การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ได้เกิดขึ้นและสำเร็จได้ภายใน 1-2 วัน แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และเป็นรูปธรรม จึงจะเรียกว่าเป็น “การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง”
มาร่วมเปิดมุมมอง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ไปด้วยกัน ผ่านบทสัมภาษณ์จากผู้สำเร็จการศึกษา หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ “ณชนก ฤทธิ์มนตรี” เจ้าหน้าที่โครงการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์
“เราต้องใส่ใจต่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ หากเราละเลยผลกระทบอาจย้อนกลับมาที่ตัวเรา” ณชนก ฤทธิ์มนตรี ตัวแทนผู้สำเร็จการศึกษา คณะบริหารธุรกิจ กับบทบาทคนทำงานเพื่อพัฒนาชุมชน ให้มุมมองต่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” สามารถเริ่มได้ที่ “ตัวเรา”

ปัจจุบันโลกของเราอยู่ใน “สภาวะโลกรวน” สังเกตได้จากสภาพอากาศเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โลกร้อนมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศที่ย่ำแย่ลง เช่น ฝุ่น PM2.5 การใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เราจึงต้องใส่ใจต่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ หากเราละเลยผลกระทบอาจย้อนกลับมาที่ตัวเรา หากยกตัวอย่างการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบง่าย ๆ ต้องเริ่มที่ตัวเราเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด เช่น การจัดการขยะในบ้านของเราเอง หรือการพกกระบอกน้ำ ขวดน้ำส่วนตัว เป็นการช่วยลดขยะพลาสติก จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากตัวเรา จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ได้เกิดขึ้นและสำเร็จได้ภายใน 1-2 วัน แต่ต้องทำต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เป็นรูปธรรม จึงจะเรียกว่าเป็น “การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง”
การเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ในส่วนของโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่า เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นงานทำงานร่วมกันของ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย ชุมชน รัฐบาล และเอกชน โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเป็นตัวกลางระหว่าง 3 หน่วยงาน เราดำเนินการสำรวจพื้นที่ สำรวจความต้องการของชุมชน “ชุมชนต้องการอะไรในการพัฒนาพื้นที่” และเน้นการดูแลสิ่งแวดล้อมของป่า เราจะทำอย่างไรไม่ให้พื้นที่ป่าในชุมชนลดลง
เมื่อชุมชนพร้อมรับหน้าที่ในการดูแลป่าของชุมชน ชุมชนจะต้องทำข้อเสนอโครงการให้แก่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่ออนุมัติโครงการ โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะจัดการอบรมให้แก่ชุมชน ซึ่งข้อเสนอโครงการจะมีการทำกองทุน จำนวน 2 กองทุน และจะได้รับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชน ได้แก่ กองทุนที่ดูแลป่า และกองทุนพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยชุมชนจะเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการเงินสนับสนุนของตนเอง และมูลนิธิจะมีการติดตามผลการดำเนินงาน และตรวจสอบการทำบัญชีว่าเป็นไปตามข้อเสนอที่ชุมชนจัดทำหรือไม่ ใช้เงินได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยโครงการจะต้องมีการพัฒนาที่ยั่งยืนและต่อเนื่อง
“บ้านต้นผึ้ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่” เป็นอีก 1 ชุมชนภายใต้โครงการนี้ที่ประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการบริหารจัดการการดูแลป่า นำเศษเชื้อเพลิงจากผืนป่า เช่น ใบไม้ที่ร่วง (ใบตองตึง) นำมาสร้างจานใบไม้เพื่อสร้างมูลค่า สามารถจำหน่าย ส่งออกได้ในชุมชนและทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังได้ร่วมทำ “กองทุนพัฒนาอย่างยั่งยืน” สำหรับการพัฒนาอาชีพให้แก่ชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน เกิดการสร้างรายได้ และมีความมั่นคงทางอาหาร
เรียนต่อกับนิด้าเป็นอย่างไร
การเรียนต่อที่นิด้า ช่วยสนับสนุนในเรื่องของการทำงาน ที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่องการบริหารการจัดการ การวางแผน บริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะว่านิด้าจะเด่นในเรื่องของการบริหารจัดการในทุก ๆ ด้าน พอได้เข้ามาเรียนก็สามารถที่จะจัดการบริหารงานได้ดียิ่งขึ้น จากที่เรียนเฉพาะปริญญาตรีไม่ได้เน้นในเรื่องของการบริหาร แต่มาเรียนตรงนี้ทำให้เรารู้หลักการบริหาร สามารถจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้นิด้าให้ “สังคม” ผู้ที่เข้ามาศึกษาต่อในนิด้ามีช่วงอายุที่หลากหลายตั้งแต่ First Jobber ไปถึงระดับผู้บริหาร ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพราะบางครั้งเราอาจจะไม่ได้เจอประสบการณ์นั้นโดยตรง แต่เราก็สามารถนำประสบการณ์จากคนอื่น ๆ มาปรับใช้และต่อยอดการทำงานของเราได้