ดร. อนงค์ลักษณ์ พันธุ์พรหมธาดา

“การพัฒนาที่ยั่งยืน” จะช่วยปรับสมดุลของสภาพแวดล้อม จาก “ความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์”

การพัฒนาสมรรถนะของตัวเอง ค้นคว้าหาความรู้และนำสิ่งที่ได้มาปรับปรุงพัฒนางานให้ดีขึ้น คือจุดเริ่มต้นในการพัฒนาที่ยั่งยืน

          มาร่วมเปิดมุมมอง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ไปด้วยกัน ผ่านบทสัมภาษณ์จากผู้สำเร็จการศึกษา หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการพัฒนาสังคม คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ “ดร.อนงค์ลักษณ์ พันธุ์พรหมธาดา” นักทรัพยากรบุคคล ชำนาญการพิเศษ สถาบันพระบรมราชชนก

          “การพัฒนาที่ยั่งยืน จะช่วยปรับสมดุลของสภาพแวดล้อม จาก “ความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์”” ดร.อนงค์ลักษณ์ พันธุ์พรหมธาดา ตัวแทนผู้สำเร็จการศึกษา คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร กับบทบาทนักพัฒนาบุคคล มองว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มต้นจากการ “พัฒนาสมรรถนะของตนเอง”

“การพัฒนาที่ยั่งยืน” จะช่วยปรับสมดุลของสภาพแวดล้อม จาก “ความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์”

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มต้นจากการ “พัฒนาสมรรถนะของตนเอง” โดยการเสริมทักษะ ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม และจัดระบบความคิดให้เป็นระบบ นำสิ่งที่ได้ มาปรับปรุง พัฒนางานให้ดีขึ้น การพัฒนาสมรรถนะของตนเอง เป็นการปลุกพลังในตัวเอง แล้วเราจะสามารถนำพลังเหล่านั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้ดีขึ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการตอบสนองความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ ซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้จะช่วยปรับสมดุลของสภาพแวดล้อม รวมทั้งการลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ ของสังคม

          การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเหมือนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง มีเงื่อนไขทางความรู้และคุณธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดสมดุล และเกิดความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เรายังสามารถนำสิ่งนี้มาปรับใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

          ในด้านการทำงานของโครงการพัฒนาศักยภาพในการทำงาน เป็นโครงการที่ทำให้นักวิจัยนำงานวิจัยที่ได้ มาต่อยอดพัฒนานวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ เราทำงานในส่วนของการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาให้เกิดนวัตกรรม เพื่อให้นวัตกรรมเหล่านั้นสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้เกิดขึ้นระหว่างภายในองค์กรกับภายนอกองค์กรของเรา และสุดท้ายสามารถนำนวัตกรรมนั้นมาจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาได้ เป็นการต่อยอดทางความคิดของเรา งานวิจัยที่เราได้ จะไม่ได้เป็นเพียงงานวิจัยขึ้นหิ้งเท่านั้น เพราะเราได้นำสิ่งนั้นมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เท่ากับว่าเราได้ “พัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาไปถึงระดับสังคมและประเทศ

เรียนต่อกับนิด้าเป็นอย่างไร

          ครั้งแรกที่เรามองหาสถาบันที่เรียนต่อเพื่อเสริมและพัฒนาสมรรถนะของตนเอง เหมือนเรากำลังมองหาร้านตัดสูทสักร้านหนึ่ง ที่ตัดออกมาแล้วเราสวมใส่แล้วเป็นอย่างไร นั่นคือผลลัพธ์ที่เรามองว่า “เมื่อเราเดินออกมาแล้ว เราจะเป็นเช่นไร” การเข้ามาเรียนต่อทำให้เราได้ “พัฒนาตนเอง” เราได้ปรับเปลี่ยนมุมมอง ปรับเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ ๆ และเราสามารถปรับกรอบความคิดการทำงานให้เป็นระบบได้มากขึ้น

นิด้าเปรียบเสมือนมันสมองของประเทศ ที่สร้างผู้นำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน