หัวใจสำคัญของการฝึกภาษาอังกฤษ คือทำอย่างไรก็ได้ให้เราสามารถอยู่กับภาษาอังกฤษได้มากและนานที่สุด โดย จะขอเน้นที่ทักษะการฟังและการอ่านก่อน Listening และ Reading เราจำเป็นที่จะต้องทำการ “Decode Messages คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ได้ความหมายของข้อคำหรือถ้อยความที่อยู่ตรงหน้าเรา โดยจะขอพูดในมิติการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันมาเป็นตัวช่วยอย่างชาญฉลาดเพื่อสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืน
โดย ผศ.ดร.ภัทราวุธ เจริญรูป คณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
พอเราพูดถึงเรื่องของทักษะ อาจารย์แบ่งทักษะออกเป็นกว้าง ๆ 2 ทักษะ ทักษะแรกที่อยากนำมาให้รู้จักก็คือ ทักษะที่เรียกว่า receptive skills คือทักษะให้เรารับมันเข้ามา คำว่า receptive มาจากคำว่า receive คือ รับ เราใช้อะไรรับบ้าง แน่นอนเราใช้หูในการฟัง เราใช้ตาในการอ่าน เพราะฉะนั้นทักษะที่เราพูดถึงก็คือ listening และ reading ทั้งสองทักษะคือ การ decoding ตัว messages ที่มีคนสร้างไว้ แต่เรา decode มันออกมา นั่นคือ work out for meaning ทำยังไงก็ได้ให้เราทราบความหมาของข้อความหรือถ้อยความที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า เราจึงได้ยินคำว่า comprehension อยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาที่เราไปสอบ จะมีคำว่า reading comprehension หรือ listening comprehension เมื่อเราอ่านแล้วเข้าใจไหม เมื่อเราฟังเราเข้าใจหรือเปล่า

ทีนี้อยากจะนำไปสู่เรื่องของแต่ละทักษะ เริ่มต้นจากการอ่าน reading comprehension มีงานวิจัยมากมาย บอกว่า reading comprehension เป็นสิ่งที่ท้าทาย ถ้าเราถามผู้เรียนว่า ความยากของการอ่านอยู่ที่เรื่องอะไร จะมีคนให้ factors หรือปัจจัยมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ เรื่องคำศัพท์ ทำอย่างไรให้เราเข้าใจคำศัพท์โดยใช้แอปพลิเคชั่น หรือสื่อช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ ช่วยให้เราเข้าใจความหมายคำศัพท์ได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น อาจารย์ขอแนะนำดิกชั่นนารี่ ซึ่งเป็นออนไลน์ดิกชั่นนารี่ ที่ใช้อยู่บ่อย ๆ ก็คือ Cambridge Dictionary ถ้าเราเข้าไปตามช่องทางนี้ เพียงแค่พิมพ์คำว่า Cambridge Dictionary เราสามารถใส่คำที่เราไม่รู้จักเข้าไป เมื่อเราค้นหาคำนั้น สิ่งที่เราได้ไม่ใช่เพียงแค่คำจำกัดความหรือความหมายที่ถูกต้องของคำศัพท์คำนั้น แต่จะรู้เรื่องลักษณะทางไวยากรณ์ ยกตัวอย่างเช่น คำคำนี้เป็นคำที่มีชนิดของคำว่าอะไร คำคำนี้เมื่อใช้ในประโยคควรใช้อย่างไร มันจะมาพร้อมกับ example ทำไมถึงอยากให้ใช้ dictionary ที่เป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากว่าถ้าเราใช้ dictionary หรือพจนานุกรมที่เป็นภาษาไทยแล้วเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาอังกฤษแล้วเป็นภาษาไทย สิ่งที่เราได้จะใช่คำจำกัดความ แต่จะเป็นคำแปล เมื่อเรานำคำแปลมาใช้ในกระบวนการการสื่อสาร มันจะผ่านขั้นตอนการแปลทุกอย่าง เราจะคิดเป็นภาษาไทยแล้วก็จะแปลเป็นภาษาอังกฤษ เราจะเขียนแล้วก็คิดภาษาไทยแล้วก็แปล ขั้นตอนแบบนี้ทำให้การทำงานมันลำบากขึ้น แต่ถ้าเราหันมาใช้ dictionary หรือว่าพจนานุกรมภาษาอังกฤษ เราจะเข้าใจ definition เป็นภาษาอังกฤษทันที

อีกอัน หนึ่ง ซึ่งอาจารย์คิดว่ามีประโยชน์ก็คือ sentence examples ชื่อว่า YourDictionary.com ลอง search เข้าไปแล้วพิมพ์คำที่เราอยากรู้ว่า ถ้าคำ ๆ นี้ไปปรากฏในประโยคจะปรากฏอยู่ในตำแหน่งไหน และมีความหมาย ประมาณใด เราสามารถเห็นตัวอย่างได้ เพราะฉะนั้นการเรียนคำศัพท์ที่เราไม่รู้ ต้องทราบความหมาย ซึ่งความหมายมากกว่าคำแปล เพราะฉะนั้นความหมายที่ต้องการให้ทุกคนได้ก็คือความหมายที่เป็น definition เสร็จแล้วเราต้องรู้จักชนิดของคำ รู้จักคุณสมบัติของคำ คำนี้เป็นคำนาม นับได้หรือนับไม่ได้ คำนี้เป็น verb เรียกว่า transitive หรือ intransitive พจนานุกรมไทยหลายเล่มไม่ได้ให้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไว้
ทักษะที่ 2 ในเรื่องของ receptive ก็คือเรื่องของ listening หรือการฟัง เราฟังโดยใช้หู ถูกไหมครับ ปัญหาในการฟัง หรือ listening difficulties สำหรับผู้เรียนที่เป็น foreign language learners มักจะเป็นสองเรื่องหลัก ๆ คือ เรื่องของ accent หรือสำเนียง เราอาจจะไม่คุ้นชินสำเนียงใดสำเนียงหนึ่ง หรือสำเนียงของกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าทำไมเราฟังสำเนียงนี้แล้วไม่เข้าใจเลย อีกปัญหาหนึ่งก็คือ rate of delivery หรือ จังหวะความเร็วนั่นเอง จะได้ยินนักเรียนไทย หรือ คนไทยพูดอยู่เสมอว่าฝรั่งพูดเร็วมาก ความเป็นจริงคือ เขาเหล่านั้นพูดในจังหวะปกติที่เป็นธรรมชาติ แต่เวลาที่เราเรียนในชั้นเรียน จังหวะมักจะถูกปรับให้ช้าลงกว่าความเป็นจริง ทำให้เราชินกับการฟังภาษาอังกฤษในจังหวะที่ช้า เราต้องหาโอกาสฟังภาษาอังกฤษในจังหวะปกติที่เป็นธรรมชาติให้บ่อยที่สุด
อาจารย์แนะนำ YouTube เราสามารถเข้าไปแล้ว search หัวข้อให้เราสนใจเรื่องอะไรก็ได้มีทุกเรื่อง ถ้าเราเป็น beginner เราอาจจะไม่ทันคำศัพท์ บางคำพูดเร็วเกินไป ช่องข้างล่าง ถ้าเรามองในช่อง YouTube ด้านล่างจะมี ช่องที่เขียนว่า Subtitles หรือ Closed Captions (CC) ไปคลิกตรงนั้น subtitle อาจจะไม่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มีความใกล้เคียงกับสิ่งที่พูดออกมา ประมาณ 80 – 90% จะช่วยเราได้ดีทีเดียว ถ้าเราฟังอย่างเดียว ความยากอาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากปัจจัยด้านสำเนียง หรือความช้าเร็ว แต่ถ้ามีตัวหนังสืออักษรกำหนดขึ้นมาด้วย จะทำให้เราเข้าใจภาษาอังกฤษได้ง่ายขึ้น
หัวใจสำคัญของการฝึกภาษาอังกฤษนอกจาก practice makes perfect แล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องอยู่กับภาษาให้ได้มากที่สุด ให้ได้นานที่สุด ต้องโปรโมทเรื่องความยั่งยืน ซึ่งนั่นคือ self-reliance
สามารถอ่าน บทความก่อนหน้านี้ ได้ที่
Sustainable Development : เรียนภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 21 นี้อย่างไรให้ยั่งยืน Part 1
