นวัตกรรมที่เต็มเปี่ยมด้วยจิตสำนึก เพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม (Conscious Innovation for a Better World)

นวัตกรรมที่เต็มเปี่ยมด้วยจิตสำนึก เพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม (Conscious Innovation for a Better World)

โดย ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
นักศึกษาเก่าคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

            หัวใจสำคัญของการรังสรรค์นวัตกรรมอยู่ที่ประสบการณ์ของการเดินทาง (journey) ไม่ใช่แค่จุดหมายปลายทาง(destination) ตลอดเส้นทางจะเต็มไปด้วยความท้าทายที่ต้องฟันฝ่า เรียนรู้ ล้มแล้วต้องรู้จักลุก เก่งขึ้นแกร่งขึ้น แต่หัวใจจะพองโต เมื่อบรรลุจุดหมาย

            บางคนบอกว่า นวัตกรรมที่สุดยอด จะต้องเป็นต้นแบบ (original) อย่างไรก็ดี Adam Grant นักเขียนและอาจารย์ที่ Wharton เคยกล่าวไว้ว่า การเป็นต้นแบบนั้น คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนริเริ่มคนแรก เพียงแต่คุณต้องสร้าง “ความแตกต่าง” และ “ทำให้ดีกว่า” จากสิ่งที่มีอยู่เดิม

            ในความคิดเห็นของผม การสร้างความแตกต่างไม่ใช่แค่ทำให้ “เร็วขึ้น”“ดีขึ้น”หรือ “ถูกลง” แต่ต้องมากกว่านั้น นวัตกรรมจากนี้ไปต้อง

->ไม่เพียงแค่การทำให้ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันดีขึ้น แต่ต้องยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

->ไม่ใช่แค่ทำให้ชุมชนดีขึ้น แต่ต้องทำให้โลกของเราดีขึ้น

->ไม่ใช่สร้างอนาคตที่สดใสให้กับแค่กับคนรุ่นเรา แต่ต้องครอบคลุมถึงคนรุ่นต่อๆไปด้วย

            นวัตกรรมชุดใหม่ จึงเป็น “นวัตกรรมที่เต็มเปี่ยมด้วยจิตสำนึก” หรือ “Conscious Innovation” ที่ครอบคลุมถึงการรังสรรค์ green innovation, regenerative & circular innovation, collaborative innovation, distributive & inclusive innovation ตลอดจน frugal innovation

            ต้นน้ำของการรังสรรค์นวัตกรรมที่เต็มเปี่ยมด้วยจิตสำนึก จะเริ่มจาก “ความเข้าใจในพลวัตโลก”และ “ความเข้าใจในผู้บริโภค” เพื่อนำพาไปสู่ “การเปลี่ยนเปลี่ยนผู้บริโภค” ควบคู่ไปกับ “การปรับเปลี่ยนโลก

            การนำเสนอนวัตกรรมที่เต็มเปี่ยมด้วยจิตสำนึก จึงไม่ใช่แค่ ”การตอบโจทย์” ผู้บริโภค (demand-driven) แต่หมายถึง “การปรับโจทย์” ผู้บริโภค (demand-driving)ด้วยเป็นสำคัญ

            ความท้าทายที่รอพวกเราอยู่คือ การรังสรรค์นวัตกรรมที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนจาก “Competitive Mode of Production & Consumption” ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปสู่ “Responsible Mode of Production & Consumption” มิเช่นนั้น Conscious Innovation จะไม่มีวันเกิดขึ้น

            โลกของการรังสรรค์นวัตกรรมจากนี้ไป จึงไม่ใช่ยุคของการยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง (Customer-centric Age) แต่เป็นยุคของการยึดโลกพิภพ (Earth-centric Age) และมวลมนุษยชาติ (Human-centric Age) เป็นศูนย์กลาง

            พูดง่ายๆ การรังสรรค์นวัตกรรมจากนี้ไป จะ ทั้ง “ตอบโจทย์” และ “ปรับโจทย์” โลกพิภพและมวลมนุษยชาติไปพร้อมๆกัน

            นวัตกรรมที่เต็มเปี่ยมด้วยจิตสำนึก ไม่จำเป็นจะต้องเกิดจาก Big Ideas แต่เกิดขึ้นจาก “ความคิดดีๆที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณค่า” หรือ “Good Ideas with Value

            การรังสรรค์นวัตกรรมที่มีจิตสำนึกจึงเป็นสเปกตรัมที่มีหลายเฉด ระหว่าง “Incremental innovation” กับ “Transformative innovation”

            สิ่งที่ผมอยากเน้นกับพวกเรา ก็คือ Transformative innovation ไม่ได้มีศักดิ์ศรีเหนือกว่า Incremental innovation แต่อย่างไรเลย ต่างคนต่างมีบทบาท พูดง่ายๆ Incremental innovation จะมุ่งไปสู่การ “ตอบโจทย์” ในขณะที่ Transformative innovation จะมุ่งไปสู่การ “ปรับโจทย์” เป็นสำคัญ

            สำหรับผม “Thailand Synergy เพื่อ SMEs ไทย” เป็น “Innovation Enabling Platform” ที่ทำให้พวกเราสามารถแปลง “ความคิดดีๆที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณค่า” สู่ “มูลค่าในเชิงพาณิชย์”

            ต้องขอขอบคุณพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ทั้ง 11 องค์กร ที่ร่วมกันขับเคลื่อน “Thailand Synergy เพื่อ SMEs ไทย” ในห้วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ “Thailand Synergy เพื่อ SMEs ไทย” เป็น Innovation Enabling Platform ที่ช่วยปิดช่องว่าง (close the gap) สร้างข้อต่อที่ขาดหาย (create missing link) และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย (connect the dots ) นำพา SMEs ไทย สู่การสร้างทั้ง “คุณค่า”และ “มูลค่า”ต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างประมาณค่ามิได้

            ผมหวังว่า การก้าวสู่ทศวรรษที่ 2 ของ Thailand Synergy จะเป็นการพลิกโฉม SMEs ไป IDEs (วิสาหกิจที่ขับเคลี่อนบนฐานนวัตกรรม หรือ Innovation driven Enterprises) เป็น IDEs ที่รังสรรค์ Conscious Innovations เพื่อตอบโจทย์ Cohabitation (การร่วมชายคา) Cocreation (การร่วมรังสรรค์) และ Coevolution (การร่วมวิวัฒน์) เป้าหมายคือการฟื้นฟูโลกให้กลับมาเป็นโลกที่น่าอยู่และเป็นปกติสุขอย่างแท้จริง

หมายเหตุ: เป็น speech ที่ผมเตรียมขึ้นสำหรับงาน “Thailand Synergy เพื่อ SMEs ไทย” และ “7 Innovation Award ประจำปี 2023”