืนเชื่อว่าการที่จะไปได้ไกล ต้องไปด้วยกัน โดยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 – ปรัชญาของการพัฒนาสู่ความทันสมัยเป็นMechanistic Approach โดยเน้นผลิตภาพและประสิทธิภาพเป็นสำคัญ ในขณะที่การพัฒนาสู่ความยั่งยืนเป็น System Approachโดยเน้นเรื่องพลวัตและดุลยภาพเป็นสำคัญ

 – ปรัชญาของการพัฒนาสู่ความทันสมัยเน้นการกอบโกยผลประโยชน์ใส่ตัว โดยไม่ใส่ใจว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นหรือส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ในขณะที่การพัฒนาสู่ความยั่งยืนเน้นการรับผิดรับชอบในผลกระทบที่ตนเองก่อ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบเชิงบวกหรือลบก็ตาม

 – ปรัชญาของการพัฒนาสู่ความทันสมัยเชื่อว่า “The More, The Better”, “The Bigger, The Better” และ “The Faster, The Better” ในขณะที่การพัฒนาสู่ความยั่งยืนเชื่อว่า “The Better, The More”, “The Better, The Bigger” และ “The Better, The Faster”

           หนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนคือ“ความสมดุลเชิงระบบ” (Systemic Balance)ซึ่งก็คือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง เราอาจตีความหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ว่า เมื่อไม่พอต้องรู้จักเติม เมื่อมีพอต้องรู้จักหยุด และเมื่อมีเกินต้องรู้จักปัน หรือหากพิจารณาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)ก็คือความประหยัดของปัจจัยนำเข้า ความเรียบง่ายของกระบวนการ และประโยชน์สูงสุดของปัจจัยส่งออก ซึ่งก็คือหลักคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียนในปัจจุบันนั่นเอง   

          นอกจากจะปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ คุณค่าและปรัชญาแล้ว เราจำเป็นจะต้องสร้างแพลตฟอร์มเพื่อบูรณาการหลักคิดต่าง ๆ ที่มีอยู่เข้าด้วยกันและขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติให้เกิดผล เมื่อเรามีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นCommon Value ที่สอดรับกับพลวัตโลก เราจะต้องสร้าง Common Ground ที่เป็นแพลตฟอร์มที่จะแปลง Common Value ให้ออกมาเป็นรูปธรรม เพื่อที่จะบรรลุ Common Goalsซึ่งก็คือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs นั่นเอง

           โดยแพลตฟอร์มที่จะเชื่อมโยง Common Value กับ Common Goals ก็คือ “BCG Economy Model” ที่เป็นโมเดลการสร้างความมั่งคั่ง(Wealth Creation) ไปพร้อม ๆ กับการกระจายความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) เป็นเรื่องของการสร้างสุขภาวะร่วมกับผู้อื่น (Collective Wellbeing) ไปพร้อม ๆ กับการสร้างสุขภาวะร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Planetary Wellbeing) ซึ่งทั้ง 4 องค์ประกอบนี้หากบูรณาการในองค์รวมจะครอบคลุม SDGs ได้ครบทั้ง 17 ประการ

 

ระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

          การที่เราจะไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้จริง ในทางปฏิบัติเราจะต้องช่วยกันสร้างให้คนไทยเป็น “พลเมืองโลกที่มีความรับผิดรับชอบ”(Global Engaged Citizen) ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนเชิงพฤติกรรมครั้งใหญ่ ควบคู่ไปกับการพัฒนา “ระบบธรรมาภิบาลที่มุ่งสู่ความยั่งยืน” (Sustainable System of Governance) ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างครั้งสำคัญหากไม่มีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างและพฤติกรรม Wisdom for Sustainable Development ก็จะไร้ความหมาย และหากไม่มีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างและพฤติกรรม การมุ่งเป้าหมายไปสู่ A Better World & aBrighter Future จะเป็นแค่เพียงความฝันลม ๆ แล้ง ๆ

           การสร้าง Global Engaged Citizen และการพัฒนา Sustainable System of Governance จึงเป็น 2 องค์ประกอบสำคัญในระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 การจะนำพาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนได้นั้นหัวใจสำคัญอยู่ที่การปรับเปลี่ยนคนไทยจาก Local Passive Citizen ไปเป็น Local Active Citizen ขยับไปสู่ Global Active Citizen และกลายเป็น Global Engaged Citizen ในที่สุด

           การเป็น Global Engaged Citizen จะต้องมีการปลูกฝัง 3 Mindset สำคัญ คือ Growth Mindset, Global Mindset และ Eco-Centric Mindset ประเด็นท้าทายคือ จะปรับเปลี่ยน Mindset ของคนไทยส่วนใหญ่ จาก Fixed Mindset เป็น Growth Mindset จาก Parochial Mindset เป็น Global Mindset และจาก Ego-Centric Mindset เป็น Eco-Centric Mindset ได้อย่างไร นี่คือโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปการศึกษา ตลอดจนการเตรียมคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21

           ในขณะเดียวกันต้องสร้าง Sustainable System of Governance ที่ประกอบไปด้วย การสร้างสังคมที่ Clean & Clear, Free & Fair และ Care & Share เพื่อที่จะลดทอนหรือทำลายระบบอุปถัมภ์นิยม อำนาจนิยม และอภิสิทธิ์นิยม ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาที่มุ่งสู่ความยั่งยืนที่ยังคงฝังรากอยู่ในสังคมไทย โดยเราสามารถแปลงการสร้างสังคมที่ Clean & Clear, Free & Fair และ Care & Share ออกมาได้เป็น 6 วาระเชิงปฏิบัติการสำคัญ คือ

1) Accessibility & Affordability

2) Protection

3) Growth for People

4) Freedom

5) Opportunity

6) Fairness

 

ถึงเวลาเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง

          ในปัจจุบันประเทศไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองแบบ Extractive Political Economy ซึ่งเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่มีระบอบประชาธิปไตยเทียม ทุนนิยมพวกพ้อง ระบบเศรษฐกิจปรสิต และสังคมพึ่งพิงรัฐ (ผ่านมาตรการประชานิยม) ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเป็นพลเมืองที่เฉื่อยชา การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการปรับเปลี่ยนไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองแบบ Inclusive Political Economy ซึ่งเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่มีระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ระบบทุนนิยมที่เปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วม ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการแข่งขันที่เป็นธรรม และการมีสังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน

           การสร้าง Global Engaged Citizen และการพัฒนา Sustainable System of Governance จะเป็น 2 Key Drivers สำคัญในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างจาก Extractive มาเป็น Inclusive Political Economy อีกทั้งเป็นตัวเชื่อมโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองดังกล่าวเข้ากับการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เป็นอย่างดี

           กลไกขับเคลื่อน Inclusive Political Economy มีหลากมิติ ในมิติทางเศรษฐกิจคือ กลไกการเพิ่ม Size of Pie ผ่านการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเพิ่มผลิตภาพ ควบคู่ไปกับกลไกการเพิ่มShare of Pie ผ่านการกระจายโอกาสและเติมเต็มศักยภาพให้กับคนด้อยโอกาสและคนส่วนใหญ่ของประเทศ

           ในมิติทางการเมืองคือ กลไกการขับเคลื่อนกระบวนการประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับกลไกการขับเคลื่อนกระบวนการประชาธิปไตยทางการเมือง ด้วยการออกแบบโมเดลเศรษฐกิจที่ให้อำนาจประชาชนในระดับฐานราก (People Power) เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อเราสามารถแก้ปัญหาปากท้อง ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดีได้กระบวนการประชาธิปไตยทางการเมืองในระดับฐานรากก็จะเกิดขึ้นตามมา

           และในมิติทางสังคมคือ กลไกการเลื่อนไหลทางสังคม (Social Mobility) ควบคู่กับกลไกการผนึกกำลังทางสังคม (Social Collaboration)ซึ่งจะทำให้สังคมสมานฉันท์ (Social Cohesion)เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

           อย่างที่ทราบกันดี ในทุกสังคมจะมีคนอยู่ 4 กลุ่มคือ 1) ยากจนข้นแค้น 2) พอประทังชีวิต 3) พอเพียง และ 4) ยั่งยืน จากความเหลื่อมล้ำที่สูงในสังคมไทยทำให้คนทั้ง 4 กลุ่มต่างคนต่างอยู่(สะท้อนผ่านทุนสังคมที่มี Bonding สูง แต่ Bridging ต่ำ) ดังนั้นจะต้องสร้างสังคมที่ทำให้คนแต่ละกลุ่มสามารถเลื่อนไหลไต่ระดับทางสังคมของตนเองได้ พร้อม ๆ กันกับสร้างสังคมที่คนที่อยู่ข้างบนกว่า (นั่นคือกลุ่มยั่งยืนและกลุ่มพอเพียง) ช่วยเหลือเกื้อกูลและแบ่งปันคนที่อยู่ข้างล่าง (นั่นคือกลุ่มยากจนข้นแค้นและกลุ่มพอประทังชีวิต) เพื่อตอบโจทย์ Collective และ Planetary Wellbeing ด้วยการฟื้นฟูและเยียวยาให้กับคนที่ยากจนข้นแค้นผ่านมาตรการ Social Safety Net การสร้างโอกาสและแต้มต่อให้กับคนที่พอประทังชีวิตผ่านมาตรการ Social Immunity การพัฒนาและสร้างเครือข่ายให้กับคนที่พอเพียงผ่านมาตรการ Social Efficiencyและการทำให้คนที่ยั่งยืนเกื้อกูลและแบ่งปันผ่านมาตรการ Social Collaboration ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนอยู่ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ว่าด้วยการรู้จักเติม รู้จักพอ และรู้จักปัน

 

พลิกเกมด้วย BCG เชิงพื้นที่

          โมเดลเศรษฐกิจ BCG นั้นมีในหลากหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือ BCG เชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้าง Inclusive และ Sustainable Growth Engine ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

           ในอดีตเกษตรกรไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรแบบดั้งเดิม แม้ว่าในปัจจุบันเกษตรกรแบบดั้งเดิมเริ่มมีจำนวนน้อยลง และกลายเป็นผู้ประกอบการชนบทมากขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มยากจนข้นแค้นและกลุ่มพอประทังชีวิตเราจะต้องทำให้พวกเขาเหล่านี้ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เปลี่ยนไปสู่กลุ่มที่พอเพียงและกลุ่มที่ยั่งยืน ด้วยการแปลงเกษตรกรแบบดั้งเดิมและผู้ประกอบการชนบทไปสู่การเป็น “ผู้ประกอบการ BCG” เป็นการยกระดับ Value Adding ที่เขาเหล่านั้นมีอยู่ ให้กลายเป็น Value Creation ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีชุดโอกาสจากการมีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หากทำได้สำเร็จก็จะทำให้ความเหลื่อมล้ำค่อย ๆ หมดไป ก่อเกิดเป็นระบอบทุนนิยมชนบท เกิดกระบวนการประชาธิปไตยจากข้างล่าง สร้างสังคมสมานฉันท์ พร้อม ๆ กับการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

 

BCG เชิงพื้นที่จึงเป็นฐานรากสำคัญของ Inclusive Political Economy พร้อม ๆ กับการตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยในเวลาเดียวกัน

 

ร่วมสร้างอนาคตที่สดใสกว่านี้

         เมื่อสามารถผลักดันให้เกิดการขยับปรับเปลี่ยนไปสู่ Inclusive Political Economy ที่เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนการพัฒนาสู่ความยั่งยืน อนาคตที่สดใสจึงจะเกิดขึ้นได้จริง ฉากทัศน์ของการไปสู่ “อนาคตที่สดใส” เป็นดังต่อไปนี้

 – The Future of Science, Technology & Innovation ที่จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยต้องเปลี่ยน

  • จาก Science for Modernity เป็น Science for Sustainability
  • จาก Technology for Productivity เป็น Technology for Humanity
  • จาก Exclusive Innovation เป็น Inclusive Innovation

– The Future of Education ที่จะไม่ใช่ School Based อีกต่อไป แต่เน้นการเรียนรู้จากโลกความเป็นจริงทั้งจากโลกกายภาพและโลกเสมือน รวมถึงต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ การศึกษา และการเรียนรู้ใหม่

  •  จาก The School is My World ไปเป็น The World is My School
  • จาก Unity & Uniformity ไปเป็น Diversity & Inclusiveness
  • จาก Reward Competition ไปเป็น Reward Collaboration

– The Future of Human Capitalizationภายใต้ The World is My School กระบวนการเรียนรู้จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเป็น “4 E Model” ที่ต้องจุดประกายให้เยาวชนกล้าที่จะสำรวจสืบค้น (Exploring) ทดลองปฏิบัติ (Experimenting) เสริมสร้างประสบการณ์ (Experiencing) และแลกเปลี่ยนแบ่งปัน (Exchanging) ในทำนองเดียวกันต้องมี “4 L Model” ที่ต้องทำให้เยาวชนรักที่จะเรียนรู้ (Love to Learn) เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ (Learn to Learn) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่จะรอด (Learn to Live) เพื่อสร้างความเป็นตนผ่านการมี Head & Hand ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ที่จะรัก (Learn to Love) เพื่อสร้างความเป็นคนผ่านการมี Heart & Harmony

 – The Future of Youth ในอดีตจวบจนปัจจุบันนโยบายและมาตรการต่าง ๆ มักจะคิดโดยคนรุ่นเก่าและทำโดยคนรุ่นเก่า หรือคิดโดยคนรุ่นเก่าเพื่อให้คนรุ่นใหม่ทำ จากนี้ไปเราต้องให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้คิดและได้ทำ หรือให้คนรุ่นใหม่ได้คิดเพื่อให้คนรุ่นเก่าทำ รวมถึงต้องเชื่อว่าเยาวชนคือ Future Changer ต้องสร้างเยาวชนให้เป็น Global Engaged Citizen และต้องผลักดันให้เยาวชนเป็น Soft Power Ambassador ซึ่งSoft Power ของประเทศไทยที่มีลักษณะโดดเด่น สามารถตอบโจทย์โลกหลังโควิด-19 ที่เต็มไปด้วยคลื่นวิกฤตเชิงซ้อนมากมาย ก็คือความสามารถในการเชื่อมโยงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ขับเคลื่อนผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นั่นเอง

 – The Future of Work การดำรงชีวิตจากนี้ไปไม่ได้เป็น Linear Life ที่เป็นการเรียนรู้และออกไปทำงานเพื่อให้มีชีวิตรอด แต่เป็น Circular Life ที่ต้องเรียนรู้ต่อไปตลอดชีวิตไม่ได้จบอยู่แค่การเรียนรู้และการทำงานเพื่อให้มีชีวิตรอด รวมถึงจะต้องมีการปรับสมดุลระหว่างโอกาสและขีดความสามารถที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 – The Future of Industry อุตสาหกรรมจากนี้ไปจะต้องตอบโจทย์ความยั่งยืนและความเท่าเทียม ดังนั้นเราจะต้องเปลี่ยน

  • จาก Business as Economic Growth Engine ไปเป็น Business as Inclusive &Sustainable Growth Engine
  • จาก Competitive Mode of Production & Consumption ไปเป็น Responsible Mode of Production & Consumption
  • จาก Exploiting the Commons ไปเป็น Protecting the Commons

– The Future of Business เมื่อภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยน ภาคธุรกิจเองก็ต้องปรับ

  • จาก Profit-Driven Business ไปเป็น Purpose-Driven Business มากขึ้น
  • จากมีเพียง Market Wisdom ไปเป็นมี Moral Wisdom ควบคู่ไปด้วย
  • จาก Doing Well Then Doing Good(ผ่าน CSR) ไปเป็น Doing Well By Doing Good (ผ่าน ESG)
  • จากมองแค่ Shareholder Value Creation ไปเป็นมอง Stakeholder Value Creation
  • จาก Financial Return ไปเป็น Economic & Social Returns

– The Future of Politics ทุกคนหนีไม่พ้นการเมือง โลกจากนี้ไปจะต้องทำให้เกิด “We are the 99%” โดยการปรับโครงสร้างจาก Extractive Political Economy ไปเป็น Inclusive Political Economy ด้วยการเปลี่ยน

  • จาก Vertical Power ไปเป็น Horizontal Power
  • จาก Democracy from Above ไปเป็น Democracy from Below
  • จาก Local Passive Citizen ไปเป็น Global Engaged Citizen
  • จาก Centralized Hierarchical Structure ไปเป็น Multilayer Polycentric Network
  • จากการ Command & Control ไปเป็น Coordination & Collaboration

          ในวิกฤติมีโอกาสเสมอ หากประเทศไทยสามารถผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างจริงจัง โอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศในโลกที่หนึ่ง เป็นประเทศที่พัฒนาอย่างยั่งยืน ก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ที่มา https://thaipublica.org/2022/09/suvit-maesincee29/