Quality Education เป้าหมายที่ 4 ของ SDGs ไม่ได้หมายถึงคุณภาพของการศึกษาเท่านั้น แต่รวมไปถึงการกระจายการศึกษาไปสู่ทุกคนอย่างเท่าเทียม ในศตวรรษที่ 21 สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ถูกสร้างไว้พร้อมหมดแล้ว นับเป็นโอกาสและความโชคดีต่อการพัฒนาและฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษ เพียงแต่เราต้องนำมาใช้อย่างถูกต้อง ด้วยประโยคทองที่ว่า “Practice Makes Perfect การฝึกฝนเท่านั้นทำให้ทักษะภาษาอังกฤษของเราดีขึ้น”
โดย ผศ.ดร.ภัทราวุธ เจริญรูป คณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
สวัสดีครับ ผมอาจารย์ภัทราวุธ เจริญรูป จากคณะภาษาและการสื่อสาร วันนี้อยากมาทำความเข้าใจกัน ในเรื่องของ Sustainable Development ในด้านการสอนภาษาอังกฤษ หัวข้อที่ผมอยากจะนำไปพูดคุยกันในวันนี้ ก็เป็นเรื่องใกล้ ๆ ตัว เรื่องที่เรากำลังจะพูดถึงก็คือ เราจะเรียนหรือจะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษอย่างไรในศตวรรษที่ 21 นี้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ก่อนอื่นผมอยากจะทำความเข้าใจกันว่า คำว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development ที่ว่ากันตรงนี้ เริ่มต้นจริงๆ มีคนพูดถึงกันมานานแล้ว แต่เริ่มต้นจริงจัง ตั้งแต่กำหนดมีการกำหนดเป็นกรอบตั้งแต่ปี 2015 คำจำกัดความสั้นๆ ก็คือ เมื่อใดก็ตามที่เรานึกถึงการใช้ทรัพยากรในปัจจุบันที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ดีที่สุด โดยไม่ไปเบียดบังหรือไปใช้ทรัพยากรในอนาคต แล้วทำให้คนในอนาคตต้องเดือดร้อน นั่นเรียกว่าการพัฒนา หรือการทำงานที่ยั่งยืน จึงเป็นที่มาว่า แล้วถ้าเราเรียนภาษาอังกฤษ เราควรทำอย่างไรให้การพัฒนาเหล่านั้นเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
ก่อนจะไปถึงตรงนั้น อยากนำพามาสู่เรื่องของข้อกำหนดทั้งหมด 17 ข้อ ทั้ง 17 ข้อนี้มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศชาติในโลกใบนี้ เดินไปสู่การพัฒนาพร้อมกัน ซึ่งในปัจจุบันนี้ 193 ประเทศ ได้ตกลงและจะใช้การพัฒนาแบบยั่งยืนนี้ไปด้วยกัน โดยองค์การสหประชาชาติ UN – United Nations ได้กำหนดโครงร่างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2015 และจะเดินทางไปจนถึงปี 2030 ใช้กรอบระยะเวลาประมาณ 15 ปี ในการที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ เพื่อป้องกัน รับมือและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อาทิ ความยากจน climate change สภาวะอากาศต่าง ๆ รวมถึงเรื่องการศึกษาด้วย

วันนี้ผมจะนำทุกท่าน ไปรู้จักกับข้อกำหนดที่ 4 ซึ่งคือ “การศึกษา” พอเราพูดถึงเรื่องของการศึกษา สิ่งที่สำคัญ ก็คือเรื่อง quality education ซึ่งไม่ได้หมายถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่รวมไปถึงเรื่องการกระจายการศึกษาไปสู่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ถ้าเราลองไป search ดูคำที่เป็น keywords หรือคำสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกันนี้เราจะพบคำต่าง ๆ มากมาย เช่น Equal Opportunity การศึกษาที่ทุกคนมีความเสมอภาคกัน Equal Access การเข้าถึงการศึกษาโดยไม่มีข้อจำกัด Equitable Education, Inclusion and Education การศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และ Learning Opportunity โอกาสทางการศึกษา

Learning Opportunity คือโอกาสในการเรียนรู้ ในสมัยก่อนทุกคนพูดถึงโอกาสของการเรียนรู้ มันเป็นเรื่องที่เราต้องสร้างขึ้นมา คนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีระดับโลกเลย ก็คงหนีไม่พ้นแจ็คหม่า แจ็คหม่าไม่ได้เป็น native speaker เป็นชาวจีน ก็มุ่งมั่นในการที่จะฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษ แจ็คหม่าขี่จักรยานจากบ้านเข้าไปในเมืองเข้าไปหลายกิโลเมตร เพื่อนำตัวเองเข้าไปอยู่ในโอกาสที่มีคนต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมเมืองจีนแล้วได้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ทำเช่นนี้เป็นประจำ จนได้ภาษาอังกฤษขึ้นมา แต่ในศตวรรษที่ 21 สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับเราทุกคน เป็นเรื่องที่ต้องเรียกว่าโชคดี เพราะว่าโอกาสเหล่านั้น ได้ถูกสร้างไว้หมดแล้ว เพียงแค่เรานำมันมาใช้ให้ถูกต้องเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นในศตวรรษที่ 21 คำว่า Learning Opportunity โอกาสในการเรียนรู้เพื่อจะฝึกภาษาอังกฤษ ในมุมมองของผมจึงเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ๆ หากเรารู้จักนำตัวเราเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่ถูกต้อง ใช้แอพพลิเคชั่นที่เหมาะสม เข้าไปดูในช่องทางโซเชียลมีเดียที่มีคุณภาพ เป็นสื่อที่ใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้อง ทักษะภาษาอังกฤษของเราก็จะพัฒนาได้ไม่ยากเลย แต่ทั้งหมดทั้งปวงไม่ว่าจะมีการสร้างขึ้นมาแล้ว หรือเราต้องสร้างมัน ประโยคทองหรือเป็น the golden rule ก็คือว่า practice makes perfect การฝึกฝนเท่านั้นจะทำให้ทักษะภาษาอังกฤษของเราดีขึ้น
ในช่วงถัดไป อาจารย์ก็จะมาเล่าให้เราฟังว่าเราจะพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง โดยใช้ในแอปพลิเคชั่น บนโลกโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีอยู่เเล้วเพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของเรากันครับ
