โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง
ฟาร์มสเตย์ที่มุ่งสร้าง ‘ความสุขที่ยั่งยืน’ ตามหลักพอเพียง บ้านไร่ไออรุณเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วยสร้างงาน-กระจายรายได้ให้คนในชุมชน สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ‘เมืองรอง’ ของ BCG Economy Model ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น การดูแลสภาพแวดล้อม และการท่องเที่ยวเชิงความรู้
จุดเริ่มต้น
วิโรจน์ ฉิมมี สถาปนิกหนุ่มที่ย้ายกลับบ้านเกิด และนำความรู้ด้านสถาปัตยกรรมมาปรับปรุง ‘สวนผสม’ ของพ่อแม่ให้กลายเป็นฟาร์มสเตย์ท่ามกลางธรรมชาติ “บ้านไร่ไออรุณ” บนฐานคิดการต่อยอดทรัพยากรในท้องถิ่น- ไม้ท้องถิ่น ไม้ไผ่เหลือใช้- ด้วยความคิดสร้างสรรค์ จนสามารถพัฒนาพื้นที่ที่ถูกมองว่า ‘ไร้ศักยภาพด้านการท่องเที่ยว’ เนื่องจากอยู่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยว เที่ยวบินมีจำนวนจำกัด ในปี 2557 สู่จุดหมายปลายทางยอดนิยมและเป็นที่พักที่ตั้งราคาห้องได้สูงสุดของจังหวัดระนองในปัจจุบัน “ผมเชื่อว่าแม้จะมีทรัพยากรจำกัด แต่ถ้าใช้ความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพในการสื่อสารโครงการ ก็จะช่วยสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว … เศรษฐกิจสร้างสรรค์สามารถขับเคลื่อนธุรกิจขนาดเล็กให้เติบโตได้” เขากล่าว
สร้างงาน เสริมภูมิคุ้มกัน แบ่งปันความสุข
จากพนักงานหนึ่งคนที่อยู่ละแวกใกล้เคียงในปีแรก ปัจจุบัน “บ้านไร่ไออรุณ” จ้างคนในท้องถิ่นเกือบ 60 คน “ทีมงานทุกคนเหมือนคนในครอบครัว นักท่องเที่ยวจะรู้ว่ารายได้ของบ้านไร่ไออรุณกระจายไปสู่ชาวบ้านในพื้นที่จริงๆ บรรยากาศที่เป็นมิตรและการร่วมไม้ร่วมมือกันในบ้านไร่ เป็นความสุขที่ลูกค้าสัมผัสได้” วิโรจน์ พูดถึงการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน “สำหรับผม เงินไม่ใช่ของที่จำเป็นที่สุด แต่เราต้องรู้จักมองสิ่งของที่มีอยู่มากมายรอบ ๆ ตัว เอามาพลิกแพลงใช้เป็นทุนและเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจอย่างเหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์”
ในช่วงปี 2564 ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ยอดจองบ้านไร่ไออรุณลดลงเหลือเป็นศูนย์ วิโรจน์และทีมงานปรับกลยุทธ์ธุรกิจ โดยลดราคาห้องพักเหลือครึ่งราคา เปลี่ยนรถมินิบัสของบ้านไร่ให้เป็นรถพุ่มพวงหรือร้านขายของชำเคลื่อนที่ ขายผักและผลไม้ปลอดสารพิษ รวมถึงตะกร้าหวาย ตะกร้าไม้ไผ่ และของตกแต่งบ้านที่พนักงานทำขึ้น เพื่อหารายได้เสริมและช่วยเหลือทีมงานให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปด้วยกัน
ขับเคลื่อน BCG ด้วยความคิดสร้างสรรค์ อย่างพอดี พอเพียง
• การท่องเที่ยวในท้องถิ่นที่เน้นความโดดเด่นของวิถีชีวิตและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
• เศรษฐกิจหมุนเวียน: ใช้ไม้ไผ่เหลือใช้จากชาวบ้าน ใช้เศษอาหารและมูลไก่เป็นปุ๋ย
• เศรษฐกิจสีเขียว: เพาะปลูกผักปลอดสารพิษไว้บริโภคเองและบริการลูกค้าในฟาร์มสเตย์
SDG8 #SDG10 #SDG15 #SuDSESC #NIDA #NIDAThailand
ท่านใดสนใจรายละเอียด สามารถอ่านเพิ่มเติมจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ “Thailand’s BCG Transformation: 40 Case Studies on the Bio-Circular-Green Strategy and the Sufficiency Economy Philosophy In Action” หน้า 202-205 ข้างล่างได้เลยค่ะ



