โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง
โรงพยาบาลสำหรับประชาชน ที่ไม่มีสองมาตรฐานสำหรับคนรวยและคนจน ในการมุ่งมั่นดูแลผู้ด้อยโอกาส ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การรักษา แต่ช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านของตนเอง
นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2520 โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ได้ยึดถือหลักการที่จะเป็นโรงพยาบาลสำหรับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม ด้วยขนาดเพียง 60 เตียง และมีจุดเด่นในการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนในพื้นที่ ให้รวมอยู่ในวิธีการรักษาของโรงพยาบาล เช่น ในการดูแลหลังคลอด ทางโรงพยาบาลใช้สมุนไพรพื้นบ้านที่ชาวด่านซ้ายเชื่อว่ามีประโยชน์ต่อคุณแม่มือใหม่ หรือเมื่อมีผู้เสียชีวิต ทางโรงพยาบาลอนุญาตให้พระสงฆ์เข้ามาในโรงพยาบาลเพื่อสวดมนต์ให้ผู้วายชนม์
ในการต่อสู้กับโรคไม่ติดต่อ (NCDs) นพ.ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกล่าวว่า “โรงพยาบาลให้ความสำคัญกับแนวทางเฉพาะบุคคลในการต่อสู้กับโรค NCDs เนื่องจากโรคเหล่านี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละคน แพทย์จะพูดคุยกับแต่ละคนและให้คำแนะนำเฉพาะบุคคล เช่น ถ้าคนชอบรับประทานข้าวเหนียวทุเรียน แพทย์อาจไม่ได้บอกให้หยุดรับประทานเลย แต่เพียงให้รับประทานข้าวเหนียวในปริมาณที่น้อยลง” และร่วมมือกับโรงพยาบาลรามาธิบดี จัดทำเครื่องวัดเกลือ เครื่องมือวัดปริมาณความเค็มในอาหารผู้ป่วย
สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย นพ. ภักดี ยืนยันว่า วิธีรับมือกับสังคมสูงวัยของชุมชนที่ดีที่สุดคือการรับฟังปัญหา ความชอบ และวิถีชีวิตของผู้สูงวัย ด้วยการพูดคุยกับคนไข้เพื่อทำความเข้าใจว่าวิธีคิดเกี่ยวกับการทำการเกษตร และสนับสนุนให้พวกเขาปลูกข้าวพันธุ์ที่มีน้ำตาลน้อยและไม่ใช้สารเคมี แนะนำให้หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวโพดซึ่งไม่ดีต่อป่าและให้ปลูกไผ่แทนเพื่อประโยชน์ของชุมชนทั้งหมด หรือแม้แต่แนะนำเกี่ยวกับวิธีกินอาหารท้องถิ่น เช่น ต้มยำมดแดง อย่างถูกโภชนาการ นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังได้ริเริ่มกิจกรรมต่างๆ มากมายสำหรับผู้สูงอายุ โดยเชิญชวนให้มาออกกำลังกายหรือเรียนหนังสือร่วมกัน รวมถึงบริการอื่นๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
• อาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญ เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่บุคลากรทางการแพทย์จากภาคเอกชนอาสาทำงานที่โรงพยาบาลครั้งละหลายเดือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งมักมาจากแพทย์เฉพาะทาง เช่น ตา มะเร็งตับ หัวใจและผิวหนัง แพทย์เหล่านี้หลายคนยังบริจาคให้โรงพยาบาลด้วยเงินของตัวเองเพื่อช่วยเหลือชุมชน
• การช่วยเหลือผู้พิการ โรงพยาบาลด่านซ้ายทำขาเทียมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ และยังจ้างผู้พิการมาทำงานเป็นพนักงานประจำที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลได้ร่วมกับเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลในการหาที่พักที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวผู้พิการด้วย
• จากจุดพักคอยสู่อาคาร “เพาะกล้าตาโขน” เป็นผลงานการออกแบบของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่ตอบโจทย์การเสริมสร้างการออกกำลังกายของประชาชนเพื่อเอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ดี หลังจากไปรับฟังความคิดเห็นของแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ญาติ ผู้ใช้บริการ และชุมชน และปรับจุดพักคอยให้ป็นสนามเด็กเล่น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการสนับสนุนเรื่องแม่และเด็ก รวมทั้งเสริมสร้างสัมพันธภาพอันดีภายในครอบครัว
#SDG1 #SDG6 #SDG11 #SuDSESC #Nida #NIDAThailand
จากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ “Thailand’s BCG Transformation: 40 Case Studies on the Bio-Circular-Green Strategy and the Sufficiency Economy Philosophy In Action” หน้า 255 และเนื้อหาเพิ่มเติมจากหนังสือ “21 พื้นที่แห่งความสุข โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย” หน้า 82-87






