การพัฒนาที่ยั่งยืนที่เริ่มต้นจากตัวเราที่ง่ายที่สุด คือ “ความพอดี” เช่น การสั่งอาหารแค่พอดี เพราะถ้าเหลือทิ้งก็นับเป็นการสูญเสียที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์
มาร่วมเปิดมุมมอง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ไปด้วยกัน ผ่านบทสัมภาษณ์จากผู้สำเร็จการศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ “อภิชญา ปิยะปราโมทย์” วิศวกรอาวุโส หน่วยงานวางแผนอะไหล่ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด (นิคมอุตสาหกรรมนวนคร)
“ถ้าเราใช้ชีวิตแบบพอดี ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป สั่งอาหารแค่พอดี กินแต่พอดี รวมถึงการประหยัดพลังงาน นอกจากที่เซฟเงินเราแล้ว ยังเซฟพลังงานของโลกอีกด้วย” อภิชญา ปิยะปราโมทย์ ตัวแทนผู้สำเร็จการศึกษา คณะสถิติประยุกต์ สะท้อนมุมมองการพัฒนาที่ยั่งยืน คือการใช้ชีวิตอย่าง “พอดี”

การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่ไม่ได้มองแค่ในระยะสั้น ๆ และก็ไม่ได้มองของมุมตัวเอง แต่ต้องมองไปถึงอนาคตและสิ่งรอบข้าง รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งบุคคลและสิ่งแวดล้อม มนุษย์อยู่ด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน ถ้าเกิดว่าคนอื่นอยู่ได้ ยังไงเราก็อยู่ได้ สำหรับตัวเราเอง ถ้าเราใช้ชีวิตแบบพอดี ไม่ต้องมากแล้วก็ไม่ต้องน้อยจนเกินไป เราก็จะไม่สูญเสียทรัพยากรเกินความจำเป็น
ในการเรียนต่อที่นิด้าควบคู่กับการทำงาน ได้ต่อยอดงานวิจัย เชื่อมโยงข้อมูลสถิติด้านโลจิสติกส์ ลดความสูญเสียจากกระบวนการวางแผนการผลิต เพื่อให้เกิดการแข่งขันองค์กรทางด้านโลจิสติกส์ที่ยั่งยืน เล่าถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า เป็นการปรับปรุงนโยบายการสั่งซื้อสินค้า ประเภทอะไหล่เครื่องจักรกลของเกษตร เนื่องจากการปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรจะเป็นเฉพาะฤดูกาล เพราะฉะนั้นต้องปรับปรุงการสั่งซื้อสินค้าให้สอดคล้องกับฤดูกาลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด จากการที่เราปรับปรุงนโยบาย เราสามารถลดต้นทุนการจัดสินค้าคงคลังได้ประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อปี
เรียนต่อกับนิด้าเป็นอย่างไร
สิ่งที่นิด้าให้ในการเรียนต่ออย่างแรกเลย คือความรู้ และนอกจากความรู้ ก็จะเป็นเรื่องของสังคม (Connection) ที่มีทั้งอาจารย์และเพื่อน ๆ มิตรภาพ นอกจากนี้นิด้ายังมอบทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ให้มุมมองหลาย ๆ อย่างแก่สังคม และให้แนวทางในอนาคตของสังคม ด้วยหลักสูตรที่ทันสมัย มีเครื่องมือที่เท่าทันเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับสังคม