ลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุด้วย AAI

ลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุด้วย AAI

โดย รศ.ดร. อมรรัตน์ อภินันท์มหกุล, ศ.ดร. ศาสตรา สุดสวาสดิ์, รศ.ดร. ประสพโชค มั่งสวัสดิ์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุด้วย AAI

            จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโครงสร้างอายุประชากรไทย ทำให้ประเทศไทยมีเวลาในการเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด (Super-aged society) ค่อนข้างจำกัด โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเกือบหนึ่งในสามหรือประมาณร้อยละ 32 ของประชากรไทยในอีกประมาณยี่สิบปีข้างหน้า (พ.ศ.2583) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนี้ จะส่งผลต่อระบบสวัสดิการทางสังคมของไทย โดยเฉพาะระบบการดูแลระยะยาว (Long Term Cares: LTCs)

            องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้ให้นิยาม ‘ระบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว (LTCs)’ หมายถึง ความต้องการด้านการดูแลสำหรับบุคคลที่ต้องใช้เวลามากกว่าปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐาน (basic Activities of Daily Living: ADLs) อาทิ การอาบน้ำ การใส่เสื้อผ้า การรับประทานอาหาร ตลอดจนการลุกนั่งจากเตียงหรือเก้าอี้ เป็นต้น รวมถึงความต้องการช่วยเหลือในการใช้เครื่องมือเพื่อการใช้ชีวิตประจำวัน (Instrumental of Activities of Daily Living: IADLs) เช่น การทำความสะอาดบ้าน การประกอบอาหาร การช้อปปิ้ง และการเดินทาง เป็นต้น แต่ระบบการดูแลระยะยาวของประเทศไทยปัจจุบัน ยังเน้นด้านสาธารณสุขหรือการดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นหลัก การให้บริการด้าน ADLs และ IADLs จำกัดเฉพาะในครัวเรือนที่มีความพร้อม หรือมีฐานะดีพอที่จะซื้อบริการเอกชนได้

            แต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยทำให้ครัวเรือนไทยมีขนาดเล็กลง โอกาสที่ผู้สูงอายุในอนาคตจะพึ่งพิงระบบครอบครัวช่วยดูแลในยามเจ็บป่วย หรือช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวันภายในบ้าน ก็จะมีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย ระบบสนับสนุนจากภาครัฐในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (LTCs) จึงมีความจำเป็นมากขึ้น ในการเตรียมพร้อมของประเทศไทยเพื่อเข้าสังคมสูงวัยขั้นสุดยอด ที่ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระบบการดูแลผู้สูงอายุจึงควรขยายขอบเขตไม่จำกัดเฉพาะเมื่อเจ็บป่วยติดเตียงแล้ว แต่ควรให้ความช่วยเหลือที่ครอบคลุมด้านการใช้ชีวิตประจำวัน ด้านเศรษฐกิจ และสังคมด้วย ตลอดจนการสร้างเสริมสุขภาพให้ผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงอยู่ ให้สามารถดูแลตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันให้ได้นานที่สุด ป้องกันหรือชะลอการเป็นผู้ป่วยติดเตียงออกไปให้นานที่สุด

            อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้นิยาม ‘พฤฒพลัง (Active Ageing)’ ว่าเป็นกระบวนการสร้างโอกาสที่เหมาะสมในด้านสุขภาพ การมีส่วนร่วม และความมั่นคง เพื่อเสริมสร้างการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยสูงอายุ (Active Ageing is the process of optimizing opportunity for health, participation and security in order to enhance quality of life as people age., WHO 2002) ในการนี้ คณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจเพื่อยุโรปขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Economic Commission for Europe: UNECE) ได้ใช้แนวคิดดังกล่าวมาพัฒนาดัชนีชี้วัด Active Ageing Index (AAI) เพื่อเปรียบเทียบระดับความกระฉับกระเฉงของผู้สูงอายุระหว่างประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป ที่มีความแตกต่างกันในทางเศรษฐกิจและสังคม อาทิ ระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ระดับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โอกาสการมีงานทำ ตลอดจนการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุตามช่วงวัยและเพศ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประเทศที่ประสบความสำเร็จ ในการพัฒนาศักยภาพของผู้สูงวัยผ่านองค์ประกอบต่างๆของดัชนี AAI เพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาผู้สูงอายุในแต่ละด้านของแต่ละประเทศ โดยดัชนี AAI ของ UNECE มี 22 องค์ประกอบ สามารถจัดหมวดหมู่เป็น 4 หมวด คือ (1) การจ้างงาน (Employment) (2) การมีส่วนร่วมทางสังคม (Social Participation) (3) ความสามารถในการดำเนินชีวิตด้วยตนเอง (Independent, Healthy and Secure Living) และ (4) ปัจจัยส่งเสริมการสร้างพฤฒพลัง (Capacity for Active Ageing) ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ดัชนีAAI ของ UNECE เป็นดัชนีในระดับมหภาค ไม่สามารถบ่งชี้ปัญหาในระดับปัจเจกบุคคล โดยเฉพะความแตกต่างในแต่ละองค์ประกอบย่อยของดัชนี ที่มีผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุต่างกัน Barslund et al. (2017) จึงได้เสนอแนวทางการวัดดัชนี AAI รายบุคคล เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรคของการส่งเสริมสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในรายละเอียด

            การศึกษาในที่นี้อาศัยแนวคิดดัชนี AAI ของ UNECE (2019) และของ Barslund et al. (2017) ในการพัฒนาดัชนี AAI ระดับบุคคลของผู้สูงอายุไทย เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของค่าดัชนีตามช่วงอายุของผู้สูงอายุที่มีสมรรถนะร่างกายต่างกัน และวิเคราะห์ผลของดัชนี AAI ต่อความสามารถในการพึ่งตนเองในชีวิตประจำวันขั้นพื้นฐาน (ADL) ของผู้สูงอายุในแต่ละกลุ่มอายุ ผลที่ได้จากการศึกษาจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดมาตรการส่งเสริมการพัฒนาพฤฒพลังของผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันหรือชะลอการเจ็บป่วยติดเตียงของผู้สูงอายุ ขยายขอบเขตการดูแลผู้สูงอายุที่ครอบคลุมมากกว่าการดูแลผู้ป่วยติดเตียงเพียงอย่างเดียว

            โดยใช้ข้อมูลจากโครงการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นข้อมูลเผยแพร่ล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติในการศึกษาวิเคราะห์ จากตัวอย่างทั้งหมด 54,355 คน ที่มีอายุระหว่าง 50-89 ปี ด้วยแบบจำลอง Ordered logistic regression พบว่า อายุที่เพิ่มขึ้นของผู้ตอบแบบสอบถาม มีผลให้ระดับการพึ่งพิงสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับร้อยละ 1 และพบว่า องค์ประกอบของดัชนีพฤฒพลังในเกือบทุกด้านส่งผลบวกต่อคะแนน ADL อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่สำคัญ ได้แก่ การมีงานทำ (Employment) และการมีความสุข (Mental wellbeing) ที่มีค่าสัมประสิทธิ์การประมาณการค่อนข้างสูง ทั้งนี้ เพราะการทำงานน่าจะมีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้ ขณะที่อารมณ์ที่แจ่มใสเบิกบานเป็นยารักษาโรคที่ดี นอกจากนี้ ยังพบว่า การออกกำลังกายเป็นประจำทุกสัปดาห์ (Physical exercise) สุขภาพที่แข็งแรง (Healthy life) ตลอดจนการดูแลเด็กหรือลูกหลานภายในบ้าน (Care to children, grandchildren) และการดูแลผู้ป่วยหรือผู้พิการในครัวเรือน (Care to infirmed and disabled) ต่างเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ การส่งเสริมการออกกำลังกายของผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงได้มีส่วนช่วยดูแลคนในครัวเรือน หรือทำงานจิตอาสาช่วยเหลือเพื่อนบ้าน หรือญาติพี่น้องที่เจ็บป่วย จะส่งผลดีทางอ้อมต่อความสามารถในการพึ่งตนเองของผู้สูงอายุด้วย

ลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุด้วย AAI

            ผลการศึกษา พบว่า การพัฒนาพฤฒพลังของผู้สูงอายุมีส่วนสนับสนุนความสามารถในการพึ่งตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐาน (ADL) ของผู้สูงอายุในทุกช่วงวัยในทิศทางเดียวกัน ทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ (50-59 ปี) กลุ่มผู้สูงอายุวัยต้น (60-69 ปี) กลุ่มผู้สูงอายุวัยกลาง (70-79 ปี) และกลุ่มผู้สูงอายุวัยปลาย (80-89 ปี) ตามลำดับ การส่งเสริมการพัฒนาพฤฒพลังของผู้สูงอายุจึงเป็นมาตรการที่จะป้องกันหรือชะลอการเจ็บป่วยติดเตียง ช่วยลดภาระของระบบการดูแลระยะยาว (Long Term Cares) ช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี สร้างคุณค่าแก่ตนเองและสังคม และพลังส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยการทำงาน (Employment) การดูแลผู้ป่วย/ผู้พิการภายในบ้าน (Care to infirmed and disabled) การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง (Physical exercise) และการมีความสุข (Mental wellbeing) เป็นปัจจัยสำคัญสี่ประการที่ช่วยให้ตัวอย่างในทุกกลุ่มอายุมีระดับการพึ่งพิงตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ด้วยเหตุนี้ การส่งเสริมการพัฒนาพฤฒพลังของผู้สูงอายุไทย จึงควรให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนปัจจัยทั้งสี่ประการดังกล่าว

[1]สรุปจากโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนาและประยุกต์ใช้ Active Ageing Index (AAI) เพื่อการออกแบบระบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว (Long Term Cares: LTCs)

ลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุด้วย AAI
ลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุด้วย AAI